เอเอฟพี - ชุม ลอง หญิงชาวเขมรอายุ 60 ปี นั่งอยู่ในกระท่อมไม้อธิบายถึงเหตุผลที่ลูกสาวของเธอตัดสินใจรับอุ้มท้องให้แก่คู่สมรสชาวตะวันตก เพื่อหวังนำรายได้มาหาซื้อสิ่งของจำเป็นให้แก่ครอบครัว
เมื่อปีก่อน นายหน้ามาปรากฏตัวที่หน้าบ้านของชุม ลอง ที่อยู่ใน จ.ตะแกว ทางภาคใต้ของกัมพูชา และเสนอเงิน จำนวน 10,000 ดอลลาร์ ให้แก่ลูกสาวของเธอ เพื่อเป็นแม่อุ้มบุญให้แก่คู่สามีภรรยาชาวต่างชาติที่ร่ำรวย
“ลูกสาวของฉันตกลงทันทีกับข้อเสนอนั้น เพราะเราจนมาก พวกเขาเอาเด็กไปทันทีที่เกิด ลูกสาวฉันไม่ทันได้แม้แต่เห็นหน้าเขา” ชุม ลอง กล่าว
กัมพูชากลายเป็นปลายทางรับอุ้มบุญที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากกัมพูชามีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ราคาถูก และไม่มีกฎหมายควบคุม และประเทศที่เคยสถานที่อุ้มบุญที่ได้รับความนิยม เช่น อินเดีย เนปาล และไทย กำหนดให้การอุ้มบุญเชิงพาณิชย์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้ความต้องการที่มีอยู่เป็นจำนวนมากพุ่งมาที่กัมพูชาอย่างรวดเร็ว
แต่ด้วยความวิตกเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์จากกิจกรรมดังกล่าว ทำให้กัมพูชาออกคำสั่งห้ามรับอุ้มบุญเชิงพาณิชย์เมื่อเดือน พ.ย.2559 แต่จากการสัมภาษณ์ของเอเอฟพี พบว่าอุตสาหกรรมการรับอุ้มบุญยังคงมีอยู่
.
.
กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของภูมิภาคเอเชีย ด้วยรายได้ต่อปีเฉลี่ยเพียง 1,150 ดอลลาร์ และการอุ้มบุญนาน 9 เดือน อาจทำรายได้เทียบเท่ากับเงินเดือน 9 ปี
หมู่บ้านพุทซา ที่ชุม ลอง และลูกสาวอาศัยอยู่ เป็นหนึ่งในเป้าหมายของนายหน้าหาผู้รับจ้างอุ้มบุญ
หัวหน้าหมู่บ้านระบุว่า นายหน้ามาปรากฏตัวที่หมู่บ้านเป็นครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน และมีผู้หญิงในหมู่บ้านอย่างน้อย 13 คน ตกลงที่จะรับตั้งครรภ์แทน
“ตอนนี้มีผู้หญิงรับอุ้มบุญกำลังตั้งท้องอยู่ 4 คน แต่พวกเขาไม่อยากเปิดเผย พวกเขาถูกเกณฑ์ไปเมื่อเดือน ก.พ. และ มี.ค.” หัวหน้าหมู่บ้าน กล่าว
แม้หัวหน้าหมู่บ้านจะไม่เห็นด้วยต่อการรับจ้างอุ้มบุญโดยมองว่าเป็นการหลอกใช้ประโยชน์ แต่ก็ตระหนักดีว่า เป็นการยากสำหรับผู้หญิงเหล่านั้นที่จะปฏิเสธข้อเสนอจำนวนมากขนาดนั้น
“ผมเพียงต้องการให้พวกเขาได้รับการดูแลที่ดี และจ่ายเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย” หัวหน้าหมู่บ้าน กล่าว และว่า ควรมีกฎระเบียบในการจัดการอย่างระมัดระวัง มากกว่าที่จะห้ามการอุ้มบุญทั้งหมด
ไม่มีแม่อุ้มบุญในหมู่บ้านพุทซาที่ต้องการจะพูดคุยในเรื่องนี้เมื่อเอเอฟพีเดินทางไปเยี่ยมหมู่บ้าน แต่มีอีก 2 คนจ ากหมู่บ้านอื่นที่ตกลงจะพูดคุยในเงื่อนไขที่เปิดเผยเพียงแค่ชื่อเล่นของพวกเขาเท่านั้น
ทั้งคู่ระบุว่า ยอมรับจ้างอุ้มบุญเพราะความยากจน
จำปี ตั้งท้องก่อนรัฐบาลจะออกคำสั่งห้าม และคลอดลูกเมื่อเดือน เม.ย. เป็นเด็กผู้ชายให้แก่คู่สมรสชาวดัตช์ ซึ่งเธอได้รับค่าจ้าง 10,000 ดอลลาร์ และเงินจำนวนดังกล่าวถูกนำไปซื้อที่ดิน
“มันเป็นเงินจำนวนมากสำหรับฉัน ฉันต้องการอุ้มบุญอีกครั้งจะได้สร้างบ้านได้” จำปี กล่าว และว่าผู้หญิงคนอื่นๆ จากหมู่บ้านของเธอยังรับอุ้มบุญด้วย
รำดวน อายุ 35 ปี ได้เงินเพียง 200 ดอลลาร์ต่อเดือน จากการเป็นคนงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปใน จ.กำปงสะปือ และเคยได้ยินเรื่องรับจ้างอุ้มบุญผ่านเพื่อนร่วมงาน และได้คลอดเด็กผู้หญิงให้แก่คู่เกย์ชาวออสเตรเลียก่อนรัฐบาลจะสั่งห้าม
“ชาวออสเตรเลียคู่นั้นมีความสุขมากที่ได้ลูกสาว ฉันยังคิดว่าเธอเป็นลูกของฉัน ฉันคิดถึงเธอเพราะเธออยู่ในท้องของฉันมากว่า 9 เดือน” รำดวน กล่าว
เงินที่ได้จากการรับอุ้มบุญ รำดวนนำไปชำระหนี้
“แต่ฉันยังไม่ได้เติมเต็มความฝันของตัวเอง ถ้าเป็นไปได้ ฉันต้องการจะเป็นแม่อุ้มบุญอีกครั้งเพราะฉันต้องการบ้าน” รำดวน กล่าว
เจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชาระบุว่า คำสั่งห้ามการอุ้มบุญเป็นสิ่งจำเป็น
“กัมพูชายังคงเป็นประเทศยากจน แต่เราไม่ต้องการใช้การตั้งครรภ์แทนเป็นเครื่องมือในการลดความยากจนในหมู่ประชาชนของพวกเรา มิเช่นนั้น กัมพูชาจะกลายเป็นโรงงานผลิตเด็กเพื่อจำหน่าย” เจ้าหน้าที่คณะกรรมการปราบปรามการค้ามนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กล่าว
ที่หมู่บ้านพุทซา ชุม ลอง ยอมรับว่า เงินจากการตั้งครรภ์แทนของลูกสาวไม่ได้ช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจน เงินที่ได้จากการอุ้มบุญถูกนำไปใช้จ่ายในแต่ละเดือน และใช้หนี้ พวกเขาไม่มีเงินพอที่จะซื้อบ้านหลังใหม่ที่พวกเขาวาดหวังไว้
“เรายังยากจนเหมือนเดิม ถ้าพวกเขาเลือกผู้หญิงที่มีอายุ ฉันก็ต้องการที่จะรับอุ้มท้องแทนเหมือนกัน” ชุม ลอง กล่าว.