รอยเตอร์ - ทางการพม่าเพิ่มการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมใกล้กับชายแดนบังกลาเทศ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่พม่าวันนี้ (10) ขณะที่เจ้าหน้าที่ออกตามล่าผู้โจมตีที่เป็นต้นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตอย่างน้อย 9 นาย
เจ้าหน้าที่เชื่อว่า สมาชิกของชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาอยู่เบื้องหลังการโจมตี 3 จุด ในช่วงก่อนรุ่งสางของวันอาทิตย์ (9) ด้วยอาวุธ และกระสุนมากกว่า 10,000 นัด ที่ยึดไปจากตำรวจชายแดน
จากเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย สูญหาย 1 นาย และอีก 5 นาย ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ฝ่ายผู้โจมตีเสียชีวิต 8 คน และจับตัวได้ 2 คน ตำรวจระบุ
ชาวโรฮิงญา ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ไร้สัญชาติ และถูกจำกัดความเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด เป็นประชากรส่วนใหญ่ในรัฐยะไข่ ทางภาคเหนือของประเทศ
เจ้าหน้าที่เมืองหม่องดอ ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุได้ประกาศขยายเวลาบังคับใช้คำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 19.00-06.00 น.
สื่อของรัฐระบุว่า ทหารได้เคลื่อนกองกำลังลงไปยังพื้นที่ทางเฮลิคอปเตอร์ ขณะที่ภาพถ่ายบนสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นรถบรรทุกเต็มด้วยทหารถูกระดมเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ
แต่ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดเผยแพร่ออกมาเกี่ยวกับปฏิบัติการในพื้นที่ใกล้สำนักงานรักษาการณ์ชายแดนที่หมู่บ้านจีกานบะเยง ที่ผู้โจมตีราว 90 คน เข้ายึดอาวุธ และหลบหนีไปในภูเขา
“กองทัพ กองกำลังตำรวจ และกระทรวงกิจการชายแดนได้ทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่ามีการรักษาความปลอดภัย รักษากฎหมาย และความสงบเรียบร้อย” มิน อ่อง รัฐมนตรีในรัฐบาลประจำรัฐยะไข่ กล่าว แต่ปฏิเสธที่จะเผยถึงขนาดของกองกำลังที่ส่งเข้าไปในพื้นที่
กลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนแสดงความวิตกว่า อาจมีพลเรือนติดอยู่ในการกวาดล้าง และในรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันที่ถูกโพสต์ลงบนสื่อสังคมออนไลน์โดยกลุ่มผู้สนับสนุนชาวโรฮิงญา ระบุว่า การปราบปรามด้วยความรุนแรงอาจเกิดขึ้น
เย ตุ๊ต ผู้บริหารเมืองหม่องดอ กล่าวว่า กองกำลังรักษาความปลอดภัยทั้งหมดถูกระดมมาที่เมืองหม่องดอ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลถึงเรื่องความปลอดภัย ขณะที่ชาวมุสลิมในเมืองหม่องดอปิดร้านค้าท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา
แมทธิว สมิธ ผู้ก่อตั้งโครงการ Fortufy Rights กล่าวว่า ข้อจำกัดต่อชาวมุสลิมมีขึ้นในรัฐยะไข่ ที่เป็นรัฐตำรวจ รัฐแบ่งแยกเชื้อชาติ
“การละเมิดสิทธิมนุษยชนในบริบทของการต่อต้านกบฏในรัฐยะไข่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เจ้าหน้าที่มักกล่าวหาชาวโรฮิงญามีส่วนร่วมกับกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง” แมทธิว สมิธ กล่าว
เหตุการณ์ในวันอาทิตย์ (9) นับเป็นวันนองเลือดที่สุดในรัฐนับตั้งแต่ปี 2554 ที่ประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 100 คน ในการปะทะระหว่างชาวโรฮิงญา และชาวพุทธยะไข่ และอีกกว่า 125,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญายังคงไร้ที่อยู่อาศัย
อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ที่ในเดือน ส.ค. ได้แต่งตั้งให้นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าคณะกรรมการที่ปรึกษาต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ได้หารือถึงเหตุโจมตีกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันอาทิตย์ (9) ตามการเปิดเผยของ กอ ทิน เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ
“ที่ปรึกษาแห่งรัฐสั่งให้พวกเขาจัดการปัญหาอย่างรอบคอบตามกฎหมาย” กอ ทิน กล่าวต่อผู้สื่อข่าว
ฝ่ายเจ้าหน้าที่ในบังกลาเทศ กล่าวว่า พม่าปิดชายแดนหลังเกิดเหตุโจมตี และทางการบังกลาเทศได้ระดมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามาเพิ่มเติมที่บริเวณชายแดน
ซอ วิน ผู้บัญชาการตำรวจพม่ากล่าวว่า ตำรวจกำลังสืบสวนความเชื่อมโยงที่อาจเป็นไปได้ระหว่างผู้โจมตี และกลุ่มกบฏ และยังอ้างถึงการทลายยาเสพติดครั้งใหญ่โดยตำรวจในพื้นที่ ที่สามารถยึดยาบ้าได้ราว 6 ล้านเม็ด เมื่อเดือน ก.ย. ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการโจมตีครั้งนี้.