(เอเอฟพี/รอยเตอร์) -- ประธานาธิบดีพม่า นายถิ่นจอ (Htin Kyaw) ซึ่งเป็นพลเรือน ได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีผลในทันที "ทั้งนี้เพื่อหยุดพักจากหน้าที่ กับความรับผิดชอบต่างๆ" สำนักงานของประธานาธิบดี ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กวันพุธนี้
นายจอซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ ในทางพิธีการเป็นส่วนใหญ่ เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของผู้นำที่แท้จริงคือ นางอองซานซูจี และ ถูกเลือกโดยเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เพื่อให้เป็นประธานาธิบดี เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ที่จัดร่างโดยคณะปกครองทหารนั้น ได้กีดกันนางซูจีไม่ให้รับตำแหน่งในระดับสูงใดๆ
เคยมีการตั้งข้อสังเกตุโดยสื่อในประเทศเมื่อหลายเดือนก่อนว่า นายจอมีสุขภาพไม่ดี แต่ถูกปฏิเสธโดยเจ้าหน้าที่พม่า
สำนักงานของประธานาธิบดีกล่าวว่า "ตามรัฐธรรมนูญพม่ามาตรา 73 (b) จะมีการดำเนินการต่างๆ ภายในเวลา 7 วัน เพื่อสรรหา (บุคคล) มาบรรจุแทน ตำแหน่งที่ว่างลง"
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายชื่อใดๆ ผุดขึ้นใน เพื่อที่จะเป็นผู้นำในระยะยาวต่อไป นอกเสียจากรองประธานาธิบดีมี้นสเว (Myint Swe) ซึ่งเป็นอดีตนายทหารผู้หนึ่งของกองทัพ จะต้องเข้ารักษาการแทน ตามรัฐธรรมนูญ จนกว่ากระบวนการสรรหาจะแล้วเสร็จ
ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี การลาออกของ ปธน.พม่า เกิดขึ้นแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แต่มีขึ้นในขณะที่นางซูจีถูกกดดันอย่างหนัก จากประชาคมระหว่างประเทศ โดยถูกกล่าวหาว่า ปล่อยให้ฝ่ายทหารกระทำทารุณต่อชาวมุสลิมโรฮีงญา
นายจอเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกันกับนางซูจี และ ได้เข้าเป็นตัวแทนของนางซูจีในการบริหารประเทศ แต่ได้ทำหน้าที่ในการเป็นประมุขแห่งรัฐ -- ปัจจุบันอายุ 72 ปี หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับสุขภาพของผู้นำ หลังจากได้เห็นนายจอ เริ่มมีน้ำหนักลดลงมาก เมื่อไม่นานมานี้ และ ยังเคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจอีกด้วย
สำนักงานของประธานาธิบดีแจ้งในเฟซบุ๊กแต่เพียงว่า "ประธานาธิบดีพม่า นายถิ่นจอ ได้ลาออกในวันที่ 21 มี.ค.2561" โดยไม่ได้ให้เหตุผลหรือมีการชี้แจงใดๆ เจ้าหน้าที่ตอบคำถามสื่อแต่เพียงว่า "ท่านอยากจะหยุดพัก จากหน้าที่ในปัจจุบัน"
ตามประวัติอย่างเป็นทางการ นายจอเข้าศึกษา ที่สถาบันวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน (ระหว่างปี 2514-2515) เคยรับราชการ ในหลายตำแหน่งหน้าที่ ทั้งเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและการวางแผน กระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ก่อนลาออก เมื่อฝ่ายทหารกระชับอำนาจการปกครอง
นายจอได้กลายเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรก นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 และ เป็นผู้ที่มีความภักดีต่อนางซูจีอย่างชัดเจน เคยให้สัมภาษณ์ หลังได้รับเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า ผู้นำหญิงจะเป็นผู้บริหารประเทศที่ อยู่ "เหนือ" ตนเองชึ้นไป
นายจอได้แสดงให้เห็นความเชื่อมั่น และ อยู่เคียงข้างนางซูจีตลอดมา แม้ในช่วงเวลาที่ชื่อเสียงของนาง ในวงการระหว่างประเทศจะเสื่อมลง เนื่องจากไม่ได้แสดงการคัดค้านใดๆ สำหรับการกระทำรุนแรงต่อประชาคมชาวมุสลิมโรฮีงญา ซึ่งได้ทำให้มีผู้หลบหนี การปราบปรามของฝ่ายทหาร ราว 700,000 คน ข้ามพรมแดนเข้าไปในบังกลาเทศ ถึงแม้องค์การสหประชาชาติจะระบุว่า เป็น "การกวาดล้างทางชาติพันธุ์" กระทั่งอาจจะเป็นการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ก็ตาม
แต่ฝ่ายทหารได้อ้างความชอบธรรมในการปราบปราม โดยระบุว่าเป็นการตอบโต้ กองกำลังติดอาวุธโรฮีงญา (ซึ่งพม่าเรียกว่า "ชาวเบงกาลี") ที่ออกปฏิบัติการลอบโจมตี ที่ตั้งตำรวจมาหลายครั้ง ตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว
ปัจจุบันกองทัพพม่า ควบคุม 3 กระทรวงความมั่นคงหลักซึ่งได้แก่ กลาโหม กระทรวงภายใน และ กระทรวงกิจการชายแดน ตามรัฐธรรมนูญ.