รอยเตอร์ - พม่าเผยวานนี้ (30) ว่าจะรับพลเมืองจำนวน 2,415 คน จากบังกลาเทศกลับประเทศ นับเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของผู้คนกว่า 300,000 คน ที่บังกลาเทศระบุว่าเป็นชาวพม่ามาลี้ภัยอยู่ในเขตแดนและควรกลับประเทศทั้งหมด
ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการปฏิบัติของพม่าต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 50,000 คน ที่บังกลาเทศกล่าวว่าได้หลบหนีเข้ามาอยู่ในพรมแดน นับตั้งแต่ที่กองทัพพม่าเริ่มปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในเดือนต.ค.
พม่ากล่าวมาหลายสิบปีว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และปฏิเสธที่จะให้สถานะพลเมืองกับคนกลุ่มนี้
ฝ่ายบังกลาเทศกล่าวว่าชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองพม่าและปฏิเสธที่มอบสถานะผู้ลี้ภัยให้กับคนเหล่านี้ที่หลบหนีความรุนแรงระหว่างชุมชนและการปราบปรามทางทหารในพม่าเช่นกัน
"ตามข้อมูลของเรามีพลเมืองพม่าเพียงแค่ 2,415 คน" อธิบดีกระทรวงการต่างประเทศพม่า อ้างถึงจำนวนชาวพม่าในบังกลาเทศ
"เรายึดตามตัวเลขของเรา" กอ ซายา ระบุ และเสริมว่าไม่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเลขที่บังกลาเทศระบุว่ามีชาวพม่าถึง 300,000 คน และรัฐบาลพม่ามีแผนที่จะรับพลเมือง 2,415 คน กลับประเทศในปี 2560
ก่อนหน้านี้ บังกลาเทศได้เรียกพบทูตพม่าในกรุงธากาเพื่อเรียกร้องการเริ่มส่งตัวพลเมืองชาวพม่าในบังกลาเทศกลับประเทศ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ให้ตัวเลขไว้ที่ 300,000 คน
การรักษาความปลอดภัยตกต่ำลงอย่างมากในรัฐยะไข่ พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวโรฮิงญา นับตั้งแต่การโจมตีด่านชายแดนใกล้ชายแดนบังกลาเทศในวันที่ 9 ต.ค. ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย
รัฐบาลพม่าได้กล่าวโทษกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มหัวรุนแรงต่างชาติ ในเหตุโจมตีที่เกิดขึ้น และได้ระดมกำลังลงพื้นที่ดังกล่าว
กลุ่มสิทธิมนุษยชนและประชาชนในพื้นที่กล่าวว่ามีการละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นในช่วงปฏิบัติการทางทหารของพม่าในหลายสัปดาห์ต่อจากนั้น แต่ทางการพม่าได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ โดยระบุว่ารายงานการละเมิดเป็นเรื่องกุขึ้น และยืนยันว่าการปะทะกันในรัฐยะไข่เป็นเรื่องภายใน
ขณะเดียวกันบังกลาเทศกล่าวว่า มีผู้คนราว 50,000 คน ได้หลบหนีเข้าไปในเขตแดนของตนนับตั้งแต่เดือนต.ค. แต่สหประชาชาติระบุว่าจำนวนอยู่ที่ 34,000 คน
ความรุนแรงในรัฐยะไข่ได้กลายเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลของนางอองซานซูจีต้องเผชิญ และฝ่ายบังกลาเทศได้ขอให้พม่าจัดการต้นตอของปัญหานี้อย่างเร่งด่วน และย้ำว่าบังกลาเทศพร้อมที่จะหารือกับพม่าถึงกระบวนการและวิธีการที่จะส่งคนเหล่านี้กลับประเทศ.