“บขส.” ทุ่มงบกว่า 145 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่บริเวณใต้ทางด่วน ถนนกำแพงเพชร 2 ก่อสร้างสถานีจอดรถตู้โดยสาร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการประชาชน คาดแล้วเสร็จพร้อมให้บริการ 1 พ.ค. 2560 หลังย้ายรถตู้เข้าสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่มีปัญหาพื้นที่แออัด ที่พักผู้โดยสารไม่เพียงพอ
พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม กรรมการบริษัทฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานตามคำสั่งคณะกรรมการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหารถตู้โดยสารโดยสารสาธารณะ โดยมี พ.อ.สุวิทย์ เกตุศรี รองผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ เป็นประธาน และ พ.อ.สมบัติ ธัญญะวัน เสนาธิการ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ผู้แทนจากกรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมว่า เพื่อให้การจัดระเบียบรถตู้โดยสารเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในส่วนของการใช้พื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) เป็นพื้นที่จอดรถตู้ พบว่า ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องความแออัดของพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ที่พักคอยผู้โดยสาร ไม่เพียงพอ บขส.จึงมีแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณใต้ทางด่วน ถนนกำแพงเพชร 2 ตรงข้ามสถานีขนส่งฯ จตุจักร เป็นสถานีจอดรถตู้โดยสารที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องพักผู้โดยสาร ร้านค้า ห้องน้ำ และที่จอดรถ โดยใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 145 ล้านบาท ทั้งนี้ บขส.จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560
สำหรับสถานีจอดรถตู้โดยสารตั้งอยู่บริเวณใต้ทางด่วน ถนนกำแพงเพชร 2 มีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ แบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 เฟส โดยเฟสแรก บขส.จะพัฒนาเป็นสถานีจอดรถตู้โดยสาร ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียว (อาคารเบา) เป็นสถานีปิด มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สามารถจอดรถตู้โดยสารได้ 154 ช่องจอด มีที่จอดรถยนต์ให้ผู้มาใช้บริการสถานีฯ ประมาณ 110 คัน จักรยานยนต์ 200 คัน และสามารถรองรับผู้โดยสารในช่วงเวลาที่หนาแน่นได้ถึง 1,500-2,000 คน ซึ่งปกติผู้โดยสารรถตู้ที่สถานีขนส่งฯ จตุจักร จะมีวันละ 30,000 คน ส่วนพื้นที่เฟส 2 และ เฟส 3 จะใช้เป็นที่จอดรถสำรองวินรถตู้, รถโดยสารขนาดใหญ่ และในอนาคตจะสร้างสะพานลอยเชื่อมต่อระหว่างสถานีขนส่งฯ จตุจักร กับสถานีจอดรถตู้โดยสารด้วย
อย่างไรก็ตาม ตามที่ บขส.ได้ดำเนินการตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร วิ่งเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด ระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร เข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร, สายใต้ปิ่นเกล้า, เอกมัย) พบว่า ปัญหาร้องเรียนที่เกิดจากรถตู้โดยสารลดลง สามารถควบคุมดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของรถตู้โดยสาร รวมถึงแก้ปัญหาจราจร และปัญหาผู้มีอิทธิพลได้