MGRออนไลน์ -- ทางการกรุงฮานอยจะวิ่งทดสอบระบบรถบัสโดยสารด่วนขนส่งมวลชน หรือ BRT (Bus Rapid Transport) ในวันพฤหัสบดี 15 ธ.ค.นี้ เป็นการทดสอบทางเทคนิคและระบบอื่นๆ ก่อนเปิดให้บริการ ในวันขึ้นปีใหม่ 2560 ซึ่งจะเป็นระบบขนส่งมวลชนสายแรก ที่สร้างเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในขั้นวิฤติ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ภาพที่สื่อออนไลน์นำเสนอวันพุธที่ผ่านมา แสดงให้เห็นคนงานกับเจ้าหน้าที่ กำลังเร่งการก่อสร้างสถานีจอดของรถ BRT ราว 20 แห่ง ที่ยังไม่แล้วเสร็จ บางแห่งเพิ่งถมทราย บางแห่งกำลังปูอิฐ และ เพิงพักสำหรับผู้โดยสารยังไม่ได้มุงหลังคา ทั่วอาณาบริเวณยังคละคลุ้งฝุ่นตลบ จากการก่อสร้างและจากยวดยานที่แล่นผ่านไปมา
ตามรายงานของซเวินเหวียดออนไลน์ คืนวันพุธที่ผ่านมาทั้งคืน เจ้าหน้าที่กับคนงาน จะต้องติดตั้งระบบไฟฟ้า ที่สถานีต้นทาง และ ปลายทางให้แล้วเสร็จ ต้อนรับการแล่นทดสอบ
รถ BRT สายนี้ มีระยะทาง 14 กิโลเมตร ระหว่างถนนกิมหมา (Kim Ma) กับถนนเอียนเหงีย (Yen Nghia) โดยจะใช้เวลาวิ่งราว 30 นาที เทียบกับการเดินทางฝ่าการจราจรติดขัด ด้วยพาหนะชนิดอื่น ที่อาจจะต้องใช้เวลาชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง ในช่วงเร่งด่วน
รถบัสด่วนขนส่งมวลชนสายนี้ จะนำผู้โดยสารเดินทางผ่านถนนสายหลักหลายสาย อันเป็นที่ตั้งของร้านอาหาร อาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย รวมทั้งสถานทูตานุทูตต่างๆ ด้วย
ระบบรถ BRT สร้างขึ้นมาบนหลักการที่ว่า รถบัสสามารถแล่นได้เร็วขึ้น และ ให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพกว่า บนทางวิ่งเฉพาะของตัวเอง โดยไม่มียวดยานชนิดอื่นร่วมใช้ และ ไม่อนุญาตให้จอดยานพาหนะใดๆ ที่บริเวณป้ายจอด อันเป็นที่สำหรับผู้โดยสารขึ้นลง การก่อสร้างระบบ BRT กรุงฮานอย เริ่มเมื่อปี 2556 ตามกำหนดเดิมจะต้องเปิดให้บริการ ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ต้องเลื่อนออกมา 1 ปีเต็ม
นี่คือหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลวง หลากหลายระบบ ที่การก่อสร้างล่าช้ามาตลอด รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใต้ดิน-บนดิน หรือ MRT (Metropolitan Rail Transport) สายแรก ที่สร้างด้วยเงินกู้จากรัฐบาลจีน เลื่อนเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2556 หลังจากฮานอยปรับแผนต่อขยายเส้นทาง ทำให้งบประมาณบานปลาย
เวียดนามเพิ่งเซ็นสัญญากู้ยืมจากรัฐบาลจีนอีกก้อนหนึ่ง เมื่อไม่กี่วันมานี้ ระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่งโดย นายเหวียนซวนฟุก นายกรัฐมนตรี และ บริษัทจีนผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้ให้คำมั่นว่าจะแล่นทดสอบ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายแรกให้ได้ในเดือน ก.ค.ปีหน้า
กรุงฮานอยในยุคใหม่กำลังเร่งแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด รวมทั้งการห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นแล่นบนทางลอยฟ้า และ ทางข้ามแยก ห้ามใช้ถนนหลายสายในช่วงชั่วโมงร่งด่วน และ ยังมีอีกหลายมาตรการ ที่จะทำให้เมืองหลวงกลายเป็น "เขตปลอดรถจักรยานยนต์" ให้ได้ภายในปี 2570 โดยให้ประชาชนทั่วไป หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่และทันสมัยแทน
ตามรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรส ตัวเลขประมาณการประจำปี 2558 กรุงฮานอย มีประชากร 7.4 ล้านคน ไม่นับแรงงานอพยพ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 9.24% รถจักรยานยนต์ที่มีอยู่ 5 ล้านคัน ถูกกล่าวหาเป็นตัวการใหญ่ทำให้จราจรติดขัดอย่างหนัก สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ยังไม่นับรวมความเสียหายด้านสภาพแวดล้อมและอื่นๆ.
.
2
3