รอยเตอร์ - พม่ากำลังพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระบุว่า ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น และมักถูกใช้เพื่อจับกุมตัวนักข่าว และนักเคลื่อนไหว นางอองซานซูจี เผยวันนี้ (6)
หลังจากเกิดเหตุการณ์การจับกุมตัวนักข่าว สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ต่างแสดงความวิตกว่าแม้พม่าจัดการเลือกตั้งได้รัฐบาลพลเรือนชุดแรกของประเทศในรอบครึ่งศตวรรษ แต่สื่อของประเทศกลับกำลังเผชิญหน้าต่อการควบคุมมากขึ้น
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี มีเสียงข้างมากในสภา และสมาชิกสภาของพรรคหลายคนเป็นอดีตนักโทษการเมือง แต่จนกระทั่งตอนนี้พรรคยังไม่ยกเลิกกฎหมายที่รัฐบาลชุดก่อนหน้าใช้ปราบปรามผู้เห็นต่าง
“สำหรับเรื่องมาตรา 66(d) สภานิติบัญญัติกำลังพิจารณาแก้ไขกฎหมายนั้น” ซูจี กล่าว โดยอ้างถึงมาตราในกฎหมายโทรคมนาคม ที่ห้ามใช้เครือข่ายการสื่อสารเพื่อการบังคับ คุกคาม หมิ่นประมาท รบกวน ใช้อิทธิพลชักจูงหรือข่มขู่อย่างไม่เหมาะสม
ซูจี ไม่ได้กล่าวว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นคืออะไร แต่เจ้าหน้าที่พม่าระบุว่า กฎหมายอาจเปลี่ยนให้ผู้พิพากษาอนุญาตให้ประกันตัวผู้ที่ถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายดังกล่าวได้
แต่สมาชิกอาวุโสของพรรค NLD บางส่วน คัดค้านการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ที่พวกเขาระบุว่า เป็นเครื่องมือสำหรับควบคุมการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง และข่าวปลอม ท่ามกลางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่กำลังขยายตัวในประเทศ
เมื่อเดือนก่อน นักข่าว 3 คน ที่เข้าทำข่าวงานที่จัดขึ้นโดยกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้้อยชาติพันธุ์ ซึ่งทางการระบุให้เป็นองค์กรผิดกฎหมาย ถูกทหารควบคุมตัวด้วยสงสัยว่ากระทำการละเมิดพระราชบัญญัติสมาคมนอกกฎหมาย และมีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อีกรายหนึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีตามกฎหมายโทรคมนาคมเกี่ยวกับบทความล้อเลียนเสียดสีทหาร
คดีเหล่านี้สร้างความไม่พอใจในหมู่ชุมชนสื่อมวลชนที่เพิ่งได้รับเสรีภาพมากขึ้นตั้งแต่รัฐบาลยกเลิกมาตรการการเซ็นเซอร์ก่อนตีพิมพ์ในปี 2555 รวมทั้งคำแถลงแสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ
เมื่อซูจี ถูกถามถึงคดีของนักข่าว 3 คน ที่ถูกจับกุมตัว ซูจี กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องแสดงความเห็นถึงวิธีที่ศาลควรพิจารณาคดีต่างๆ อย่างไร นั่นเป็นเรื่องสำหรับภาคส่วนยุติธรรมที่จะต้องดูแล”
“เรื่องนี้ไม่ควรถูกมองอย่างแคบๆ ว่าเป็นเรื่องแค่นักข่าว 3 คน กับกองทัพ หรือในทางกลับกัน แต่โดยทั่วไปแล้ว เป็นเรื่องของกฎหมายที่มีอยู่นั้นสอดคล้องต่อความต้องการของเราว่ามีความยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตยหรือไม่” ซูจี กล่าว.