เอเอฟพี - ชาวอเมริกันเชื้อสายกัมพูชา 43 คน ที่ถูกสหรัฐฯ เนรเทศ เดินทางถึงกรุงพนมเปญแล้ววานนี้ (5) นับเป็นผู้ถูกเนรเทศกลุ่มใหญ่ที่สุดภายใต้ข้อตกลงที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถขับไล่ผู้อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมายที่มีประวัติอาชญากรรมได้
นับตั้งแต่ปี 2545 มีชาวกัมพูชาในสหรัฐฯ ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาถูกยังคับให้เดินทางกลับกัมพูชามากกว่า 600 คน
หลายคนเป็นผู้ลี้ภัยสงครามที่ถูกเติบโตในสหรัฐฯ และตอนนี้เดินทางกลับกัมพูชาในฐานะคนแปลกหน้า ตัดขาดจากญาติมิตรในสหรัฐฯ และไม่สามารถพูดจาภาษาท้องถิ่นได้
กัมพูชากล่าวเมื่อปีก่อนว่ารัฐบาลต้องการที่จะทบทวนแก้ไขข้อตกลงใหม่ ข้อตกลงที่กัมพูชาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการลงโทษซ้ำสอง สำหรับผู้ถูกเนรเทศที่ถูกส่งตัวกลับหลังชดใช้โทษในเรือนจำของสหรัฐฯ แล้ว
กัมพูชาประท้วงการดำเนินการของข้อตกลงดังกล่าว ด้วยการชะลอการจัดเตรียมเอกสารของผู้เดินทางกลับอยู่นานหลายเดือน แต่ทางการกัมพูชากลับมาให้ความร่วมมืออีกครั้ง หลังสหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยมาตรการลงโทษทางวีซ่ากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศในเดือนก.ย.
คณะผู้ถูกเนรเทศเดินทางถึงสนามบินกรุงพนมเปญในเช้าวันพฤหัสฯ (5) และถูกนำตัวขึ้นรถตู้ตำรวจไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองรายหนึ่ง
หลังจากนั้น เกือบทั้งหมดของผู้ถูกเนรเทศจากสรัฐฯ ถูกส่งตัวไปยังองค์กรเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือจัดหาที่อยู่และอาชีพให้กับผู้ถูกเนรเทศเหล่านี้ ซึ่งถูกเรียกว่า “ขแมร์ริกัน”
ชาวขแมร์ริกันกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในรอบ 15 ปี โดยเดินทางมาจากสหรัฐฯ ในสภาพสวมกุญแจมือ ตามการเปิดเผยของ บิล เฮรอด ชาวอเมริกันที่ทำงานกับองค์กรช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสชาวเขมร (KVAO)
“มันเป็นประสบการณ์ที่ยากลำบากสำหรับคนกลุ่มนี้” เฮรอด กล่าว และตำหนินโยบายการส่งกลับประเทศที่ไม่เป็นธรรมและไม่ยุติธรรม
“คนเหล่านี้ไม่มีอะไรเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับกัมพูชา พ่อแม่ของพวกเขามาจากกัมพูชาก็จริงแต่พวกเขาเป็นคนอเมริกันในแง่สังคม พวกเขากินอาหารอเมริกัน ฟังเพลงอเมริกัน” เฮรอด กล่าว
ชาวขแมร์ริกันส่วนใหญ่เป็นทารกแรกเกิดและอยู่ในวัยแบเบาะเมื่อครอบครัวของพวกเขาหลบหนีเขมรแดง จนกระทั่งในปี 2539 หลายปีหลังพวกเขาเดินทางถึงสหรัฐฯ ในฐานะผู้ลี้ภัย สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายบังคับเนรเทศผู้ที่ถือกรีนการ์ดที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา.