เอเอฟพี - ทางการพม่าระบุเมื่อวันจันทร์ (2) ว่า ได้ควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งหลังคลิปวิดีโอที่ถ่ายภาพโดยตำรวจด้วยกันเผยให้เห็นว่า พวกเขากำลังทุบตีชาวโรฮิงญา นับเป็นการยอมรับที่หาได้ยากในการละเมิดสิทธิต่อชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อย
ประชาชนหลายหมื่นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ได้หลบหนีการดำเนินการทางทหารในรัฐยะไข่ ที่เริ่มขึ้นหลังเหตุโจมตีด่านตำรวจชายแดนในเดือน ต.ค. และบังกลาเทศ ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านระบุว่า มีชาวโรฮิงญาราว 50,000 คน ข้ามพรมแดนเข้ามาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และหลายคนเปิดเผยเรื่องราวการข่มขืน สังหาร และการลอบวางเพลิงโดยทหาร และตำรวจพม่า
คลิปวิดีโอหลายสิบชิ้นที่ปรากฎขึ้นได้เผยให้เห็นการละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญา แต่นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลได้ระบุว่า จะดำเนินการต่อคนเหล่านี้
เรื่องราวของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาได้สร้างความวิตกต่อประชาคมโลก และก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านนางอองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่า ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา
รัฐบาลของซูจี ได้กล่าวว่า กองกำลังทหารกำลังล่าตัวผู้ก่อความไม่สงบที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีด่านตำรวจชายแดน และปฏิเสธข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ (2) เจ้าหน้าที่พม่าได้ให้คำมั่นที่จะดำเนินการต่อตำรวจ ที่ถูกกล่าวหาว่า ทุบตีชาวบ้านระหว่างการดำเนินการกวาดล้างพื้นที่ในวันที่ 5 พ.ย. ที่หมู่บ้านโกตันกอก์
สำนักงานของนางอองซานซูจี ได้ระบุชื่อเจ้าหน้าที่ 4 นาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปฏิบัติการที่รวมทั้งนายตำรวจซอ เมียว ไถก์ ที่สูบบุหรี่เข้ากล้องอย่างไม่แยแส ขณะถ่ายวิดีโอ
“คนเหล่านี้ที่ถูกระบุตัวในเบื้องต้นได้ถูกควบคุมตัวไว้แล้ว และการสืบสวนเพิ่มเติมอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อเปิดเผยตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจนายอื่นๆ ที่ทุบตีชาวบ้านในปฏิบัติการ” คำแถลงระบุ
คลิปวิดีโอเผยให้เห็นตำรวจทุบตีเด็กหนุ่มที่บริเวณศีรษะขณะเดินไปยังกลุ่มชาวบ้านที่นั่งเรียงแถวอยู่บนพื้นโดยมือประสานกันอยู่หลังศีรษะ
เจ้าหน้าที่ 3 นายในเครื่องแบบเริ่มเตะชายที่นั่งอยู่กับพื้นที่ ทุบด้วยไม้ และเตะเข้าซ้ำๆ ที่ใบหน้า
นักเคลื่อนไหวชาวโรฮิงญาที่เอเอฟพีติดต่อด้วยนั้นกล่าวว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวได้รับการตรวจสอบแล้วจากผู้ลี้ภัยจากค่ายที่อยู่ใกล้เคียง
เดวิด แมทธีสัน นักวิเคราะห์ กล่าวว่า คลิปวิดีโอนำมาสู่คำถามถึงการปฏิเสธของรัฐบาลเกี่ยวกับกองกำลังรักษาความมั่นคงละเมิดสิทธิในรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือน ต.ค. เมื่อภาพที่เห็นได้แสดงถึงวิธีการที่พวกเขาปฏิบัติต่อชาวมุสลิมท้องถิ่น
ผู้คนราว 600 คน ถูกควบคุมตัวนับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการทางทหาร ตามการรายงานของสื่อทางการ รวมทั้ง 6 คน ที่เสียชีวิตภายใต้การควบคุมของตำรวจในสถานการณ์ที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถอธิบายได้
พม่าเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญามายาวนาน โดยชาวโรฮิงญามากกว่า 120,000 คน ยังคงอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศนับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นในปี 2555 ในรัฐยะไข่ ซึ่งคนเหล่านี้ถูกปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมือง การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และการศึกษา
ผู้ได้รับรางวัลโนเบลมากกว่า 10 คน ร่วมกันเขียนจดหมายถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อสัปดาห์ก่อน เรียกร้องให้ดำเนินการเข้ายับยั้งโศกนาฏกรรมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษชาติในรัฐยะไข่.