MGRออนไลน์ -- รัฐบาลลาวได้อนุมัติการยกระดับเมืองหลวงพระบาง ขึ้นเป็น "นคร" (City) อันเป็นรูปแบบการบริหารจัดการส่วนภูมิภาค คล้ายกับที่ใช้ปฏิบัติมาเป็นเวลา 20 ปีในเวียดนาม เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนา ประจำภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งให้เป็นแบบอย่าง ในการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ที่อยูในเขต หรือ อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน โดยจะต้องมีการพัฒนายกระดับระบบสาธารณูปโภค พัฒนาอาชีพของชาวเมือง กับคุณสมบัติอื่นๆ อีกหลายข้อ
นับเป็นครั้งแรก และ เป็นแห่งแรก ที่มีการจัดตั้งเขตบริหารใหม่ ที่มีอำนาจการปกครองตนเองมากกว่าระดับแขวง (จังหวัด) แผนการการยกระดับเมืองหลวงพระบาง ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีประจำเดือน ต.ค. ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นอกจาก "นครหลวงพระบาง" แล้ว รัฐบาลยังมีมติให้ทางการแขวงอีก 2 แขวง และเมืองอีก 2 เมือง ในภาคกลางกับภาคใต้ของประเทศ เร่งดำเนินการ เพื่อยกระดับขึ้นเป็นนคร เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวทางการ โดยมิได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับบทบาทใหม่ของเมือง ที่ถูกยกระดับขึ้นเป็นนคร
แต่สำนักข่าวของทางการระบุว่า เมืองที่จะได้รับการยกระดับขึ้นเป็นนคร ต้องประกอบด้วยมาตรฐาน 6-7 ข้อ -- ต้องมีพลเมือง 60,000 คน ความหนาแน่นของประชากร 25 คนต่อตารางกิโลเมตร เป็นอย่างน้อย ประชากรทำอาชีพการเกษตรไม่เกินร้อยละ 25 ถนนหนทางในเขตเทศบาลนคร ต้องราดยาง-คอนกรีต ไม่ต่ำกว่า 90% มีระบบน้ำประปา-สะอาด และ มีครอบครัวที่ใช้ไฟฟ้าครบ 100%
นอกจากนั้น นครยังจะต้องมีโครงการพัฒนาตนเอง โดยใช้งบประมาณของตนเอง บริหารงบประมาณรายรับรายจ่ายปรกติ ด้วยตนเองได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบันเมืองหลวงพระบาง มีคุณสมบัติเหล่านี้อย่างครบถ้วน
ตามรายงานของสื่อทางการ การยกระดับเมืองหลวงพระบางขึ้นเป็นนคร เป็นโครงการของทางการแขวง และนำเสนอต่อรัฐบาลโดยทางการแขวง โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่า เตรียมการเรื่องนี้ มาตั้งแต่เมื่อไร -- แต่เป็นหนึ่งในบรรดา 9 หัวข้อสำคัญ ที่นำเข้าสู่การประชุมพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี -- ขณะเดียวกัน ครม.ก็ได้ตกลงในหลักการ เกี่ยวกับการยกระดับเมืองไกสอน พมวิหาน ซึ่งเป็นเมืองเอกแขวงสะหวันนะเขต เป็นนครอีกแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับเมืองปากเซ เมืองเอกแขวงจำปาสัก ทางตอนใต้สุด
ครม.ได้ตกลงให้ทางการปกครองเมืองและแขวง รวมทั้งสภาประชาชนท้องถิ่น เร่งดำเนินการเรื่องนี้ นำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณาตามขั้นตอน และ ตามระเบียบกฎหมาย ก่อนจะได้รับการประกาศให้เป็นนคร
.
2
สื่อทางการไม่ได้ให้รายละเอียด เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างนครกับแขวง (จังหวัด) แต่รูปแบบของการจัดตั้งนคร คล้ายคลึงกับในเวียดนาม ที่ดำเนินมาเป็นเวลาสองทศวรรษ โดยปัจจุบันเวียดนาม จัดตั้งนครขึ้นมาทั้งหมด 5 นคร เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยขึ้นตรงต่อรัฐบาล และ เพื่อให้เป็นตัวอย่างการพัฒนา จังหวัดอื่นๆ ในเขตพื้นที่ หรือในภูมิภาคเดียวกัน
พรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลกลาง ให้อำนาจตัดสินใจในเชิงนโยบาย แก่เลขาธิการพรรคสาขานคร กับ ประธานคณะกรรมการประชาชนนครทั้ง 5 แห่ง มากกว่าและสูงกว่า การนำในอีก 58 จังหวัด ทั่วประเทศ
นครมีอำนาจการบริหารตนเองกว้างขวางกว่าระดับจังหวัด สามารถจัดการเงินงบประมาณรายจ่าย และ จัดเก็บรายได้ ทั้งในรูปภาษีบำรุงท้องถิ่น และอื่นๆ เข้างบประมาณของนครเอง โดยไม่ต้องส่งคลังกลางในเมืองหลวง รวมทั้งอำนาจตัดสินใจ อนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของนคร ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และ ระเบียบการต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุน
ในเวียดนามประกอบไปด้วยกรุงฮานอยเมืองหลวง ที่เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือ กับ นครโฮมินห์ เป็นเมืองศูนย์กลางของภาคใต้ นอกนั้นยังมี นครหายฝ่อง (Hải Phòng) เป็นศูนย์กลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครด่าหนัง (Đà Nẵng) ในภาคกลาง กับ นครเกิ่นเทอ (Cần Thơ) เป็นศูนย์กลาง เขตที่ราบปากแม่น้ำโขง
การแยกเมืองเอกของจังหวัด ออกไปเป็นเขตการปกครอง ที่มีอำนาจการบริการตนเองเป็นเอกเทศนั้น เป็นการแบ่งเขตปกครองใหม่ และ ในบางกรณีหมายถึง การแยกกับการยุบรวมพื้นที่ หรือ ทั้งสองอย่าง เพื่อรวมเข้าในเขตปกครองใหม่ เช่น นครด่าหนัง จัดตั้งขึ้นโดยแยก จ.กว๋างนาม-ด่าหนัง นำส่วนหนึ่งของจังหวัดเดิม ไปรวมเข้าเป็นอาณาเขตใหม่ ทางการเมืองการปกครอง -- ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2540 หรือ เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว -- ทำให้เกิดเป็นนครด่าหนัง กับ จ.กว๋างนาม (Quảng Nam) ในปัจจุบัน
.
3
การจัดตั้งนครเกิ่นเทอ ก็เช่นเดียวกัน -- จาก จ.เกิ่นเทอ เมื่อก่อน ได้กลายเป็น 2 เขตการปกครองที่แตกต่างกัน คือ ส่วนหนึ่งกลายเป็น จ.เหิ่วซยาง ( Hậu Giang) ในปัจจุบัน อีกส่วนหนึ่งกลายเป็นนครเกิ่นเทอ นครใหม่ที่เติบโตเร็วมาก จนกระทั่งหลายคนเรียกเป็น "เมืองหลวงตะวันตก" หรือ เตยโด (Tây Đô) ในภาษาเวียดนาม แต่สภาพอันแท้จริงคือ การเป็นนครใหญ่ที่สุด ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง
ใน สปป.ลาวปัจจุบัน มีนคร (หลวง) เวียงจันทน์ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านต่างๆ การยกระดับเมืองหลวงพระบางขึ้นเป็นนคร อาจหมายถึงการก่อตั้งเขตปกครองใหม่ เพื่อให้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาแขวงภาคเหนืออื่นๆ คือ ไซยะบูลี เวียงจันทน์ เชียงขวาง หัวพัน อุดมไซ ผ่งสาลี บ่อแก้ว กับหลวงน้ำทา -- เช่นเดียวกับ "นครไกสอน พมวิหาน" กับ "นครปากเซ" ในอนาคต ที่จะเป็นศูนย์กลาง และ เป็นแบบอย่างในการพัฒนาแขวง ทางภาคกลางตอนล่าง กับภาคใต้ ตามลำดับ
เมืองหลวงพระบาง ได้รับฐานะเป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี 2538 ด้วยสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก ที่สร้างขึ้นในยุคเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส และ ถูกอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นแหล่งโบราณคดี กับแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศ มีประวัติการการก่อตั้งมานานนับพันปี เป็นเมืองหลวง หรือ เมืองศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรล้านช้างมายาวนานกว่า 200 ปี ปัจจุบันยังมีแหล่งโบราณคดี กับโบราณสถานหลายแห่ง รวมทั้งพระราชวังเก่า ซึ่งได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ -- นอกเมืองหลวงพระบาง กับเมืองอื่นๆ ในแขวง มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อันสวยงามมากมาย กลายเป็นแรงดึงดูดสำคัญ ทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลัก สำหรับเมืองกับแขวงภาคเหนือแห่งนี้
เชื่อกันว่า ทางรถไฟจีน-ลาว สายเวียงจันทน์-คุนหมิง ซึ่งทำให้การเดินทางโดยทางบก เชื่อม 2-3 ประเทศ ไทย ลาวและจีนเป็นไปอย่างสะดวก กำลังจะทำให้มีนักท่องเที่ยว เดินทางเข้านครหลวงพระบางปีละนับแสนคน
การท่องเที่ยว ได้ทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการ ที่พัฒนารวดเร็ว ทำให้หลวงพระบางเมืองเล็กๆ มีโรงแรมระดับ 5 ดาวหลายหลัง รวมทั้งรีสอร์ทระดับหรูเป็นจำนวนมาก และ เกิดการผลิตอุตสาหกรรมปลายน้ำต่างๆ ติดตามมา ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเมืองและแขวง เติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ตลอดหลายปีมานี้ -- ชาวเมืองที่มีอยู่เพียงประมาณ 3 หมื่นคนเมื่อสิบปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6 หมื่นในปัจจุบัน เป็นเมืองอากาศดี มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 25-26 องศา
แขวงหลวงพระบางมีประชากรรวมกันราว 4.5 แสนคน แบ่งพื้นที่การปกครอง ออกเป็น 12 เมือง (อำเภอ) ซึ่งได้แก่ เมืองหลวงพระบาง เมืองจอมเพ็ด เมืองปากอู เมืองงอย เมืองน้ำบาก เมืองนาน เมืองปากแซง เมืองโพนไซ เมืองโพนทอง เมืองเวียงไซ เมืองเชียงเงิน กับ เมืองภูคูน -- ยังไม่มีรายละเอียดว่า กำลังจะต้องแยก/รวมพื้นที่ใด เข้ากับนครใหม่ และ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมทั้งจะใช้เขตเทศบาลของเมืองใด เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ สำหรับแขวงหลวงพระบางใหม่ในอนาคต.