รอยเตอร์ - พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหรัฐฯ ได้ถอดรางวัลสิทธิมนุษยชนที่มอบให้แก่ นางอองซานซูจี เมื่อ 6 ปีก่อน เพราะความล้มเหลวที่จะกล่าวประณามและหยุดยั้งทหารโจมตีชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาของประเทศ ตามการเปิดเผยของพิพิธภัณฑ์วานนี้ (7)
การถอดรางวัลอีลี วีเซล อวอร์ด ของพิพิธภัณฑ์สหรัฐฯ ที่มอบให้แก่ นางอองซานซูจี ถือเป็นการถอดรางวัลอันทรงเกียรติครั้งล่าสุดที่เป็นผลจากการนิ่งเฉยของซูจี ต่อการละเมิดอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา
ซูจี และพรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับผู้สืบสวนสหประชาชาติ ปล่อยให้มีการโจมตีชาวโรฮิงญา และปฏิเสธนักข่าวเข้าถึงพื้นที่ที่มีการกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิ ส่วนหนึ่งของเนื้อความในจดหมายที่พิพิธภัณฑ์ส่งถึงซูจี และถูกโพสต์ขึ้นเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์
“เป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่งที่เราต้องถอดรางวัลดังกล่าว” จดหมายลงวันที่ 6 มี.ค. ระบุ
ด้านโฆษกสถานทูตพม่าไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้
สหประชาชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมหลักฐานการละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวางของทหารพม่าที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮิงญา ที่รวมทั้งการสังหาร การข่มขืน และการวางเพลิง การโจมตีที่เกิดขึ้นนำไปสู่การอพยพของชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ข้ามฝั่งไปยังบังกลาเทศ
พม่าปฏิเสธข้อหาการละเมิดสิทธิ และกล่าวว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของประเทศกำลังต่อสู้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อต้านผู้ก่อการร้ายที่ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีด่านตำรวจ
ชะตากรรมของชาวโรฮิงญาสร้างความไม่พอใจไปทั่วโลก และเรียกร้องการปลดรางวัลโนเบลของซูจีที่ได้รับจากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เนื่องจากซูจีไม่กล่าวประณามการกระทำของทหารพม่า
ซูจี มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า การถอดถอนรางวัลที่ซูจีได้รับยังรวมถึงรางวัลเสรีภาพแห่งเมืองออกซ์ฟอร์ด และกรุงดับลิน และเมื่อเดือนก่อน เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ 3 คน ยังเรียกร้องให้ซูจี และทหารยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา มิเช่นนั้นจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี.