รอยเตอร์ - ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ถูกส่งกลับประเทศด้วยความสมัครใจกลุ่มแรก จำนวน 68 คน จากค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า เริ่มขึ้นในวันนี้ (25) ที่หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเรียกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นว่า เป็นก้าวสำคัญ
การเดินทางกลับประเทศของผู้ลี้ภัยนับเป็นครั้งแรกที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย และพม่า ตามการระบุของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และในค่ายผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 แห่ง ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่นับแสนคน ซึ่งการเดินทางกลับประเทศนั้นเป็นความฝันที่เป็นไปไม่ได้เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจของพม่า แต่การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของอองซานซูจี เข้าบริหารประเทศเมื่อต้นปีนี้
การเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยเริ่มต้นขึ้นในวันนี้ (25) โดยเป็นผู้ลี้ภัยหนึ่งครอบครัวจากค่ายใน จ.ราชบุรี และจะมีผู้ลี้ภัยอีกมากกว่า 12 ครอบครัว จากค่ายใน จ.ตาก เดินทางในวันพุธ (26) เอียน ฮอลล์ ผู้ประสานงานภาคสนามอาวุโสของ UNHCR กล่าว
“การเคลื่อนไหวเช่นนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญ แต่ยังไม่ใช่การเริ่มต้นการอพยพของผู้คนขนาดใหญ่” ฮอลล์ กล่าว
“รัฐบาลพม่าปรับเปลี่ยนท่าที และออกหนังสือสำคัญประจำตัวระบุว่า คนเหล่านี้เป็นพลเมือง บรรดาผู้ที่เลือกจะเดินทางกลับตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้รับจากครอบครัวในพม่าว่าปลอดภัยที่จะกลับไป” ฮอลล์ กล่าว
ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่ง ตามแนวชายแดน ยังมีผู้ลี้ภัยอาศัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอยู่อีกประมาณ 103,000 คน ซึ่งบางคนอาศัยอยู่ในค่ายมานานกว่า 30 ปี และเกือบ 80% เป็นชาวกะเหรี่ยงจากพื้นที่ภาคตะวันออกของพม่า ที่หลบหนีความขัดแย้งทางอาวุธ และมักถูกกดขี่ข่มเหงภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร
โก โก นาย เจ้าหน้าที่อาวุโส จากกระทรวงสวัสดิการสังคม บรรเทาทุกข์ และตั้งถิ่นฐานของพม่า กล่าวว่า ประเทศพร้อมที่จะรับผู้ที่เดินทางกลับ
“คนเหล่านี้ต้องการเดินทางกลับพม่าด้วยความตั้งใจของตัวเอง” โก โก นาย กล่าว
แม้ฝ่ายไทยมีความต้องการที่จะปิดค่ายเหล่านี้อย่างถาวร แต่เจ้าหน้าที่ของ UNHCR ระบุว่า ยังไม่ถึงเวลา แต่แน่นอนว่าคนเหล่านี้มีสิทธิที่จะเดินทางกลับประเทศหากต้องการ แม้พม่ายังคงมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะ รวมทั้งในรัฐยะไข่.