MGRออนไลน์ -- กลุ่มมิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสตรี ได้จัดพิธีเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในสัปดาห์นี้ เครื่องบินรบแบบ F-35 "ไล้ท์นิ่ง 2" (Lightning II) ลำแรก ที่ประกอบในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเครื่องบินรบยุคที่ 5 เทคโนโลยี "ล่องหน" (Stealth) หนึ่งใน 2 รุ่นแรก ในโลกที่บินได้แล้ว ถัดจาก F-22 "แร็พเตอร์" (Raptor) ของสหรัฐเช่นเดียวกัน
เครื่องบินลำแรกนี้ ผลิตในสหรัฐด้วยเทคโนโลยีสหรัฐ แต่นำไปประกอบที่โรงงานของมิตซูบิชิ ที่เมืองโตโยยาม่า จ.อาอิชิ ตามแผนการและข้อตกลงในการจัดหา ระหว่างสองฝ่าย
พิธีเปิดตัวจัดขึ้นในวันจันทร์ 5 มิ.ย. ที่ฐานทัพอากาศมิซาวา จ.อาโอะโมริ และ จะประจำที่ฐานทัพแห่งนี้ กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่น มีแผนจะบรรจุเข้าประจำการ F-35 ทั้งสิ้น 42 ลำ โดยเริ่มในปีงบประมาณ 2560 ที่สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. เกือบทั้งหมดจะนำไปประกอบในญี่ปุ่นโดยมิตซูบิชิ สำนักข่าวภาษาญี่ปุ่นหลายแห่ง รายงานในช่วงข้ามวันที่ผ่านมา
Lightning II เป็นเครื่องบินที่หลบเลี่ยงเรดาร์ มีระบบเซ็นเซอร์ที่ก้าวหน้าทีสุด สามารถตรวจจับและติดตามทำลาย อาวุธป่อยนำวิถี ของข้าศึกได้จากระยะไกล ด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุดในยุคปัจจุบัน ทั้งมีความคล่องตัว ปฏิบัติได้หลายภารกิจ คาดว่าฝูงบินล่องหนของญี่ปุ่น จะประสานสมทบกับ F-35 ของสหรัฐ ในการบินลาดตระเวณ เสริมสร้างความมั่นคง และรักษาเสถียรภาพ ทั้งในทะเลญี่ปุ่น และ ย่านเอเชีย-แปซิฟิกตะวันตก
F-35 เป็นผลงานการพัฒนาร่วมกันระหว่าง 9 ประเทศ คือ สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ตุรกี โดยมีบริษัทล็อกฮีดมาร์ตินแห่งสหรัฐเป็นผู้ผลิตหลัก จนถึงปีนี้มีประเทศที่แสดงความจำนงค์ จะเป็นเจ้าของกว่า 14 ประเทศ รวมทั้งในทวีปเอเชีย 3 ประเทศซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี กับ สิงคโปร์
.
.
ญี่ปุ่นไม่ได้ร่วมพัฒนา F-35 โดยตรง แต่มีส่วนร่วม ในการช่วยประกอบเครื่องบิน รวมทั้งในกระบวนการผลิตต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง และ ในจำนวน 42 ลำตามแผนบรรจุเข้าประจำการนั้น มีเพียง 4 ลำที่ซื้อประกอบสำเร็จรูป ภายใต้โครงการ FMS หรือ Foreign Military Sale ของรัฐบาลสหรัฐ ลำแรกที่ประกอบเสร็จ และ เพิ่้งเปิดตัวนี้ จะใช้เป็นเครื่องบินฝึกของกองกำลังป้องกันตนเอง
ญี่ปุ่นที่ใช้รัฐธรรมนูญแนวสันติ มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มองเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนา และ จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยประจำการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เกิดกรณีพิพาทกับจีน ที่อ้างสิทธิเหนือเกาะเซ็นกากุ หรือ เกาะเตี่ยว-อวี้ ตามที่ฝ่ายจีนเรียก
F-35A ซึ่งเป็นเครื่องบินรบสำหรับกองทัพอากาศสหรัฐ มีปีกกางกว้าง 11 เมตร ยาวตลอดลำ 16 เมตร สำนักข่าวจิจิเพรสรายงานก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มบริษัท IHI ของญี่ปุ่น ซึ่งร่วมผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ สำหรับเครื่องบินรุ่นนี้ ซึ่งจะนำส่งตรงให้แก่กองกำลังป้องกันตนเอง ขณะที่กลุ่มมิตซูบิชิอิเล็กทริกส์ ดูแลด้านการผลิตส่วนประกอบของระบบเรดาร์
ญี่ปุ่นยังคงใช้กฎหมายห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ภายใต้แนวทางของรัฐธรรมนูญแนวสันติ แต่เมื่อปี 2556 รัฐสภาได้อนุญาตให้บริษัทญี่ปุ่น ส่งออกชิ้นส่วน F-35 ได้ หลังจากได้รับคำอธิบายว่า เรื่องนี้มีความสำคัญยิ่งยวด ต่อการป้องกันประเทศ และการใช้เครื่องบินทันสมัยล้ำยุครุ่นนี้ในอนาคต ของกองกำลังป้องกันตนเอง รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงในประเทศด้วย.