xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเขมรร้องดูดทรายกันหนักทำปูปลา-ชายหาดหายวับ รัฐรับปากเข้าตรวจสอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เครื่องจักรขุดทรายขึ้นจากพื้นน้ำใกล้เกาะเสราะเลา ในกัมพูชา ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่าการขุดลอกทรายที่ผลิตกันในระดับอุตสาหกรรมส่งผลกระทบความเป็นอยู่ของชาวประมงในพื้นที่ ทำให้ประชากรปู ปลาที่เคยมีอยู่เป็นจำนวนมากลดลง และยังทำให้ชายหาด 7 แห่งหายสูญไป. --  Reuters/Chris Arsenault.</font></b>

รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่กัมพูชาได้รับปากที่จะเข้าตรวจสอบปัญหาในธุรกิจเหมืองทรายหลังมีคำร้องเรียนจากชาวประมงว่า เรือขุดลอกทรายขโมยชายฝั่งทะเลของพวกเขาจากการผลิตทรายในระดับอุตสาหกรรม

“การดำเนินการอย่างจริงจังจะเกิดขึ้นต่อผู้ใดก็ตามที่ส่งออกทรายอย่างไม่เหมาะสม” รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง

ความเคลื่อนไหวของกระทรวงมีขึ้นหลังการเผยแพร่ข้อมูลการค้าของสหประชาชาติ ที่รวบรวมโดยนักรณรงค์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พบว่า สิงคโปร์ นำเข้าทรายเขมรมากกว่า 72 ล้านตัน นับตั้งแต่ปี 2550 ขณะที่รัฐบาลกัมพูชารายงานว่า ได้ส่งออกทรายในจำนวนที่น้อยกว่า 3 ล้านตัน ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งข้อมูลที่ขัดแย้งกันนี้ ที่มีมูลค่ามากกว่า 740 ล้านดอลลาร์ ทำให้พันธมิตรกลุ่มรณรงค์เรียกร้องการสอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้นต่อทรายที่หายไปประมาณ 69 ล้านตัน

“การทำเหมืองผิดกฎหมายนั้นมีจำนวนมหาศาลอย่างมาก” สม จันดารา นักเคลื่อนไหวของกลุ่ม Mother Nature หนึ่งในกลุ่มที่ตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลเกี่ยวกับการส่งออกทราย กล่าว

กระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน ให้คำมั่นที่จะสืบสวนสาเหตุของความแตกต่างระหว่างข้อมูลของสหประชาชาติ และของรัฐ

รัฐบาลยืนยันว่า ได้กำจัดการขุดลอกทรายผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด แต่คำแถลงที่โพสบนเฟซบุ๊กระบุว่า อุตสาหกรรมขุดลอกทรายยังเผชิญต่อความท้าทายบางอย่าง

ด้วยเมืองต่างๆ ทั่วเอเชียกำลังขยายตัวขึ้น และความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มสูง นักรณรงค์กล่าวว่า การทำเหมืองทรายในระดับอุตสาหกรรมส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศชายฝั่ง และที่ดิน

“ชายหาด 7 แห่ง หายไปแล้วเพราะการทำเหมือง” ชาวประมงบนเกาะเสราะเลา ห่างจากกรุงพนมเปญ ไปทางตะวันตกราว 300 กิโลเมตร ที่เป็นจุดที่มีการทำเหมืองทรายกันเป็นจำนวนมาก ระบุ

ชาวบ้านในหมู่บ้าน กล่าวว่า การดูดทรายทำให้ชุมชนชาวประมงที่ครั้งหนึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองกลายมาเป็นยากจนแร้นแค้น

เครนขนาดใหญ่ และเรือท้องแบนปรากฏให้เห็นตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลของป่าชายเลนในปี 2543

ก่อนที่เครื่องดูดทรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นของนักธุรกิจชาวกัมพูชาที่มีเส้นสายทางการเมือง และมักดำเนินการโดยบริษัทเวียดนามจะเริ่มเข้ามาดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ ชาวประมงท้องถิ่นรายหนึ่งระบุว่า เคยทำรายได้จากการจับปูมากกว่า 50 ดอลลาร์ต่อวัน แต่ในเวลานี้มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า 10 ดอลลาร์ จนไม่สามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้

“จำนวนปลาที่นี่เปลี่ยนไปมาก” ชาวบ้านอีกราย กล่าว

เครื่องจักรขุดลอกทราย และเรือขนทรายปล่อยของเสียลงแม่น้ำโดยตรง ซึ่งบรรดาชาวประมงระบุว่า น้ำมันเหนียวที่เป็นคราบติดอยู่ตามอวนของพวกเขานั้น ทำให้ประชากรปูลดลง

“พื้นดินหายไป ป่าโกงกางบางส่วนก็ทรุดตัว ครอบครัวต้องกู้ยืมเงินจำนวนมาก และเป็นหนี้ เพราะไม่มีปลาให้จับมากพอ” ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าว

“รัฐบาลต้องเข้ามาหยุดการดูดทรายพวกนี้”

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า รัฐบาลได้ระงับการส่งออกทรายของบริษัทต่างๆ ลงชั่วคราว ขณะที่เจ้าหน้าที่สืบสวนข้อกล่าวหาของนักรณรงค์เคลื่อนไหว แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการในการดำเนินการตรวจสอบการทำเหมืองทราย หรือช่วงเวลาที่จะได้ข้อสรุป.
กำลังโหลดความคิดเห็น