xs
xsm
sm
md
lg

จากสมรภูมิเวียดนาม ถึงสงครามเกาะกะโหลก : Kong

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ถ้าใครเคยได้ดู “คิงคอง” เวอร์ชั่นเก่าสุดๆ ต้นฉบับแรกสุด เมื่อปี ค.ศ.1933 คงจะจำได้ว่า หนังเรื่องดังกล่าวได้ทำให้ภาพลักษณ์ของลิงยักษ์มีความตื่นเต้นกับการได้ “เห็น” และได้ “เล่น” หยอกล้อกับหญิงสาวซึ่งแสดงโดย “แอนน์ ดาโรว์” เหมือนคนที่ได้ของเล่นใหม่ จนกระทั่งมีนิยามความหมายให้กับหนังคิงคองในทำนองว่าเป็นเสมือนเรื่องราวระหว่าง “โฉมงามกับเจ้าชายอสูร” ที่อสูรสนุกอยู่ฝ่ายเดียว เพราะฝ่ายหญิงมีแต่กรีดร้องด้วยความหวาดกลัว

ภาพลักษณ์ในทำนอง Beauty and the Beast ยังคงมีให้เห็นประปรายในหนังคิงคองหลายเวอร์ชั่น อย่างไรก็ตาม สำหรับเวอร์ชั่นปัจจุบัน ดูเหมือนจะได้ปลดแอกตัวเองจากแง่มุมแบบนั้นออกไปแล้วเรียบร้อย

คิงคองที่ใช้ชื่อสั้นๆ ว่า “คอง” (Kong) ซึ่งกำกับโดย “จอร์แดน วอกท์-โรเบิร์ตส์” นี้ นอกเหนือจากตัวละครลิงยักษ์และเกาะกะโหลกแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคิงคองเวอร์ชั่นเดิมๆ มันมีการเขียนเรื่องขึ้นมาใหม่ และเซ็ตติ้งแบ็กกราวน์ฉากหลังที่แตกต่างไปจากภาคก่อนๆ เนื้อเรื่องในหนังภาคนี้เกิดขึ้นในราวยุค 70 ที่คุกรุ่นด้วยสงครามเวียดนาม รวมทั้งสงครามเย็นที่ต่อเนื่องยาวนาน ณ ขณะนั้น การค้นหาดินแดนใหม่ๆ ยังเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับทีมสำรวจ อเมริกากับโซเวียตยังปีนเกลียวกันในแง่ที่ว่า ใครจะเหนือกว่าใครในการเป็นผู้นำความก้าวหน้า นีล อาร์มสตรอง ของอเมริกา ก็(ว่ากันว่า)ไปเหยียบดวงจันทร์ในยุคนี้ ขณะที่รัสเซียก็คิดค้นโครงการอวกาศเข้าเกทับบลัฟคืน

ในตัวเรื่องของ “คอง” ขณะที่สงครามเวียดนามดำเนินไป อเมริกาได้เกิดมีโครงการที่ชื่อว่า “แลนด์แซท” (Landsat) เป็นดาวเทียมสำรวจดินแดนใหม่ๆ ซึ่งได้ค้นพบว่า มีเกาะแห่งหนึ่งในแถบมหาสมุทรอินเดียที่ไม่มีใครเคยเข้าไปถึง เกาะแห่งนั้นชื่อว่า “เกาะกะโหลก” ซึ่งทางทีมสำรวจของอเมริกาบอกว่ายังไงก็ต้องเข้าไปให้ได้ เพราะถ้าไม่เข้าไปตอนนี้ เดี๋ยวพวกรัสเซียก็เอาไปรับประทานก่อน และใครบางคนในทีมงานนี้ก็แว่วๆ ข่าวมาเหมือนกันว่า รัสเซียกำลังจะส่งคนเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวเช่นกัน แต่สุดท้ายแล้ว เชื่อว่า ถ้ารัสเซียรู้ว่าสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าคืออะไร และต้องเจอกับอะไร ก็คงปล่อยให้อเมริกาพบกับชะตากรรมนั้นไปแล้วกัน เพราะเกาะกะโหลก ชื่อก็บอกเป็นนัยๆ อยู่แล้วว่า อาจจะไปเหลือแค่หัวกะโหลกอยู่ที่นั่นหรือเปล่า

เรื่องราวถัดจากนั้นก็เป็นที่พอคาดเดาได้ว่าพวกเขาจะต้องเจอกับลิงยักษ์อย่างคิงคอง และต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากเกาะกะโหลกแห่งนั้น ท่ามกลางศัตรูคู่ต่อสู้แห่งป่าดงดิบที่ยากจะต้านทาน

... สิ่งที่นอกเหนือไปจากความตื่นเต้นกับการได้เห็นคิงคองตัวเบิ้ม ซึ่งสูงใหญ่กว่าตัวเดิมๆ ที่เคยเห็นมานับสิบเท่า คือการหยิบเอาประเด็นทางสังคมการเมืองมาเล่าแบบได้อรรถรสและไม่รู้สึกว่าเป็นการฝืน เนื่องจากหนังเรื่องนี้เซ็ตตัวเองไว้ที่ยุค 70 ภาพสงครามเวียดนาม และความอีโก้อหังการ์ของอเมริกาที่มีวิสัยชอบเข้าไปจุ้นจ้านกับบ้านอื่นเมืองอื่น ดูสอดประสานกันได้ดีกับภารกิจที่ดำเนินไปในเรื่อง การเข้าไปในเกาะกะโหลก เอาเข้าจริง ก็แทบไม่ต่างอะไรกับการเข้าไปรบในเวียดนามที่อเมริกาหน้ามืดตามัว ไม่รู้ใครเป็นมิตรใครเป็นศัตรู สุดท้ายก็พ่ายแพ้ย่อยยับ แม้จะพยายามบอกกับตัวเองแบบปลอบประโลมใจว่าไม่ได้แพ้ “แค่ถอยทัพออกมา” ก็ตามที แต่ความสูญเสียอันยากจะเยียวยาก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

คนที่เป็นตัวแทนภาพพจน์ดังกล่าวของอเมริกาได้เป็นอย่างดี ก็คงหนีไม่พ้นบทบาทที่แสดงโดย “ซามูเอล แอล. แจ็กสัน” ทหารยศนายพันที่ลมหายใจผูกพันอยู่กับสงคราม แถมเชื่อมั่นเป็นหนักเป็นหนาในความเป็นชาติอเมริกาของตัวเอง เขาเป็นคนที่มีปัญหากับ “คิงคอง” มากกว่าใครเพื่อน ความเป็นอเมริกันที่มีอยู่ในตัวเขานั้น ข้นพอๆ กับเลือด ส่งผลให้ความเคียดแค้น คาบเส้นอยู่ใกล้ๆ กับความโง่เขลา

เอาเข้าจริง หนังลิงยักษ์ภาคนี้ ผมรู้สึกของผมเองว่า มีความผูกพันแน่นหนากับเนื้อหาที่ต้องการสำรวจความคิดของอเมริกันในยุค 70 ผมชอบคำพูดหนึ่งซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอื้อฉาวทางการเมือง การก่อความไม่สงบ สงครามแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาล ล้วนแต่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ในขณะเดียวกันยุค 70 ก็เป็นเหมือนยุคสุดท้ายที่วิทยาศาสตร์กับตำนานอยู่ร่วมกันได้ นับจากนั้นเราก็ค่อยๆ เดินหน้าทำลายสิ่งลึกลับที่เราไม่รู้จัก

ขณะเดียวกัน “คอง” ภาคนี้ ก็เหมือนกับส่วนเติมเต็มที่ให้เกียรติแก่สัตว์ป่าดงดิบอย่าง “คิงคอง” มากยิ่งขึ้น อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นครับว่า คิงคองในหนังเวอร์ชั่นแรกสุดนั้น ดูเหมือนจะถูกมองผ่านสายตาของคนจากโลกพัฒนาแล้ว สัตว์ยักษ์อย่างคิงคองก็เหมือนคนในโลกที่สามที่ยังมีความ “ไม่อารยะ” อยู่สูง แถมถ้าใครได้ดูเวอร์ชั่นปี 1933 ก็จะยิ่งเห็นว่า หนังทำให้คิงคองเหมือนพวกที่ตื่นเต้นหลงใหลไปกับแสงสีมากจนตัวเองเดือดร้อนในท้ายที่สุด ความตื่นเต้นของคิงคองจากการได้เห็นหญิงสาว (แอนน์ ดาโรว์) นั้น ถูกอุปมาอุปไมยว่าเหมือนคนป่าเมืองเถื่อนที่พลันได้พบกับแสงสี หรือ “ของเล่นชิ้นใหม่” จนไม่ระวังตัว รวมๆ แล้ว “คิงคอง” ก็เป็นเพียงสัตว์ที่ยังป่าเถื่อน ไร้อารยะ ทำอะไรไปตามสัญชาตญาณเพียงเท่านั้น

ตรงกันข้ามกับเวอร์ชั่นนี้ที่มีการปรับแปลงแต่งบทให้คิงคองดูพัฒนามากขึ้นในเชิงของหัวจิตหัวใจและความรู้สึก การแสดงกิริยาต่อดาราสาวในเรื่องอย่าง “บรี ลาร์สัน” ก็พอเหมาะพอดี มีความเป็นมนุษย์ที่อ่อนโยน ผมเชื่อว่า ถ้าได้ดูคิงคองภาคนี้ เราจะทั้งรักและสงสารตัวละครตัวนี้ แม้ว่าเขาจะมีเรี่ยวแรงพละกำลังมหาศาล แต่ด้วยสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ ก็เล่นเอาลิงยักษ์ยับเยินไปเหมือนกัน

ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายแล้ว สรุปว่า “คิงคอง” ภาคนี้ ตอบสนองความบันเทิงได้ตามสูตร คือมีทั้งความตลกแบบที่ถูกใจตลาดโลกภาพยนตร์ และมีความแอ็กชั่นการต่อสู้ที่ให้ลุ้นระทึก สรุปก็คือ มันเป็นหนังคิงคองที่ดูสนุกมากๆ อีกภาคหนึ่ง ซึ่งดูแล้วไม่ผิดหวัง











ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น