รอยเตอร์ - สหประชาชาติได้รับรายงานเกี่ยวกับการข่มขืน และการสังหารชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาในพม่าทุกวัน และผู้ตรวจสอบอิสระยังคงถูกห้ามเข้าไปสืบสวนเหตุการณ์ในพื้นที่ สำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติระบุ
เจ้าชายเซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งว่า รัฐบาลที่นำโดยนางอองซานซูจี ดำเนินการอย่างไม่สร้างสรรค์ ไม่มองการณ์ไกล และเพิกเฉยต่อการจัดการวิกฤต ซึ่งเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อภูมิภาค
สื่อของทางการพม่ารายงานว่า มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 86 คน และสหประชาชาติได้ประเมินว่าสมาชิกของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา 27,000 คน ได้หลบหนีข้ามแดนจากรัฐยะไข่ ของพม่า เข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ
“การไม่พิจารณาถึงคำร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ควบคู่ไปกับความล้มเหลวที่จะอนุญาตให้ผู้ตรวจสอบอิสระเข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงในรัฐยะไข่ เป็นการดูหมิ่นเหยื่ออย่างสูง และไม่ปฏิบัติตามพันธะผูกผันต่อกฎหมายสิทธิมนุยชนสากล” เจ้าชายเซอิด กล่าวในคำแถลง
โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า สำนักงานได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการในการขอเข้าถึงพื้นที่ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต
เอเดรียน เอ็ดเวิร์ด โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวว่า เพื่อนร่วมงานของเขาในบังกลาเทศ ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยเดินทางมาถึงใหม่มากกว่า 1,000 คน ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้
UNHCR ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลที่แท้จริงได้ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่พม่าดำเนินการสืบสวนข้อกล่าวหา และเรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศให้ที่พักแก่ผู้ลี้ภัย
เจ้าชายเซอิด ได้กล่าวเมื่อเดือน มิ.ย. ว่า การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอาจเกิดขึ้น และหากรัฐบาลไม่จัดการสถานการณ์อย่างระมัดระวัง และจัดการต่อความคับข้องใจของชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาอาจเกิดความรุนแรงตามมา
“เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราวิตกว่ามันกำลังเกินกว่าที่จะจัดการได้ ซึ่งจะกลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะความรุนแรงสุดโต่ง”