รอยเตอร์/เอพี - กองทัพพม่า เผยว่า ได้เข้าช่วยเหลือผู้ที่ถูกกลุ่มก่อความไม่สงบจับตัวไว้ได้ 14 คน หลังกบฏกองทัพอาระกัน (AA) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการโจมตีของกองทัพบนเรือที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารโดยสารถูกจับตัวไว้
เหตุปะทะนองเลือดที่เกิดขึ้นนี้เป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่ก่อความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดในรัฐทางตะวันตกของประเทศ นับตั้งแต่ที่การต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อต้นปีระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มกบฏที่เรียกร้องการปกครองตนเองให้แก่ชาวยะไข่
กระทรวงข้อมูลข่าวสารออกคำแถลงก่อนหน้านี้ว่า สมาชิกของกองทัพอาระกันราว 30 คน ได้ลักพาตัวคนไปทั้งหมด 58 คน จากเรือที่มีผู้โดยสารพลเรือน 165 คน และเจ้าหน้าที่รัฐราว 50 คน ซึ่งกำลังเดินทางจากเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ไปยังเมืองบุติด่อง ที่อยู่ทางเหนือ
คำแถลงที่ออกในคืนวันอาทิตย์บนเว็บไซต์ของผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าระบุว่า กองทัพได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ลงพื้นที่เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัว และจากปฏิบัติการ เฮลิคอปเตอร์ได้รับความเสียหายบางส่วนจากกระสุน และลูกเรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ขณะที่ผู้ถูกลักพาตัวอย่างน้อย 14 คน ได้รับการช่วยเหลือ
“ผู้ที่ถูกกองทัพอาระกันลักพาตัวไปทั้งหมด เวลานี้ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 14 ราย และกองทัพยังคงดำเนินการปฏิบัติการทางอากาศและทางบกร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยังถูกจับตัวไว้โดยเร็วที่สุด” กองทัพ ระบุ
ด้านกองทัพอาระกันที่โพสต์คำแถลงลงบนเว็บไซต์ของกลุ่มในวันอาทิตย์ระบุว่า เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ ได้เข้าโจมตีเรือ 3 ลำที่มีผู้ถูกจับกุมตัวจากเมื่อวันเสาร์ (26) โดยสารอยู่ เรือจมลง 2 ลำ และระบุว่ามีผู้ที่ถูกจับกุมตัวและสมาชิกของกลุ่มบางส่วนเสียชีวิต
“มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเพราะไม่มีที่ให้หลบกระสุน” กองทัพอาระกันระบุในคำแถลง
สมาชิกสภาท้องถิ่นระบุว่า การสู้รบในเมืองระตีด่องมีความรุนแรงมาก และประชาชนจำนวนมากต้องอพยพไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงหลังเครื่องบินรบบินอยู่เหนือพื้นที่
ราษฎรชาวพม่าหลายหมื่นชีวิตต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นทั่วรัฐยะไข่นับตั้งแต่การปะทะเริ่มขึ้นในเดือน ธ.ค. ก่อให้เกิดความโกลาหลรอบใหม่ในภูมิภาคจากที่ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ต้องอพยพหลบหนีการปราบปรามของทหารในปี 2560
สถานการณ์โรฮิงญาไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสู้รบของกองทัพอาระกันที่เรียกร้องการปกครองตนเอง โดยกลุ่มกบฏใช้ความรู้สึกไม่พอใจทางประวัติศาสตร์ที่ฝังลึกในผู้คนบางส่วนที่มีต่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พม่าซึ่งครอบครองรัฐบาลกลาง และความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไม่ได้นำประโยชน์มาสู่พวกเขามากนัก.