MGRออนไลน์ -- เวียดนามได้จัดฝึกซ้อมทางยุทธวิธีของหน่วยป้องกันชายฝั่ง และ มีการฝึกยิงอาวุธจริงหลายชนิด รวมทั้งอาวุธปล่อยนำวิถีรุ่นหนึ่ง ที่ประจำการในกองทัพกองทัพประชาชน มานานหลายทศวรรษ ปัจจุบันยังมีใช้ในกองทัพรัสเซียเช่นเดียวกัน แต่สำหรับเวียดนามนั้น เป็นอาวุธที่โลกภายนอกยังไม่เคยได้เห็นมาก่อน และ ผลการยิงปรากฏว่าอาวุธนำวิถีรุ่นเก่าแก่นี้ "หล่นลง" ใส่เรือปลดระวางแล้วลำหนึ่ง ที่ใช้เป็นเป้าหมาย อยู่ห่างจากฝั่งออกไปนับร้อยกิโลเมตร อย่างแม่นยำ และ เกิดระเบิดรุนแรงขึ้นในส่วนท้ายของเรือ
นี่คือเหตุการณ์ที่ไม่มีในรายงานของสื่อทางการ รวมทั้งหนังสือพิมพ์กวนโด่ยเญินซเวิน (Quan Doi Nhan Dan) ของกองทัพ มีเพียงรายงานเป็นวิดีโอสั้นๆ ความยาวเพียงประมาณ 48 วินาที ในภาคข่าวสถานีโทรทัศน์เวียดนาม VTV1 สัปดาห์นี้ โดยระบุแต่เพียงว่า เป็นการฝึกซ้อมของหน่วยป้องกันชายฝั่ง ทีมี พล.อ.โงซวนหลิก (Ngo Xuan Lich) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหทมเป็นประธาน และ มีนายทหารระดับสูงของกระทรวงกับกองทัพประชาชน ไปร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก
การฝึกซ้อมครั้งนี้ มีเรือฟรีเกต เรือคอร์แว็ต เรือโจมตีเร็วคิดอาวุธปล่อยนำวิถี กับเรือดำน้ำอีก 1 ลำเข้าร่วม
หนังสือพิมพ์กวนโด่นเญินซเวิน หรือ "กองทัพประชาชน" รวมทั้งในข่ายโรทัศน์ของกองทัพ ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ และ VTV1 ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับอาวุธ ซึ่งทำให้ดูเหมือนเป็นการฝึกซ้อมปรกติธรรมดา เช่นเดียวกับทุกครั้ง ที่หน่วยรบต่างๆ ของกองทัพจัดอยู่เป็นประจำ ในรอบปี
แต่สื่อพิมพ์รัสเซียกาเซ็ต หรือ กาเซ็ตตาอาร์ยู ได้หยิบเหตุการณ์นี้ไปรายงาน โดยเพิ่มเติมละเอียดเกี่ยวกับอาวุธที่ใช้ และ สื่อออนไลน์ภาษาเวียดนามสำนักหนึ่ง ที่คร่ำหวอดกับข่าวกลาโหมมานานหลายสิบปี ได้มองเห็นความสำคัญ นำไปขยายความเพื่อให้สาธารณชนได้รู้จัก "อาวุธลับ" สำหรับยิงเรือระบบนี้มากขึ้น
"นี่คืออาวุธยิงเรือที่ผลิตออกมาเมื่อครึ่งตวรรษก่อน แต่ยังคงเป็นภัยอันตรายอันใหญ่หลวงสำหรับเรือรบสมัยปัจจุบัน" กาเซ็ตตาอาร์ยูกล่าว
สื่อของรัสเซียหมายถึง ระบบอาวุธปล่อยนำวิถียิงเรือแบบ P-35B ซึ่งเป็นอีกระบบหนึ่ง ที่ใช้จรวดในครอบครัว 3M44 หรือ "SS-N-3" ที่มีกระบวนการพัฒนามายาวนาน ตั้งแต่รุ่นติดตั้งบนเรือดำน้ำ ในทศวรรษที่ 1960 มาเป็นรุ่นติดตั้งบนเรือรบ และ ติดตั้งบนบก มาเป็นระบบป้องกันชายฝั่งเคลื่อนที่แบบ 3M44/SPU-35 ในที่สุด
และการใช้คำว่า "หล่นใส่" เป้าหมายนั้น แสดงให้เห็นขีดความสามารถของ จรวดยิงเรือขนาดใหญ่ ที่ใช้งานมายาวนานรุ่นนี้ ซึ่งสามารถพุ่งขึ้นสู่เพดานสูง และ "หล่นลง" ในแนวโค้งตามแรงโน้มถ่วงของโลก ก่อนดิ่งลงใส่เป้าหมายด้วยความเร็วระดับซูเปอร์โซนิก แบบเดียวกับขีปนาวุธโจมตีระยะไกล พวก Ballistic Missile ทั้งหลาย ที่ยากต่อการยิงต้าน หรือ ยิงทำลาย ด้วยระบบต่อสู้อากาศยาน หรือ ระบบต่อต้านขีปนาวุธทั่วไป (โปรดชมคลิปแรกประกอบ)
.
.
แท้จริงแล้ว 3M44/SPU-35 เป็นชื่อที่รู้จักกันมานาน และ มิใช่ความลี้ลับแต่ประการใด เพียงแค่ว่าใครจะเปิดตัว หรือ ทดลองใช้ หรือ ฝึกซ้อมยิงให้โลกภายนอกได้เห็นเท่านั้น ในย่านนี้ระบบป้องกันชายฝั่ง 3M44/SPU-35 ยังมีใช้ในกองทัพพม่า รวมทั้งสิงคโปร์อีกแห่งหนึ่งด้วย แต่สำหรับเวียดนาม มีความลับมากกว่านั้น
กองทัพรัสเซียได้ปัดฝุ่นพัฒนา ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีป้องกันชายฝั่ง "รีดุต" (Redut) ให้ก้าวหน้าขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ติดหัวรบขนาดใหญ่ขึ้น และ ยิงได้ไกลขึ้น ที่นั่นเรียกเป็นระบบ P-5 P6 และ P7 ตามระยะยิง กับการนำวิถี และเชื่อกันว่า ปัจจุบันรัสเซียเองพัฒนาไปถึง P-25 โดยเข้าใจกันว่า ยิงเป้าหมายทางทะเลได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร นัยว่าเพื่อยิงกับเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐ จากระยะไกลในยุคหนึ่ง
เดือน เม.ย.ปีนี้่ รัสเซียทดลองยิงระบบ P-15 ในภาคตะวันออกไกล 3M44 สามารถทำลายเป้าหมายได้อย่างแม่นย้ำ ในระยะประมาณ 750 กม. ในทะเลแปซิฟิก ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดที่โลกภายนอก ได้เห็นการทำงานของระบบนี้ (โปรดดูภาพที่ 1 ประกอบ)
ตามรายงานของสื่อรัสเซีย กระทรวงกลาโหมได้กำหนดสเป็ก 3M44 รุ่นส่งออก เอาไว้ที่ระยะยิงไม่เกิน 300 กม. เพื่อใช้เป็นระบบอาวุธป้องกันเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ส่งออก รุ่นยิงระยะไกล ที่ถือเป็นอาวุธโจมตี จึงเป็นที่ชัดเจนว่า จรวด 3M44 รุ่นส่งออกนั้น เป็นอีกรุ่นหนึ่งต่างหาก ถึงแม้ว่าจะใช้ระบบยิง/ระบบควบคุม เหมือนกัน แต่การพิจารณาวิเคราะห์ระบบระบบของเวียดนาม ยังคงมีความยุ่งยากอยู่ไม่น้อย
เวียดนามซื้อระบบอาวุธปล่อยนำวิถียิงเรือ P-5 (3M44/P-5) จากโซเวียต ตั้งแต่ยุคสงคราม แต่เป็น SS-N-3C ในระบบของนาโต้ หรือ P-5 ตามนิยามของรัสเซียในยุคใหม่ มีระยะยิงไกล 750 กม. แต่ยังไม่เคยได้ใช้ตลอดเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนั้นก็ยังไม่เคยมีการเปิดเผยรายละเอียด เกี่ยวกับระบบ P-35 ซึ่งเวียดนามผลิตในประเทศ ภายใต้สิทธิบัตร กับความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีจากรัสเซีย ในช่วงกว่า 10 ปีมานี้
ข้อมูลต่างๆ รวมทั้งชื่อเรียกระบบป้องกันชายฝั่งรุ่นนี้ ยังคงเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนเช่นเดียวกัน เนื่องจากผลิตออกมาต่อเนื่่องหลายต่อหลายรุ่น ในซีรีส์เดียวกัน และ ใช้อาวุธปล่อยนำวิถีที่ต่างกัน ชื่อที่ใช้ในยุคโซเวียต กับ ชื่อใหม่ในยุครัสเซีย รวมทั้งชื่อที่นาโต้ใช้เรียกรุ่นย่อยแต่ละรุ่น สามารถสร้างความสับสนได้เสมอ
ข้อจำกัดทางด้านข้อมูลข่าวสาร ได้ทำให้อาวุธระบบนี้เป็นความลี้ลับ แต่ที่ผู้สังเกตการณ์บางรายให้ความเห็น เกี่ยวกับระบบของเวียดนามว่า "เมื่อมีรุ่นยิงระยะไกลประจำการอยู่แล้ว เหตุใดจึงจะต้องจำกัดระยะยิงจรวดรุ่นที่ผลิตออกมาใหม่"
.
2
ยังไม่เคยมีการเปิดเผยรายละเอียดเช่นกันว่า กองทัพประชาชนเวียดนาม มีระบบอาวุธปล่อยนำวิถียิงเรือ 3M44/P-5 รุ่นเก่าที่ซื้อจากโซเวียต (หรือ SS-N-3C) ทั้งหมดกี่ระบบ และ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้ผลิตระบบใหม่ (P-35) ออกมาอีกกี่ระบบ ตามความตกลงความร่วมมือกับรัสเซีย และ ปัจจุบันมีรวมกันทั้งสิ้นกี่ระบบ และ มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ต่างไปจากระบบป้องกันชายฝั่งแบบ K-300P "บาสเตียน" (Bastion) ที่ซื้อในยุคใหม่ อันเป็นรุ่นส่งออกของระบบที่ใช้จรวด 3M55 "โอนิกซ์" (Onyx) หรือ จรวด P-800 ที่รัสเซีย โชว์การยิงถล่มที่ตั้งกลุ่มก่อการร้ายไอซิสในซีเรีย ให้เห็นเป็นครั้งแรก เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว และ เวียดนามมีอยู่ 2 ระบบ
ตามตัวเลขของสื่อรัสเซีย ถึงแม้ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี 3M44/SPU-35 มีชื่อเรียกหลากหลายตามรุ่นย่อย ที่มีคุณสมบัติและรายละเอียด แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งครอบครัวนี้เป็นจรวดร่อนขนาดใหญ่ ความยาว 10.20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางเกือบๆ 1 เมตร น้ำหนัก 5,000 กิโลกรัม (หรือ 5 ตัน) ติดหัวรบได้หลายขนาด ใหญ่ที่สุดน้ำหนักถึง 1,000 กก. หรือ ติดหัวรบนิวเคลียร์ขนาด 200-350 เมกะตัน ส่วนรุ่นเก่าคือ SS-N-3C (รวมทั้งล็อตที่เวียดนามซื้อจากโซเวียต) ยาวถึง 11.75 เมตร และ น้ำหนักมากกว่า
เนื่องจากมีขนาดใหญ่โต จึงต้องใช้บูสเตอร์แรงสูง ช่วยขับดันส่งในขั้นตอนแรกที่ "ปล่อย" ออกจากท่อยิง และ เมื่อขึ้นสูงถึงเพดานที่กำหนด ก็จะสลัดบูสเตอร์ทิ้ง ขับเคลื่อนต่อไปด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ท ที่ทำความเร็วได้ถึง 0.9 มัค ในระยะที่ปลอดภัย และ สามารถ "ร่อน" ได้ในความสูงตั้งแต่ 100 จนถึง 7,000 กม.
จรวด 3M44 ติดตั้งระบบแอ็กทีฟเรดาร์ แบบทั้งรับและส่ง (Transceiving) ใช้ระบบนำวิถีด้วยตนเอง หรือ Inertial Guidance ที่ได้จากการคิดคำนวณความสัมพันธ์ ระหว่างตำบลที่ตั้งปัจจุบัน ความสูงจากระดับน้ำทะเล และ ความเร็วในการเคลื่อนที่ ระบบยังสามารถอัปเกรดข้อมูล เกี่ยวกับเป้าหมายระหว่างทางได้ จากเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ตรวจการณ์/แจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อแยกแยะเป้าหมาย และ เลือกเป้าหมายที่ต้องการ และ นำวิถีในขั้นตอนสุดท้ายด้วยเรดาร์
สำหรับ SPU-35 เป็นรหัสระบบยิง (โดยแยกหน่วยควบคุมต่างหาก) ติดตั้งบนพาหนะ 8 ล้อ Zil-135M ในรุ่นก่อน ที่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 10 ตัน ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 36 แรงม้า แล่นด้วยความเร็วประมาณ 40 กม./ชม. มีระยะปฏิบัติการ 500 กม. ถึงแม้จะมี "แพล็ตฟอร์ม 12 ล้อ" ให้เลือกได้ในปัจจุบัน รหัสต่อท้ายชื่อระบบ ก็ยังไม่เคยเปลี่ยน เพียงแต่เติมอักษรอีกหนึ่งตัวพ่วงท้าย แสดงให้เห็นแพล็ตฟอร์มใหม่ที่ใช้ติดตั้ง แทน Zil-135 เมื่อก่อนเท่านั้นเอง
ถึงแม้ว่าสื่อภาษาเวียกนามสำนักหนึ่ง จะเรียกระบบที่กองทัพเรือยิงทดลองเมื่อต้นเดือนนี้ว่า P-35 ก็ตาม แท้จริงแล้วไม่มีแหล่งใดให้ข้อมูลที่แน่ชัดว่า มันคือรุ่นใดกันแน่ -- เป็นรุ่นเก่าคือ SS-N-3C หรือ P-5 หรือ เป็น 3M44/SPU-35 รุ่นปัจจุบัน ที่ผลิตในประเทศ.