MGR ออนไลน์ -- นักวิชาการและนักวิจัยชั้นแนวหน้าในกัมพูชาผู้หนึ่งเปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อนบ้าน มีแผนการที่จะนำกรณีพิพาทพรมแดน จ.สตึงแตร็ง กับแขวงอัตตะปือ ขึ้นสู่การพิจารณาชี้ขาดโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก -- ถ้าหากเป็นจริงก็แสดงให้เห็นว่า สองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ในความพยายามแก้ปัญหาที่เคยนำไปสู่ความตึงเครียดทางทหารเมื่อปีที่แล้ว หลังจากนายกรัฐมนตรีกัมพชาฮุนเซน สั่งกองทัพเคลื่อนกำลังพลหลายพันคน ไปยังบริเวณที่มีความขัดแย้ง โดยกล่าวหาว่าลาวละเมิดอธิปไตยของกัมพูชา
ศาสตราจารย์โสก โต๊ด (Sok Touch) ประธานสถาบันวิชาการและมหาวิทยาลัยแห่งชาติกัมพูชา (National Academy and University of Cambodia) ที่มี นรม.กัมพูชาร่วมเป็นกรรมการคนหนึ่งด้วย กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้ฝ่ายลาวโดยสถาบันวิทยาศาสตร์สังคมลาว (Laos Academy of Social Science) ได้หยิบยกกรณีบ้านโออะไล (O Alay) กับบ้านตานกาว (Tankav) ขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง โดยกล่าวหาว่าฝ่ายกัมพูชาได้ล่วงล้ำเข้าไปในบริเวณดังกล่าว
เว็บไซต์ข่าวภาษาเขมรหลายแห่งรายงานเรื่องนี้ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาอ้างการเปิดเผยโดย ศ.โสก โต๊ด ผู้ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับกรณีพิพาทพรมแดนระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน โดยสถาบันวิชาการแห่งกัมพูชากล่าวว่า สปป.ลาวกำลังเตรียมการนำกรณีพิพาทนี้ ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดำเนินการในขณะนี้ก็ตาม
"พวกเขากล่าวหาเราว่า ได้ละเมิดความตกลงและพวกเขาตั้งใจจะฟ้องร้องกล่าวโทษพวกเราต่อองค์การสหประชาชาติ" ดังนั้น "ผมจะนั่งอ่านและพิจารณา เอกสาร (ความตกลง) อย่างจริงๆจังๆอีกสักครั้ง" ศ.โต๊ดกล่าว
"พวกเขายังไม่ได้ดำเนินการในขณะนี้ แต่จะเรียกเราไป (ที่ศาลระหว่างประเทศ)" และ สถาบันฯ จะจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนการเลือกตั้ง หลังจากการประชุมโต๊ะกลม ร่วมกับพรรคการเมืองต่างๆแล้วเสร็จ -- ซึ่งเป็นการประชุมที่รัฐบาลกัมพูชาให้จัดขึ้น
นักวิชาการระดับแนวหน้าผู้นี้ยังกล่าวอีกว่า ตนเองได้เตรียมเอกสารวิจัยสำคัญเอาไว้จำนวนหนึ่ง พร้อมกับแผนที่รวม 13 ฉบับ ที่จะตอบโต้ฝ่ายลาว
.
กัมพูชาแถลงในเดือน ส.ค.2560 กล่าวหาว่า ยังมีทหารลาวจำนวน 30 คน ไม่ยอมถอนออกไปจากดินแดนของกัมพูชา ที่ชายแดนด้านนั้น และ นรม.กัมพูชาได้ยื่นคำขาดให้ลาวต้องถอนออกไปภายใน 6 วัน -- สื่อของกัมพูชารายงานว่า คำขาดของผู้นำ ทำให้กองทัพต้องส่งทหารนับพันๆนาย ไปยังบริเวณหมู่บ้านทั้งสองแห่ง ทั้งที่ไปจากกรุงพนมเปญ ไปจาก จ.พระวิหาร และ จ.สะตึงแตร็ง
แต่เพียงข้ามวันต่อมา นรม.กัมพูชาก็บินเข้านครเวียงจันทน์ พบหารือกับนายทองลุน สีสุลิด นรม.ลาว และ อีกวันต่อมาสองฝ่ายได้ตกลงถอนทหารออกจากบริเวณพิพาท และ ลาวถอนทหารของตนออกไปในวันที่ 13 ส.ค. สองผู้นำยังออกคำแถลงร่วมระบุว่า จะกระทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขกรณีพิพาทอย่างสันติ และ จะต้องแก้ไขให้ได้ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายจะต้องลงกินนอนในพื้นที่ ก็ต้องกระทำ
แต่ถ้าหาก สปป.ลาวเตรียมการดำเนินการต่อศาลระหว่างประเทศจริง ก็ย่อมหมายความว่าความพยายามแก้ปัญหาพิพาทพรมแดนสองฝ่ายล้มเหลว
อย่างไรก็ตามโฆษกคณะกรรมการชายแดนแห่งชาติกล่าวว่า ไม่เคยทราบเกี่ยวกับเรื่องที่ฝ่ายลาวจะฟ้องร้องต่อศาลในกรุงเฮก และ ที่ผ่านมาสองฝ่ายก็ได้ปักปันหลักเขตแดนสำเร็จไปแล้วในหลาย -- จนถึงปัจจุบันแล้วเสร็จรวมทั้งสิ้น 121 หลัก จากทั้งหมด 145 หลัก และ สถานการณ์ระหว่างสองฝ่าย ไม่มีอะไรผิดปรกติ ตลอดแนวชายแดนเงียบสงบ ตามเจตนารมของรัฐบาลสองประเทศ
สำหรับกรณีหมู่บ้านโอตานกาวนั้นน นายกรัฐมนตรีลาวและกัมพูชาได้ตกลง ร้องขอความร่วมมือไปยังฝรั่งเศส เพื่อช่วยทำสำเนาแผนที่้เขตแดนลาว-กัมพูชาอย่างละเอียด ซึ่งที่ผ่านมากัมพูชาได้จัดส่งไปให้ทางการลาวแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ ในขณะนี้.