MGRออนไลน์ -- การก่อสร้างทางรถไฟจีน-ลาว คืบหน้าครั้งสำคัญในสัปดาห์นี้ เมื่อมีการเซ็นสัญญาหลายฉบับ ทั้งบริษัทที่ปรึกษาและควบคุมการก่อสร้าง แบ่งซอยตามระยะต่างๆ ของการก่อสร้าง ตลอดเส้นทางความยาวกว่า 400 กิโลเมตร โดยบริษัทขนาดใหญ่จากจีนกว่าสิบแห่ง เป็นผู้ชนะการประกวดราคาทั้งหมด อันเป็นการสิ้นสุดในกระบวนการจัดหาจัดซื้อและจัดจ้าง สำหรับโครงการที่มีมูลค่าก่อสร้าง รวมทั้งหมดเกือบ 6,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะดำเนินไป ตลอด 4-6 ปีข้างหน้า
พิธีเซ็นสัญญาหลายฉบับ จัดขึ้นในนครเวียงจันทน์ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยนายบุนจัน สินทะวง กรรมการศูนย์กลางพรรค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง นายกวนฮว่าผิง เอกอัครรัฐทูตจีนประจำลาว เข้าร่วมเป็นเกียรติ พร้อมนายหวังดีฟู ประธานคณะกรรรมการบริหาร บริษัทร่วมทุนทางรถไฟจีน-ลาว แขกรับเชิญจากภาคส่วนต่างๆ เป็นจำนวนมาก สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน
ครั้งนี้เป็นการเซ็นสัญญารับเหมาก่อสร้าง สัญญาที่ปรึกษาการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างส่วนที่ 3 ของทางรถไฟ หลังจากได้มีการคัดเลือกและประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ระยะ ที่ 1-5 บริษัทที่ปรึกษาและควบคุมการก่อสร้างสัญญาที่ 1-3 และ บริษัทที่ปรึกษาส่วนที่ 3 สัญญา 1-3 ของโครงการ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ปีนี้
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริหารบริษัทร่วมทุน ได้ทำหนังสือถึงบริษัทต่างๆ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เข้าร่วมการประกวดราคา ประกอบด้วยบริษัทรับเหมาก่อสร้าง 10 แห่ง บริษัทที่ปรึกษา 8 แห่ง และ บริษัทที่ปรึกษาสำหรับส่วนที่ 3 อีก 7 บริษัท ซึ่ง "คณะกรรมการฯ ได้ตรวจตราเอกสารการประกวดราคา และ ดำเนินการพิจารณาราคาอย่างละเอียดรอบครอบ โปร่งใส และเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบหลักการจัดซื้อ-จัดจ้าง ทั้งถูกต้องตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเอกสารการประกวดราคา" ขปล.กล่าว
สำหรับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 5 สัญญา ซึ่งผู้ชนะการประกวดราคาได้แก่ บริษัทก่อสร้างรถไฟหมายเลข 5 จีน, บริษัทก่อสร้างทางรถไฟสากลจีน, บริษัทก่อสร้างทางรถไฟหมายเลข 8 จีน, บริษัทซิโนไฮโดรกรู๊ป และ บริษัทก่อสร้างไฟฟ้าจีนจำกัด
ส่วนบริษัทที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างแบ่งเป็น "2 สัญญา +1" (อีก1 สัญญา เป็นสัญญาเพิ่มเติม หรือ Addendum สัญญาที่ 1) ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ บริษัทที่ปรึกษาวิศวรกรรมก่อสร้างเทียนสิน บริษัทที่ปรึกษา CIECC หรือ China International Engineering Consulting Corp ร่วมกับบริษัทกานสูเตียเค่อ (Gansu Tieke) และ สัญญาเพิ่มเติมได้แก่บริษัทที่ปรึกษาวิศกรรมสางเสิงเหอหนาน
ส่วนบริษัทที่ปรึกษาช่วงที่ 3 ผู้ชนะการประกวดราคาได้แก่ บริษัทที่ปรึกษาและตรวจตราทางเทคนิคอู่ฮั่นเทียะเจิง, สถาบันที่ปรึกษาตรวจตามทางเทคนิครถไฟจีน และ บริษัทที่ปรึกษาฉงเทียะสีชุนปักกิ่ง
นับเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง สำหรับแผนการเชื่อมต่อระหว่างจีน กับบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียน ลงไปจนถึงมาเลเซีย และ สิงคโปร์ รวมทั้งสำหรับลาว ที่ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่จะช่วยเปลี่ยนฐานะประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ให้เป็น "ประเทศแห่งการเชื่อมต่อ" อันเป็นหนึ่งในบรรดายุทธศาสตร์หลัก ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
.
2
ตามประมาณการดังเดิม ทางรถไฟจีน-ลาวมีมูลค่าการลงทุนราว 40,000 ล้านหยวน (ราว 7,000 ล้านดอลลาร์) แต่ต่อมาลดลงเหลือเพียง 5,900 ล้านดอลลาร์เศษ เริ่มจากบริเวณด่านชายแดนบ่อแตน-บ่อหาน แขวงหลวงน้ำทาไปถึงนครเวียงจันทร์ รวมเป็นระยะทางทั้งหมด 416 กิโลเมตร ผ่านเมืองไซ แขวงอุดมไซ เมืองหลวงพระบาง และ วังเวียง
ตามตัวเลขล่าสุดที่ รมว.โยธาธิการและขนส่งลาว อภิปรายในสภาแห่งชาติ วันพฤหัสบดี 27 ต.ค.นี้ ทางรถไฟจะเป็นทางยกระดับ รวมยาว 175.59 กม. คิดเป็น 41.10% มีการก่อสร้าวงสะพาน 170 แห่ง รวมเป็นความยาว 69.20 กม. คิดเป็น 15.50% ในนั้นรวมทั้งสะพานข้ามแม่น้ำโขงจำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่แขวงหลวงพระบาง นอกจากแนั้นมีงานก่อสร้างระบบท่อต่างๆ 567 แห่ง รวมความยาว 21.60 กม. ก่อสร้างอุโมงค์ 72 แห่ง รวมความยาว 193.90 กม. คิดเป็น 43.07% ในนั้นมีอุโมงค์ที่ยาว 7 กม.ขึ้นไป จำนวน 7 แห่ง อุโฒงค์ยาวที่สุด ยาว 9.50 กม.
รัฐบาลลาวถือหุ้น 35% ฝ่ายจีนอีก 65% เป็นทางรถไฟรางเดี่ยวใช้พลังไฟฟ้า ขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า ด้วยความเร็ว 160 กับ 120 กม./ชม. ตามลำดับ ขนส่งสินค้าได้ 3,000 ตันต่อเที่ยว สามารถปรับขึ้นเป็น 4,000 ตันได้ในอนาคต
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ "ทางรถไฟจะช่วยส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของลาวอย่างมากมาย ยกระดับสมรรถภาพการขนส่งของลาวให้สูงขึ้น และ จะสร้างโอกาสการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนอย่างมากมาย" สื่อของทางการรายงานก่อนหน้านี้
เดือน พ.ย.2558 นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปร่วมงานนิทรรศการสินค้าจีน-อาเซียน ในนครปักกิ่ง และ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการเซ็นเอกสารความตกลงหลายฉบับ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหาต่างๆ เพื่อลงมือก่อสร้างทางรถไฟสายวิบากนี้ และ ต่อมาในช่วงปลายเดือนทางการจีนก็ได้ตกลง ให้เงินกู้แก่รัฐบาลลาว 500 ล้านดอลลาร์ ผ่านธนาคารนำเข้าและส่งออกจีน อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี เพื่อให้รัฐบาลลาวเข้าถือหุ้นในโครงการ
เงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์ทำให้โครงการใหญ่ได้เกิด และ นำไปสู่พิธีวางศิลาฤกษ์ ที่ไซต์ก่อสร้าง วันที่ 2 ธ.ค.2558 อันเป็นวันครบรอบ 40 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
.
3
รถไฟลาว-จีน ต้องใช้ที่ดิน รวมพื้นที่กว่า 3,000 เฮกตาร์ (18,750 ไร่) ประกอบด้วยที่ดินสองข้างทางตลอดเส้นทาง ข้างละ 50 เมตร ช่วงเข้าออกอุโมงค์แต่ละแห่ง ข้างละ 50 เมตร และ ยาว 100 เมตร สถานีจอดขนาดใหญ่ 3 จุด คือ เมืองหลวงพระบาง เมืองวังเวียง กับ ในนครเวียงจันทน์ ต้องใช้ที่ดินขนาด 3,000x500 เมตร สถานีขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง คือ ที่บ่อแตน นาเตย นาหม้อ เมืองงา กับเมืองกาสี จะใช้ที่ดินขนาด 2,000x500 เมตร
รัฐบาลลาวได้ออกนโยบายพิเศษ 6 ข้อ ครอบคลุมตั้งแต่เรื่อง การจ่ายเงินชดเชยแห่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ "อย่างเหมาะสมที่สุด" จนถึงสิทธิ์ในการใช้ที่ดิน (ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทร่วมทุน -- บก.) การเก็บค่าอากร (ขาเข้า-ขาออก) ค่าธรรมเนียมทรัพยากร ภาษีนำเข้า และ การเก็บค่าธรรมเนียมในการอยู่อาศัย และการทำงานของแรงงานต่างประเทศ (จากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน -- บก.) กับมาตรการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนโครงการก่อสร้าง
การใช้ที่ดินจำนวนมากได้กลายเป็นประเด็นสร้างความแคลงใจ ให้แก่คนในสังคมมากที่สุด
นายสุพัน แก้วมีไซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแผนการและการลงทุน ได้ตอบคำถามเรื่องนี้ ในการประชุมสภาแห่งชาติ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า การเว้นที่ดินข้างทางข้างละ 50 เมตรนั้น มีเหตุผล 4 ประการ คือ สงวนที่ดินไว้ตามมาตรการทางเทคนิค ของการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง, เพื่อความปลอดภัยเนื่องจากรถไฟแล่นด้วยความเร็วสูง เพื่อสะกัดกั้นสัตว์หลงเข้าไป และป้องกันต้นไม้ใหญ่ล้มทับเส้นทาง, สงวนเนื้อที่สำหรับก่อสร้าง เป็นเส้นทางคู่ในอนาคต และ การสงวนที่ดินเหล่านี้ไว้ ไม่ได้มีจุดประสงค์ นำไปใช้เพื่อการอื่น ใช้เฉพาะเป็นแนวเส้นทางรถไฟเท่านั้น
โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลง เมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ว่า สินแร่หรือสิ่งของล้ำค่าใดๆ ก็ตาม ที่ขุดค้นพบตามแนวทางก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ ไม่สามารถนำออกจากประเทศได้ และ เป็นทรัพย์สินแผ่นดินของ สปป.ลาว กับ ประชาชนลาว
การก่อสร้างทางรถไฟสายยาว ยังมีการเตรียมการอีกหลายด้าน ช่วงกลางปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จีนที่เกี่ยวข้องได้เดินทางเยือนลาว และ มีการจัดประชุมร่วมกับทางการแขวงหลวงพระบาง เพื่อให้มีหลักประกันด้านอาหาร สนองความต้องการของคนงาน (ที่เชื่อกันว่ามีจำนวนนับหมื่นคน) ที่จะเข้าพักอาศัยและทำงานในลาว ตลอดหลายปีข้างหน้า นอกจากนั้นยังมีมาตรการ รักษาความปลอดภัยอีกจำนวนหนึ่งด้วย.