รอยเตอร์ - กองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าได้ก่อเหตุสังหารหมู่ และรุมข่มขืนชาวมุสลิมโรฮิงญา และเผาหมู่บ้านนับตั้งแต่เดือน ต.ค. ในการดำเนินการที่อาจเทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาจเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ระบุวันนี้ (3)
“พยานได้ให้การว่ามีการฆ่าทารก เด็กเล็ก เด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ เปิดฉากยิงใส่ผู้คนที่กำลังหลบหนี เผาหมู่บ้าน กักขังผู้คนจำนวนมาก ข่มขืนหมู่ และความรุนแรงทางเพศ เจตนาทำลายอาหาร และแหล่งอาหาร” รายงานระบุ
ผู้หญิงรายหนึ่งกล่าวต่อผู้สืบสวนสหประชาชาติถึงเหตุการณ์ที่ลูกชายวัย 8 เดือนของเธอถูกปาดคอ ส่วนพยานอีกคนหนึ่งถูกทหารข่มขืน และต้องเห็นลูกสาวอายุ 5 ขวบ ถูกฆ่าเพราะพยายามจะเข้ามาหยุดทหาร
“การทำลายล้างอย่างโหดร้ายต่อเด็กโรฮิงญาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทนรับได้” เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง
ผู้คนราว 66,000 คน ได้หลบหนีออกจากพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศ ตั้งแต่ที่ทหารพม่าเริ่มปฏิบัติการด้านความมั่นคงตอบโต้เหตุโจมตีด่านชายแดนตำรวจเมื่อวันที่ 9 ต.ค. รายงานสหประชาชาติระบุ และสำนักงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ ได้ปรับเพิ่มตัวเลขผู้หลบหนีข้ามแดนที่จำนวนทั้งสิ้น 69,000 คน
“ปฏิบัติการกวาดล้างพื้นได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายยร้อยคน บางคนถูกยิงจากเฮลิคอปเตอร์หรือทิ้งระเบิดเข้าใส่” รายงานสหประชาชาติระบุ
ผู้สืบสวนสหประชาชาติ 4 คน ได้รวบรวมหลักฐานเมื่อเดือนก่อนจากเหยื่อชาวโรฮิงญา และผู้เห็นเหตุการณ์ 220 คน ที่หลบหนีพื้นที่ปิดล้อมในเมืองหม่องดอ รัฐยะไข่ มายังเมืองคอกซ์บาซาร์ ในบังกลาเทศ เกือบครึ่งหนึ่งระบุว่า สมาชิกครอบครัวถูกฆ่า หรือหายตัว ขณะที่ผู้หญิง 101 คน รายงานว่า ถูกข่มขืน หรือตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ
ผู้สืบสวนยังได้รวบรวมหลักฐานทั้งที่เป็นภาพถ่ายกระสุน และบาดแผลจากมีด รอยไหม้ และการบาดเจ็บที่เป็นผลจากการทำร้ายด้วยพานท้ายปืน หรือไม้ไผ่
ชะตากรรมของชาวโรฮิงญาไร้สัญชาติ ที่อยู่ในสภาพแบ่งแยกในรัฐยะไข่ ยังเป็นประเด็นความขัดแย้งยาวนานระหว่างบังกลาเทศและพม่า
พม่า ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ที่นางอองซานซูจี เป็นผู้นำในทางพฤตินัย ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเกือบทั้งหมดของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ และระบุว่า การปราบปรามของทหารดำเนินตามกฎหมาย
ในนครย่างกุ้ง โฆษกสำนักงานประธานาธิบดีถิ่น จอ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่เห็นรายงานในเรื่องนี้
“เราจะตรวจสอบรายงานจากสหประชาชาติ และเราจะตอบสนอง ทั้งที่เป็นคำแถลงอย่างเป็นทางการ หรือการตอบคำถามระหว่างบุคคล” ซอ เต กล่าว
ในขณะที่ปฏิเสธการเข้าถึงพื้นที่ขัดแย้งของผู้สังเกตการณ์ และผู้สื่อข่าวอิสระ เจ้าหน้าที่พม่าได้กล่าวหาชาวโรฮิงญา และผู้ลี้ภัยบิดเบือนสร้างเรื่องราวการสังหาร การทำร้าย การข่มขืน และวางเพลิง ในความร่วมมือกับผู้ก่อความไม่สงบ ที่ทางการพม่าระบุว่า เป็นผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องต่อกลุ่มหัวรุนแรงในต่างประเทศ
ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องปฏิกิริยามุ่งมั่นเอาจริงเอาจังจากประชาคมโลก และกล่าวว่า พม่าต้องยอมรับความรับผิดชอบต่อการกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนของตัวเอง
รายงานกล่าวว่า การโจมตีชาวโรฮิงญาดูเหมือนจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และเป็นระบบ แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างมาก
บังกลาเทศ ตัดสินใจที่จะย้ายชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หลบหนีความรุนแรงในพม่าไปยังเกาะในอ่าวเบงกอล ตามการเปิดเผยของรัฐมนตรีบังกลาเทศเมื่อวันพุธ (1) ซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่า เกาะดังกล่าวไม่สามารถอยู่อาศัยได้ แต่รัฐมนตรีระบุว่า การเคลื่อนย้ายเป็นแค่เพียงชั่วคราว และในท้ายที่สุดพม่าจะต้องรับโรฮิงญาเหล่านี้กลับประเทศ.
.
.