ระยอง-เริ่มแล้ว!!! 1 ธันวาคม รถตู้โดยสารวิ่งระหว่างจังหวัดระยองไปจังหวัดอื่นๆ ต้องเข้าสถานีแห่งที่ 2 ต.ทับมา ตามคณะทำงานจัดระเบียบรถโดยสาร ส่งผลกระทบผู้โดยสารต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น
วันนี้ (1 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานหลังคณะทำงานจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะ ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. )โดยมี นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธาน ประกอบด้วย ทหารพัน ร.6 ขนส่งจังหวัด ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองระยอง เทศบาลฯและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง มีมติกำหนดให้รถโดยสารหมวด 1 และหมวด 2 (วิ่งรับส่งผู้โดยสารในเขตจังหวัดระยอง) เข้าใช้สถานีขนส่งจังหวัดระยองแห่งที่ 1 (แห่งเก่า ศูนย์การค้าสตาร์) ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง และรถโดยสารหมวด 2 และหมวด 3 (วิ่งรับส่งผู้โดยสารจากระยองไปกรุงเทพฯ หรือจากระยองไปยังจังหวัดอื่นๆ) เข้าใช้สถานีขนส่งจังหวัดระยองแห่งที่ 2 (แห่งใหม่) ต.ทับมา เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนั้น
โดยบรรยากาศวันนี้เป็นวันแรกมีรถตู้โดยสาร และรถโดยสาร วิ่งระหว่างจังหวัดเข้าไปจอดในสถานีขนส่งแห่งที่ 2 แล้ว รถโดยสารหรือรถสองแถวรับจ้าง วิ่งระหว่างสถานีขนส่งแห่งที่ 2 ไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ 1 เริ่มเข้ามารับผู้โดยสาร โดยคิดราคาค่าโดยสารคนละ 15 บาท รถจักรยานยนต์รับจ้าง ไปยังสถานีขนส่งแห่งที่ 1 ราคาค่าโดยสารคนละ 90 บาท
ด้านนายโชดก วิริยะพงษ์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง ในฐานะประธานกรรมการสถานีขนส่งแห่งที่ 2 กล่าวว่า สถานีขนส่งแห่งที่ 2 เป็นภารกิจการถ่ายโอนให้ อบจ.ระยอง เป็นการถ่ายโอนเฉพาะสถานีเท่านั้น ไม่ได้ถ่ายโอนเรื่องอำนาจหน้าที่ โดย อบจ.ระยอง ต้องตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายดูแลซ่อมบำรุงเท่านั้น พื้นที่สถานีขนส่งแห่งที่ 2 ประมาณ 10 ไร่ ต.ทับมา อ.เมืองระยอง มีรถโดยสาร (รถบัส) วิ่งระหว่างจังหวัดวิ่งเข้าสถานีประมาณ 281 เที่ยวต่อวัน ไม่รวมรถบัสโดยสารวิ่งจากอำเภอปลวกแดง อำเภอนิคมพัฒนา และอำเภอบ้านฉาง ไม่ได้เข้าสถานีขนส่งแห่งที่ 2 ส่วนรถตู้โดยสารวิ่งระหว่างจังหวัด ที่เข้าสถานีขนส่งแห่งที่ 2 มีประมาณ 100 กว่าคัน ทยอยกันเข้ามา
นายโชดก วิริยะพงษ์ ประธานกรรมการสถานีขนส่งแห่งที่ 2 กล่าวว่า หลังคณะทำงานจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะวิ่งระหว่างจังหวัด ต้องเข้ามาใช้สถานีขนส่งแห่งที่ 2 ซึ่งวันนี้เป็นแรกของการบังคับใช้ ตามนโยบายการจัดระเบียบรถโดยสาร ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสาร ว่า จังหวัดระยอง เป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะเอาไปเปรียบกับจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ไม่ได้ จังหวัดระยอง มีรถตู้โดยสารประจำทางประมาณ 200 กว่าคัน
และจากการสำรวจพบว่า มีรถตู้ และรถบัสโดยสารไม่ประจำทางมีจำนวนมากกว่า 300% หรือประมาณ 800 คัน ที่วิ่งรับส่งพนักงานโรงงานต่างๆ ซึ่งเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน ซึ่งรถรับส่งพนักงานโรงงานเป็นปัญหาต่อการจราจรในตัวเมืองระยองเป็นอย่างมาก ซึ่งรถรับส่งพนักงานจำนวน 800 คันดังกล่าวจะต้องมีการจัดระเบียบเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในตัวเมืองระยอง
สำหรับการย้ายรถโดยสารเข้าไปใช้สถานีขนส่งแห่งที่ 2 เป็นการย้ายที่เร็วเกินไป ความเหมาะสมควรจะรอรถไฟเกิดขึ้นก่อน เพราะเมื่อมีรถไฟแล้วระบบลอจิสติกส์ของ จ.ระยอง ก็จะเปลี่ยนไปรถโดยสารควรจะไปอยู่ใกล้บริเวณสถานีรถไฟ การจัดระเบียบจะง่ายขึ้น ส่วนรถสองแถวให้มาใช้สถานีขนส่งแห่งที่ 2 การย้ายรถโดยสารมาใช้สถานีแห่งที่ 2 เร็วเกินไปทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ผู้โดยสารต้องนั่งรถโดยสารจากสถานีเก่ามาสถานีใหม่ ต้องเสียค่าโดยสารคนละ 15 บาท รถจักรยานยนต์รับจ้างคนละ 90 บาท และในช่วงเวลากลางคืนอันตรายมากเนื่องจากสถานีอยู่ห่างไกลตัวเมือง
ผู้สื่อข่าวสอบถามผู้โดยสารที่นั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างมาจากสถานีขนส่งเก่าให้มาส่งที่สถานีแห่งใหม่ ราคา 100 บาท จะให้รอนั่งรถสองแถวต้องรอเสียเวลานาน มีธุระจำเป็นต้องรีบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เสียเงิน 100 บาทก็ต้องยอม สำหรับคนที่มีบ้านพักอยู่ห่างไกลสถานีเก่า ต้องนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างให้มาส่งที่สถานีแห่งใหม่ราคา 130 บาท ฝากหน่วยงานที่รับผิดชอบ สัญญาณไฟบริเวณแยกเข้าสถานีขนส่งใช้การไม่ได้ เกรงจะเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดได้รับผลกระทบแน่