xs
xsm
sm
md
lg

สัมพันธ์ไทย-รัสเซียฉลุย ทัพบกซื้อ "อาก้า" ล็อตใหญ่ครั้งแรก สำหรับ 2 กองพล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>อาก้า ของคาลาชนิคอฟ ผ่านการพัฒนามานานนับร้อยปี ผ่านสงครามมาอย่างโชกโชน รุ่นใหม่ดีไซน์เดิม แต่มีความทันสมัยยิ่งขึ้น หลายรุ่นทำรางติดตั้งอุปกรณ์ต่อพ่วงได้ สำหรับหน่วยรบพิเศษกองทัพบกไทย เป็นลูกค้าปืนยุคใหม่ AK-102 ลำกล้องสั้น  แต่การจัดซื้อล๊อตใหญ่ ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็น AK-101 ไรเฟิลมาตรฐานฟูลไซ้ส์สำหรับทหารราบ. </a>

MGRออนไลน์ --สัปดาห์นี้ไทยกับรัสเซียได้เซ็นความตกลง ซื้อขายไรเฟิลเป็นจำนวนมาก เป็นการจัดหาล็อตใหญ่เป็นครั้งแรก สำหรับปืนเล็กยาวประจำกายกำลังพลแบบกึ่งอัตโนมัติ ที่ผลิตโดยคาลาชนิคอฟ เป็นซีรีส์ AK-100 โดยมีกำหนดส่งมอบล็อตแรกปี 2561 นี้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ กับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ที่พัฒนายกระดับขึ้นสู่จุดสูงต่ออย่างเนื่อง เพียงไม่กี่ปีมานี้

การเซ็นความตกลงดังกล่าว มีขึ้นระหว่างงานสิงคโปร์แอร์โชว์ 2018 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีด้านอากาศยาน ใหญ่ที่สุดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สิ้นสุดลงในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นับเป็นพัฒนาการใหม่ล่าสุด ในการเพิ่มทวีความสัมพันธ์กับความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างสองชาติ ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันมานานกว่า 100 ปี แต่ฝ่ายหนึ่งมีความใกล้ชิดกับสหรัฐ ในระดับ "พันธมิตรทางยุทธศาสตร์นอกกลุ่มนาโต้" โดยมีสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีระหว่างกัน มายาวนาน 200 ปี -- ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ตรงข้ามกับสหรัฐ ทั้งการเมืองและการทหารในระดับโลก

"ปีนี้ราชอาณาจักรไทย จะได้รับปืนไรเฟิลจู่โจมคาลาชนิคอฟ ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับหนึ่งหรือสองกองพล" สำนักข่าวทางการ รายงานอ้างนายมิคาอิล เปตูคอฟ (Mikhail Petukhov) รองผู้อำนวยการสำนักงานบริการความร่วมมือทางเทคนิคด้านกลาโหมแห่งสหพันธ์รัสเซีย (Federal Service for Military-Technical Cooperation) ซึ่งนำคณะไปร่วมงานในประเทศสิงคโปร์

FSMTC เป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ รวมรวมข้อมูลและจัดทำเอกสาร นำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อตัดสินใจนโยบายเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์กับ มิตรประเทศทั่วโลก

เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัสเซีย ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับรุ่น หรือ ซีรีส์ของอาวุธประจำกายกำลังพล ที่ฝ่ายไทยจัดหา แต่สำนักข่าวทาสส์อ้างการเปิดเผยจากแหล่งข่าว ที่อยู่วงการความร่วมมือด้านกลาโหม ที่ระบุว่าไรเฟิลล็อตใหม่ของไทยเป็นซีรีส์ AK-100 ที่กองทัพบกไทยเป็นลูกค้าเก่าอยู่แล้ว
.

.
การจัดหา AK-102 ที่ผ่านมา มีจำนวนไม่มาก เป็นไรเฟิลกระบอกสั้นกว่า สำหรับหน่วยรบพิเศษ จึงทำให้น่าเชื่อว่า การจัดหาล็อตใหญ่ครั้งนี้ น่าจะเป็น AK-101 ซึ่งเป็นไรเฟิลฟูลไซ้ส์ สำหรับกำลังพลทหารราบ

นี่คือไรเฟิลจู่โจมมาตรฐาน ตระกูลหนึ่งที่ขึ้นชื่อลือชามากที่สุดในโลก เนื่องจากได้ผ่านการพิสูจน์ในศึกสงครามมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามเวียดนาม กับ "สงครามก่อการร้าย" ของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ ที่ทำให้ย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รู้จัก "อาก้า" AK-47 เป็นอย่างดี

ตามรายงานของสำนักข่าวภาษารัสเซียก่อนหน้านี้ กองทัพบกไทยมี AK-102 อยู่ในระบบอาวุธปืนจำนวนหนึ่ง โดยจัดหาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เพื่อใช้ในหน่วยรบพิเศษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเซ็นสัญญาในสัปดาห์นี้ เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายไทยจัดหา ไรเฟิลที่ผลิตโดยคาลาชนิคอฟ เป็นจำนวนมากๆ

ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอื่นใดอีก เกี่ยว AK ซีรีส์ 100 ล็อตล่าสุด แต่ข้อมูลของฝ่ายรัสเซียระบุว่า AK-102 ของกองทัพบกไทย เป็นรุ่นที่ใช้กระสุน 5.56×45mm ซึ่งเป็นขนาดกระสุนมาตรฐาน ของกลุ่มนาโต้และสหรัฐ -- ทั้งนี้คาลาชนิคอฟ ผลิต AK-101 กับ AK-102 ออกมา สำหรับใช้กระสุนขนาดเดียวเท่านั้น ซึ่งไทยมีในสตอกเป็นจำนวนมาก

นี่คือกระสุนที่ใช้กับไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ อาวุธมาตรฐานประจำกาย สำหรับกำลังพลของกองทัพบกไทย ที่จัดหาจากค่ายตะวันตกทุกรุ่น ตั้งแต่ M16A1/A2 จนถึง A4 และ M4A1 "คาร์บิน" -- ทาวอร์ ทีเออาร์ 21 (IWI Tavor TAR21) กาลิล "เอซ" (IWI Galil ACE) และ เอ็กซ์-95 (IWI X-95) ที่อยู่ระหว่างจัดหาจากอิสราเอล -- รวมทั้ง HK33 ที่ผลิตเอง ภายใต้สิทธิบัตรจากเฮคเลอร์แอนด์ค็อก (Heckler & Koch) เยอรมนี

เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผย เกี่ยวกับการจัดหาไรเฟิลล็อตใหญ่ของไทย นับตั้งแต่ผู้บริหารโรโซโบโรเน็กซ์ปอร์ต (Rosoboronexport) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจกำกับดูแล การส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อของทางการ ในเดือน ก.ย.2560 ว่า ปีที่แล้วได้เซ็นสัญญาส่งออกไรเฟิลคาลาชนิคอฟ รุ่นต่างๆ รวมเป็นจำนวนกว่า 100,000 กระบอก
.

.
"ในบรรดาอาวุธขนาดเล็กที่ส่งออก (ในครึ่งแรกของปี 2560) ไรเฟิลคาลาชนิคอฟ เป็นที่ต้องการของลูกค้าต่างประเทศมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกค้าในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ยังไม่นับอีกนับหมื่นๆกระบอก ที่ผลิตนอกประเทศภายใต้สิทธิบัตร กับความร่วมมือช่วยเหลือจากรัสเซีย" ผู้บริหารคนเดียวกันกล่าว

ผู้บริหารโรโซโบโรเน็กซ์ปอร์ต ได้เปิดเผยตัวเลขในขณะเดียวกันว่า นับตั้งแต่ก่อตั้ง (พ.ย.2543) รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ส่งออกไรเฟิลคาลาชนิคอฟ รุ่นต่างๆ กว่า 1 ล้าน กระบอก ผลิตนอกรัสเซียอีกหลายแสนกระบอก -- ยังไม่นับรวมหลายล้านกระบอก ที่ส่งออกในยุคสหภาพโซเวียต

ข้อมูลของคาลาชนิคอฟทำให้ทราบว่า AK ซีรีส์ 100 เป็นดีไซน์เดียวกันกับ AK-74 ที่ผลิตออกมาในปี 1974 และ รุ่นต้นๆ ของซีรีส์ใหม่ คือ AK-101 เป็นไรเฟิลฟูลไซ้ส์ สำหรับส่งออกโดยเฉพาะ โดยใช้กระสุนของนาโต้ ในขณะที่ AK-102 (แบบที่กองทัพบกไทยใช้) มีลำกล้องสั้นลง สำหรับหน่วยรบ ที่กำลังพลต้องการความคล่องตัวสูง

ส่วน AK-103 เป็นไรเฟิลฟูลไซ้ส์ ใช้กระสุน 7.62x39 mm สำหรับกองทัพรัสเซีย กับบรรดาชาติพันธมิตร ค่ายโซเวียตเมื่อก่อน AK-104 เป็นรุ่นคอมแพ็กท์ลำกล้องสั้นกว่า และ AK-105 เป็นรุ่นที่มีขนาดเล็กที่สุด สำหรับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือ หน่วยปฏิบัติการลับ -- ใช้กระสุน 5.45х39 mm ของรัสเซีย

คาลาชนิคอฟ กล่าวอีกว่า กำลังจะมี AK ซีรีส์ 100 ตามออกมาอีกหลายรุ่น ในขณะที่ความต้องการจากลูกค้าทั่วโลก มีสูงขึ้น แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก

ถึงแม้ไรเฟิลคาลาชนิคอฟ จะถูกวิจารณ์ว่ามีระยะยิงหวังผลต่ำกว่า ความแม่นยำน้อยกว่าไรเฟิลระดับเดียวกันของค่ายตะวันตก แต่ AK ในยุคใหม่พัฒนาไปอีกมาก ใช้วัสดุคุณภาพดีขึ้น มีรางสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเล็ง/อุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ ได้หลายชนิด รวมทั้งแม่นยำมากขึ้น และ ยังคงได้รับการยอมรับทั่วไป ในเรื่องความสมบุกสมบัน ทนทานต่อทุกแรงกระแทกกระทั้น ใช้งานได้ในทุกสภาพภูมิประเทศ

แม้แต่ในช่วงสงครามเวียดนามก็ยังมีบันทึกว่า ในปีแรกๆ ของการสู้รบนั้น ทหารอเมริกันจำนวนหนึ่ง ยอมทิ้งไรเฟิล M16 ที่มีความเปราะบางกว่า และ ติดขัดอยู่บ่อยๆ -- ใช้ AK-47 ที่ยึดได้จากฝ่ายเวียดกงออกรบแทน -- เรื่องนี้กดดันให้บริษัทโคลท์ ต้องพัฒนาประสิทธิภาพ M16 รุ่นแรกอย่างเร่งด่วน.


กำลังโหลดความคิดเห็น