xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามขยายสัมปทานน้ำมันอินเดีย คานอำนาจจีนในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ในภาพเผยให้เห็นแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทปิโตรเวียดนามในทะเลจีนใต้ ซึ่งรายงานระบุว่าเวียดนามได้ขยายสัญญาสัมปทานสำรวจน้ำมันที่บล็อก 128 ให้กับอินเดียอีก 2 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่รายหนึ่งเผยว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลในเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าเชิงพาณิชย์ ด้วยเวียดนามต้องการให้อินเดียคานการแทรกแซงของจีนในทะเลจีนใต้. -- ภาพ : PetroVietnam.</font></b>

รอยเตอร์ - เวียดนามขยายเวลาสัมปทานน้ำมันแก่อินเดียในบริเวณทะเลจีนใต้ และเริ่มขุดเจาะในอีกพื้นที่หนึ่งที่เวียนามมีข้อพิพาทกับจีน ความเคลื่อนไหวที่อาจเพิ่มความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นต่อผู้ที่อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองในน่านน้ำสำคัญแห่งนี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ของปักกิ่ง และเวียดนามกำลังเปราะบาง ด้วยทั้งสองต่างอ้างสิทธิอธิปไตยในพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้ ขณะที่อินเดีย เพิ่งส่งเรือรบเข้าตรวจตราในช่องแคบมะละกา ที่การค้า และพลังงานของจีนส่วนใหญ่เดินทางผ่านเส้นทางนี้

เวียดนามขยายเวลาสัมปทานอีก 2 ปี ให้แก่บริษัทโอเอ็นจีซี วิเดช จำกัด (ONGC Videsh) ที่เป็นบริษัทด้านพลังงานของอินเดีย เพื่อดำเนินการสำรวจน้ำมันในบล็อก 128 ตามที่ระบุในเอกสารที่มาถึงเมื่อต้นสัปดาห์ ตามการเปิดเผยของผู้อำนวยการจัดการบริษัทโอเอ็นจีซี วิเดช

พื้นที่บางส่วนของบล็อก 128 อยู่ในเขตเส้นประ 9 เส้น รูปตัวยู (U) พื้นที่ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในน่านน้ำที่ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และไต้หวัน ต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่บางส่วนเช่นกัน

เจ้าหน้าที่อาวุโสของบริษัทโอเอ็นจีซี วิเดช ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อเนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว ระบุว่า ผลประโยชน์ในบล็อกดังกล่าวเป็นไปในเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าเชิงการค้า เนื่องจากการพัฒนาน้ำมันในจุดนั้นถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง ด้วยมีศักยภาพในระดับปานกลางเท่านั้น

“เวียดนามยังต้องการให้เราอยู่ที่นั่นเพราะการแทรกแซงของจีนในทะเลจีนใต้” เจ้าหน้าที่ของโอเอ็นจีซี วิเดช ระบุ

บริษัทปิโตรเวียดนาม ที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อสัมปทานดังกล่าว ที่อนุมัติสัมปทานให้แก่อินเดียครั้งแรกในปี 2549 ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในกลางเดือน มิ.ย.

การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนที่พิพาทขัดแย้งกันในทะเลจีนใต้ ยืดเยื้อมายาวนานหลายสิบปี แต่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากจีน และประเทศคู่แข่งต่างๆ ได้เสริมกำลังเพื่ออ้างกรรมสิทธิ์ของตัวเองบนแนวหิน และปะการังที่ครอบครองอยู่

ห่างไปจากบล็อก 128 ทางทิศใต้ การขุดเจาะเริ่มขึ้นในอีกบล็อกหนึ่งที่มีบริษัทปิโตรเวียดนาม บริษัท Repsol ของสเปน และบริษัท Mubadaka Development ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเจ้าของร่วมกัน

บริษัท Deepsea Metro I ที่ดำเนินการโดยบริษัท Odfjel Drilling กำลังขุดเจาะในพื้นที่ตั้งแต่กลางเดือนก่อน ในนามของบริษัท Repsol SA ของสเปน ที่ยังมีสิทธิในบล็อก 07/03 ที่อยู่ใกล้เคียงอีกแห่งหนึ่งด้วย

แม้ Odfjell ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของเรือ แต่ข้อมูลการจัดส่งเผยให้เห็นว่า เรืออยู่ในบล็อก 136/3 ที่ทับซ้อนกับพื้นที่ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ ซึ่งทั้ง Repsol และปิโตรเวียดนาม ต่างปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นว่า จีนคัดค้านกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำมัน และก๊าซผิดกฎหมายในน่านน้ำที่จีนมีอำนาจควบคุม

“เราหวังว่าประเทศที่เกี่ยวข้องจะสามารถกระทำการบนพื้นฐานของการรักษาความสงบ และความมั่นคงของภูมิภาค และไม่กระทำการใดๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ยุ่งยากซับซ้อนขึ้น” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าว

ขณะเดียวกัน การเยือนเวียดนามของ พล.อ.ฟาน ฉานหลง ยังลดระยะเวลาลง และการพบหารือที่ชายแดนจีน-เวียดนาม ถูกยกเลิกในช่วงเวลาที่การขุดเจาะเริ่มขึ้น

ความไม่ไว้วางใจนานหลายร้อยปีระหว่างจีน และเวียดนาม ไม่ปรากฏให้เห็นที่ไหนไปได้มากกว่าการแข่งขันอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือดินแดนในทะเล แม้ทั้งสองประเทศต่างมีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และการค้าที่กำลังเติบโต

เจ้าหน้าที่เวียดนาม กล่าวว่า ฝ่ายจีนเริ่มวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับความร่วมมือกับทั้ง Repsol และ ExxonMobil ของสหรัฐฯ ที่กำลังพัฒนาสัมปทานก๊าซ “Blue Whale” มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์นอกชายฝั่งภาคกลางของเวียดนาม

เจ้าหน้าที่เวียดนามยังระบุว่า เจ้าหน้าที่จีนยังแสดงความวิตกถึงความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่กำลังพัฒนากับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ทั้งคู่ต่างเสนอความช่วยเหลือการอ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนในทะเลจีนใต้ และให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านยามฝั่งของเวียดนาม

“เรารู้ว่าพวกเขาไม่พอใจ แต่เราต่อต้านการกดดัน มันเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ของเรากับปักกิ่ง แต่ส่วนอื่นของความสัมพันธ์ยังคงแข็งแกร่งเช่นเดิม” เจ้าหน้าที่รายหนึ่ง กล่าวเป็นการส่วนตัว

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย และเวียดนามนั้น รองนายกรัฐมนตรีฝ่าม บิ่ง มีง ระบุว่า อินเดียมีความยินดีที่จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ และความสัมพันธ์ด้านการค้า และการป้องกันที่ขยายตัวขึ้นระหว่างกรุงฮานอย และอินเดีย เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของเวียดนามที่จะแสวงหาหุ้นส่วนกับมหาอำนาจหลากหลาย ขณะเดียวกัน ก็หลีกเลี่ยงที่จะสร้างพันธมิตรทางทหารอย่างเป็นทางการ

และนับตั้งแต่ฝ่ายบริหารของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย เข้ารับตำแหน่งในปี 2557 อินเดียพยายามตอบโต้การปรากฏตัวของจีนที่ขยายตัวในเอเชียใต้ ด้วยการเพิ่มความสัมพันธ์ทางการทูต และการมีส่วนร่วมทางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินเดีย กำลังจัดหาเรือลาดตระเวน ดาวเทียมเพื่อตรวจตราน่านน้ำเวียดนาม และการฝึกอบรมสำหรับเรือดำน้ำ และนักบินรบ ที่เป็นการสนับสนุนทางทหารมากกว่าที่ให้กับชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สัปดาห์หน้า กองทัพเรืออินเดีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะจัดการฝึกซ้อมร่วมครั้งใหญ่ที่สุดของ 3 ชาติในอ่าวเบงกอล.
กำลังโหลดความคิดเห็น