xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯยูเอ็นวอนนานาชาติโหมกดดันพม่าโรฮิงญากลับประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเรียกร้องนานาชาติให้กดดันพม่ามากขึ้น เพื่อสร้างสภาพเงื่อนไขที่ปลอดภัยต่อการเดินทางกลับประเทศของชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนที่อพยพหลบหนีออกจากประเทศไปตั้งแต่ทหารดำเนินการปราบปรามในเดือน ส.ค. ปีที่ผ่านมา

สหประชาชาติ และพม่าได้ทำข้อตกลงกันในเดือน พ.ค. ที่สหประชาชาติหวังว่า จะช่วยให้ชาวโรฮิงญาหลายพันคนสามารถเดินทางกลับประเทศได้อย่างปลอดภัย และโดยสมัครใจ

“บันทึกความเข้าใจฉบับนี้เป็นขั้นตอนแรกบนเส้นทางของความก้าวหน้าในการยอมรับสิทธิของประชาชน นี่เป็นการยินยอมที่หาได้จากพม่าในช่วงเวลานี้” กูเตอร์เรส กล่าวที่ค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ

การเยือนของกูเตอร์เรส เกิดขึ้น 10 เดือนหลังการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาในพม่า จนนำมาซึ่งการตอบโต้ของทหารที่เป็นผลให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศหลายแสนคน ที่สหประชาชาติ ระบุว่า การปราบปรามที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ข้อกล่าวหาที่พม่าปฏิเสธ

บันทึกความเข้าใจที่เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวถึงนั้น ไม่มีการรับรองอย่างชัดเจนถึงสิทธิในความเป็นพลเมือง หรือเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ที่เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยที่พม่าไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของประเทศ

ด้านนอกเพิงพักที่กูเตอร์เรส และประธานธนาคารโลก จิม ยอง คิม กล่าวกับสื่อนั้น กลุ่มผู้ลี้ภัยรวมตัวยืนถือป้ายที่มีข้อความเรียกร้องว่า “รวมโรฮิงญาลงในข้อตกลงที่เกี่ยวกับโรฮิงญา” และ “การส่งผู้ลี้ภัยกลับอย่างมีเกียรติต้องรวมถึงสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างเต็มรูปแบบในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา”

แกนนำโรฮิงญาบางคน กล่าวว่า พวกเขาจะไม่ยอมรับข้อตกลงที่อยู่ในรูปแบบปัจจุบันนี้

กูเตอร์เรส กล่าวว่า ข้อตกลงเป็นความพยายามของสหประชาชาติที่พยายามบังคับให้รัฐบาลพม่าปูทางไปสู่การเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยในอนาคต

“นี่ไม่ใช้ข้อตกลงสุดท้ายของการเดินทางกลับ เราทราบว่า พม่าอาจจะไม่ยอมรับทุกอย่างในเวลาเดียว” กูเตอร์เรส กล่าว

เลขาธิการสหประชาชาติ และประธานธนาคารโลกยังเน้นย้ำว่า ขณะที่การเดินทางกลับอย่างปลอดภัย และสมัครใจของโรฮิงญาเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก แต่สิ่งจำเป็นเร่งด่วนคือ การสนับสนุนบังกลาเทศในการรับมือต่อภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม

การเยือนของพวกเขาเกิดขึ้นหลังธนาคารโลกประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จะมอบความช่วยเหลือให้แก่บังกลาเทศ 480 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยผู้ลี้ภัย

จิม ยอง คิม กล่าวว่า ธนาคารโลกจะหาหนทางที่จะนำทรัพยากรการพัฒนามาให้บังกลาเทศ เนื่องจากความช่วยเหลือที่บังกลาเทศได้ทำไว้ให้กับโลกในการทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านให้แก่ชาวโรฮิงญาได้พักอาศัย.



กำลังโหลดความคิดเห็น