เอเอฟพี - มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จะส่งเรือออกลาดตระเวนร่วมบริเวณน่านน้ำรอบเกาะมินดาเนาในเดือนนี้ เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมมาเลเซียแถลงวันนี้ (3 มิ.ย.)
ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมแดนเสือเหลือง ได้เผยแผนปฏิบัติการร่วมดังกล่าวระหว่างการประชุมด้านความมั่นคงเอเชียที่สิงคโปร์ ในขณะที่กองทัพฟิลิปปินส์กำลังสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธภักดีไอเอสที่บุกยึดเมืองมาราวี (Marawi) มานานเกือบ 2 สัปดาห์
ฮิชามมุดดิน ระบุว่า ภารกิจลาดตระเวนทางทะเลในน่านน้ำรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศจะเริ่มขึ้นในวันที่ 19 มิ.ย. นี้ โดยจะมีการส่งเครื่องบินออกลาดตระเวนทางอากาศตามมาด้วย
ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกบนเกาะมินดาเนาเพื่อรับมือกับวิกฤตความมั่นคงครั้งนี้ โดยระบุว่าการยึดเมืองมาราวีเป็นแผนขั้นเริ่มต้นของไอเอสที่จะรุกคืบเข้ามาสร้างฐานที่มั่นในแดนตากาล็อก
นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเตือนว่า ไอเอสกำลังวางแผนสร้าง “จังหวัด” ของพวกเขาบนเกาะมินดาเนา โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสถาปนา “รัฐคอลีฟะห์” ขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ถ้าคุณพูดถึงช่องแคบซูลู... ก็หมายถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์” ฮิชามมุดดิน กล่าวต่อผู้แทนฝ่ายกลาโหมนานาชาติซึ่งเดินทางไปร่วมการประชุมความมั่นคงประจำปี แชงกรี-ลา ไดอะล็อก ที่สิงคโปร์
“ดังนั้นในกลุ่มอาเซียน... เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรบ้างเลย... เราจึงตกลงกันว่าอย่างน้อย 3 ประเทศจะส่งเรือออกลาดตระเวนร่วมในช่องแคบซูลูเป็นที่แรก”
เขาระบุด้วยว่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ได้มีการส่งเรือออกลาดตระเวนร่วมในช่องแคบมะละกาเพื่อปราบปรามพวกโจรสลัดอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า พรมแดนทางทะเลระหว่างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ยังขาดการคุ้มกันที่เข้มงวด จึงยากที่จะตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธ
อ็อตโซ ไอโฮ (Otso Iho) นักวิเคราะห์อาวุโสจากศูนย์ศึกษาการก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบ (JTIC) สถาบันกลาโหม ไอเอชเอส เจนส์ ระบุว่า เกาะมินดาเนา “เป็นพื้นที่หลักในภูมิภาคนี้ที่กลุ่มติดอาวุธยังสามารถปฏิบัติการได้อย่างเสรี มีการตั้งค่ายฝึกอาวุธ และก่อเหตุโจมตีอยู่บ่อยครั้ง”
“ระดับความไร้ขื่อแป และการที่รัฐบาลหรือกองทัพยังไม่สามารถเข้าควบคุมพื้นที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มินดาเนาเสี่ยงที่จะถูกไอเอสประกาศยึดครอง”
“ที่นี่ยังเป็นแหล่งกบดานของกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายกลุ่มที่ประกาศสวามิภักดิ์ต่อไอเอส”
ฮิชามมุดดิน และรัฐมนตรีกลาโหมชาติอื่นๆ ยังเตือนถึงภัยคุกคามจากพวกนักรบท้องถิ่นที่กำลังเดินทางกลับมาจากอิรักและซีเรีย หลังจากไอเอสสูญเสียพื้นที่ยึดครองไปจนเกือบหมดแล้ว
“จึงมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เอเชีย-แปซิฟิกจะตกเป็นเป้าหมายถัดไปของพวกดาเอช” เขากล่าว โดยใช้ชื่อย่อของไอเอสในภาษาอาหรับ
“ภัยคุกคามครั้งนี้เป็นเรื่องจริงจัง และอาจเกิดขึ้นได้ในหลายมิติ ทั้งจากนักรบที่เดินทางกลับมาซีเรีย กลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นที่เป็นสาขาของไอเอส และที่ร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือพวกหมาป่าโดดเดี่ยว (lone wolves) ที่เรียนรู้แนวคิดสุดโต่งด้วยตัวเอง”