เอเอฟพี - ทางการพม่าระบุว่า เหตุผู้ก่อการร้ายโจมตีด่านชายแดนหลายจุดในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 71 ราย ที่รวมทั้งกองกำลังรักษาความมั่นคง 12 นาย ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการอพยพของผู้คนจำนวนมากครั้งใหม่ไปยังบังกลาเทศ
รัฐยะไข่ประสบต่อความแตกแยกจากความเกลียดชังทางศาสนามายาวนาน ซึ่งมุ่งไปที่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาไร้สัญชาติ ที่ถูกมองว่า เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
สำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐระบุว่า เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคง 12 นาย เสียชีวิตพร้อมกับผู้ก่อการร้าย 59 คน ที่นับเป็นยอดผู้เสียชีวิตสูงสุดภายในหนึ่งวันนับตั้งแต่มีการต่อสู้เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน
การต่อสู้ในวันนี้ (25) เกิดขึ้นทั่วเมืองระตีดอง ที่ได้เสริมกำลังทหารจำนวนมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ด่านตำรวจราว 20 แห่ง ถูกโจมตีกลางดึกโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายราว 150 คน ที่มีทั้งปืน และระเบิดแสวงเครื่อง ตามการระบุของทหารพม่า
“ทหาร และตำรวจกำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายเบงกาลีหัวรุนแรง” พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดระบุในคำแถลงที่โพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก
ชาวเมืองหม่องดอ ที่เป็นเมืองหลักในพื้นที่ทางเหนือของรัฐระบุว่า ได้ยินเสียงปืนดังตลอดทั้งคืน
“เรายังได้ยินเสียงปืนอยู่ตอนนี้ เราไม่กล้าออกจากบ้าน” ชาวบ้านเล่าผ่านทางโทรศัพท์
แม้ถูกข่มเหงมาหลายปี แต่ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ก็เลี่ยงความรุนแรง
แต่กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.ปีก่อน ภายใต้ชื่อกองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งรัฐยะไข่ (ASRA) ที่อ้างว่าเป็นผู้นำการก่อความไม่สงบที่มีฐานอยู่ในเทือกเขาเมยู ใกล้พรมแดนบังกลาเทศ
บัญชีทวิตเตอร์ @ARSA_Official ที่อ้างว่าเป็นบัญชีของกลุ่มยืนยันว่า นักรบของกลุ่มกำลังต่อสู้กับทหารพม่าในพื้นที่ และกล่าวหาว่า ทหารกระทำทารุณในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
พม่าระบุว่า กลุ่มที่ก่อเหตุนี้มีผู้นำเป็นชาวโรฮิงญาหัวรุนแรงที่ได้รับการฝึกฝนจากต่างประเทศ แต่ไม่ชัดเจนว่าเครือข่ายของกลุ่มมีขนาดใหญ่เพียงใด
ด้านสำนักงานของนางอองซานซูจี โพสต์รูปภาพอาวุธที่ยึดได้จากกลุ่มก่อการร้าย ส่วนใหญ่เป็นระเบิดแสวงเครื่อง มีด และไม้กระบอง
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนี้ทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญารอบใหม่ที่ต้องการหลบหนีไปยังบังกลาเทศ แต่เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนบังกลาเทศระบุว่า พวกเขาจะไม่ปล่อยให้คนเหล่านี้ข้ามแดนไป
“หญิงโรฮิงญามากกว่า 1,000 คน พร้อมเด็ก และสัตว์เลี้ยงรวมกลุ่มอยู่ใกล้พื้นที่พรมแดนระหว่างพม่าและบังกลาเทศตั้งแต่ช่วงเช้า” ผู้บัญชาการหน่วยรักษาชายแดนเมืองอูขิยา กล่าว
เหตุไม่สงบนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเผยแพร่รายงานระบุรายละเอียดเงื่อนไขภายในรัฐยะไข่ และเสนอหนทางที่จะเยียวยาความตึงเครียดทางศาสนาในพื้นที่
คณะกรรมการภายใต้การนำของ นายโคฟี อันนัน ที่รัฐบาลพม่าแต่งตั้งขึ้นชุดนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการจำกัดการเคลื่อนไหว และการเป็นพลเมืองที่บังคับใช้กับชุมชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติในพม่าเรียกร้องให้ทุกฝ่ายงดใช้ความรุนแรง คุ้มครองพลเรือน และฟื้นฟูกฎหมาย และความสงบเรียบร้อย
พื้นที่บางส่วนของรัฐยะไข่ที่อยู่ใกล้กับบังกลาเทศถูกปิดตายมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2559 การโจมตีด่านชายแดนตำรวจของกลุ่มก่อความไม่สงบทำให้ทหารดำเนินการปราบปรามตอบโต้อย่างหนักจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และประชาชนราว 87,000 คน หลบหนีไปยังบังกลาเทศ
สหประชาชาติเชื่อว่า การปราบปรามของทหารอาจเป็นการล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา แต่กองทัพ และรัฐบาลพลเรือนของนางอองซานซูจี ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ ทั้งการละเมิดสิทธิ การกระทำทารุณ ข่มขืน และสังหาร และยังปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้แก่ผู้สอบสวนของสหประชาชาติที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบข้อกล่าวหาเหล่านั้น.