รอยเตอร์ - ชาติตะวันตกรวมตัวเรียกร้องพม่าให้ขยายการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปยังรัฐยะไข่ ที่มีประชาชนอย่างน้อย 86 คน ถูกสังหาร และอีกราว 22,000 คน หลบหนีข้ามฝั่งไปบังกลาเทศ นับตั้งแต่ปฏิบัติการทางทหารเริ่มขึ้นในพื้นที่
แรงกัดดันต่อรัฐบาลของนางอองซานซูจี เกี่ยวกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ กำลังเพิ่มสูงขึ้น และสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ซูจี เดินทางลงพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าคนเหล่านั้นจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง
ทหารได้ระดมกำลังลงพื้นที่ตามแนวชายแดนบังกลาเทศ และปิดล้อมเพื่อตอบโต้เหตุโจมตีที่รัฐบาลพม่าระบุว่า เป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบชาวมุสลิม ยังด่านชายแดน 3 จุด เมื่อวันที่ 9 ต.ค. จนทำให้ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย
จากประชาชนมากกว่า 150,000 คน ที่เคยได้รับความช่วยเหลือก่อนเกิดเหตุความรุนแรง เวลานี้มีเพียงประมาณ 20,000 คน ที่ได้รับความช่วยเหลือนับตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. ภายใต้การจัดส่งความช่วยเหลือที่เข้าถึงในพื้นที่บางส่วนเท่านั้น สหประชาชาติ ระบุ
นักการทูตกล่าวว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดส่งความช่วยเหลือดูเหมือนได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลในกรุงเนปีดอ แต่มักตกหล่น หรือถูกทำให้ล่าช้าโดยเจ้าหน้าที่ที่ทหารควบคุมในรัฐยะไข่
“เราวิตกถึงความล่าช้าที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่พม่าทุกฝ่ายเอาชนะอุปสรรคที่ขัดขวางเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นคืนกลับสู่สภาพเดิม เนื่องจากมีประชาชนหลายหมื่นคนต้องการความช่วยเหลือด้านมุนษธรรมเหล่านี้ รวมทั้งเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งไม่ได้รับความช่วยเหลือมาเป็นเวลานานเกือบ 2 เดือน” ทูตจากหลายชาติ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สเปน ตุรกี และสหรัฐฯ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
ชาวมุสลิมเกือบ 22,000 คน ได้หลบหนีไปบังกลาเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ตามรายงานล่าสุดของสหประชาชาติ และประเมินว่า มีประชาชนประมาณ 30,000 คน ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย และอีกหลายพันคนได้รับผลกระทบจากการต่อสู้
รัฐบาลซูจี ปฏิเสธข้อกล่าวหาของชาวบ้าน และกลุ่มสิทธิมนุษยชนว่า ทหารได้ก่อเหตุข่มขืนหญิงชาวมุสลิมโรฮิงญา เผาบ้านเรือน และคร่าพลเรือน แต่ทางการพม่าก็ได้ตั้งคณะกรรมการที่นำโดยสมาชิกอดีตรัฐบาลเผด็จการทหารดำเนินการสืบสวนข้อกล่าวหาต่างๆ นั้น
ชาวพุทธยะไข่ และชาวมุสลิมโรฮิงญาอยู่อย่างแตกแแยกในรัฐยะไข่ ตั้งแต่เกิดเหตุปะทะกันในปี 2555 ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปมากกว่า 100 คน และความรุนแรงที่ปะทุขึ้นรอบใหม่ ถือเป็นบททดสอบที่ใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาลที่เพิ่งเข้าบริหารประเทศได้เพียง 8 เดือนของซูจี.