xs
xsm
sm
md
lg

สนั่นสะท้านปฐพี T-50.. ยิงรัวๆ ป. 30 มม.ติดเขี้ยว บ.ยุคที่ 5 "สเตลธ์" รัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>ไม่ได้มีให้เห็นทุกวัน นี่คือปืนใหญ่อากาศขนาด 30 มม. ที่มีอำนาจการยิงยิ่งใหญ่ ยิงได้ไกลกว่ารุ่นเก่า แม่นยำกว่า ความสามารถในการทะทุทะลวงสูงกว่าด้วยกระสุนขนาดเดียวกัน และ ด้วยระบบควบคุมการยิงที่ใหม่กว่าของเดิม ที่ติดตั้งบนเครื่องบินรบค่ายคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต มาตั้งแต่ในยุคสงครามเย็น รัสเซียพัฒนาขึ้นมาเป็นปืนรุ่นใหม่ สำหรับเป็นอาวุธประจำกาย T-50 PAK FA เครื่องบินล่องหนยุคที่ 5 โดยเฉพาะ. </b>

MGRออนไลน์ -- หน่วยงานของทางการรัสเซีย ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตและพัฒนา ทำการทดสอบยิงปืนใหญ่อากาศขนาด 30 มม. รุ่นใหม่ล่าสุด สัปดาห์กลางเดือนที่แล้ว นี่คืออาวุธที่จะใช้ติดตั้งเข้าในด้านหน้า บริเวณใต้ปีกข้างขวาของ T-50 PAK FA เครื่องบินรบยุคที่ 5 เทคโนโลยีล่องหน (Stealth) ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบ รายละเอียดต่างๆ ขณะนี้

เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า ปืนใหญ่อากาศแบบ "ก๊าช" GSh-30-1 สำหรับ T-50 นั้น เป็นปืนที่ได้รับการพัฒนายกระดับ ให้เป็นอาวุธสมัยใหม่ ยิงเร็ว ยิงได้ไกล และ อำนาจการยิงทะลุทะลวงสูง ยิ่งกว่าเดิม ด้วยกระสุนขนาด 30x165 มม. มาตรฐานดั้งเดิม ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต แต่ยังไม่เคยมีผู้ใดเคยได้เห็นของจริง

วิดีโอคลิปชิ้นหนึ่ง ได้แสดงให้เห็นการทดสอบยิงปืนใหญ่ 30 มม. ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 9-A1-4071K แต่หากเป็นรุ่นปรับปรุงใหม่ ยกระดับขึ้นมาจาก "ก๊าช" GSh-30-1 ดั้งเดิม ที่ใช้เป็นอาวุธประจำเครื่องบินรบหลายรุ่น มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เคยมีการติดตั้งปืน 9-A1-4071K บน Su-27SM ซึ่งเป็น "รุ่นท็อป" มาแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นั่นยังไม่ใช่ปืนที่พัฒนาสูงสุด ที่เห็นในคลิปชิ้นนี้

นี่คือปืนใหญ่อาวุธประจำกายสำหรับ "พัคฟา" (Prospective Airborne Complex of Frontline Aviation) อันเป็นชื่อเรียกทั่วไปของ T-50 โดยใช้อักษรย่อชื่อโครงการพัฒนาเครื่องบินรบชั้นเยี่ยมยุคหน้า "สเตลธ์" โดยบริษัทซูคอยเจ้าเก่า เจ้าของผลงาน Su มากมายหลายรุ่น รวมทั้ง Su-35 เครื่องบินรบยุคที่ 4++ กำลังรบหลักทางอากาศในปัจจุบัน

วิดีโอความยาวไม่ถึงครึ่งนาที แสดงให้เห็นการยิงรัวของปืน "ก๊าช" 9-A1-4071K รุ่นใหม่ จากแพล็ตฟอร์มที่ใช้ทดสอบ โดยป้อนกระสุนแบบสายพานจากถาดบรรจุ การทดลองยิงจัดขึ้นในวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่สนามทดสอบของกองทัพอากาศ ชานกรุงมอสโก มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์ Gazatta.Ru
.


.
ต่างไปจากปืนใหญ่อากาศของค่ายตะวันตก ที่นิยมใช้แบบหลายลำกล้อง หรือ ปืนแบบลำกล้องหมุน "แก็ตลิง" (Gatling Gun) และ ไม่ได้หมายความว่าค่ายรัสเซียผลิตปืนแบบนั้นไม่ได้ แต่ปืนใหญ่อากาศของค่ายโซเวียตนั้น แต่ไหนแต่ไรมานิยมใช้ชนิดลำกล้องเดียว ซึ่งผลดีก็คือ ช่วยลดน้ำหนักของปืนโดยรวม ทำให้สามารถติดตั้งปืนในแคลิเบอร์ที่ใหญ่ขึ้นได้

ปืน 9-A1-4071K สำหรับ T-50 PAK FA นั้นคาลิเบอร์ 30 มม. เท่ากันกับ ป.30 มม. ที่ติดตั้งบน A-10 "วอร์ธฮ็อก" (Warthog) เครื่องบินโจมตีสนับสนุนภาคพื้นดินแบบประชิด ที่กองทัพอากาศสหรัฐใช้มาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเวียดนาม แต่ต่างกันตรงที่ ปืนของไอ้หมูป่าเขี้ยวตันเป็นแบบแก็ตลิง 7 ลำกล้อง

นั่นเท่ากับว่า A-10 ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า Thunderbolt II หรือ "สายฟ้าฟาด" นั้น ติดปืนใหญ่ถึง 7 กระบอก แต่ละกระบอก มีขนาดลำกล้องยาวเกือบเท่าๆ กับเครื่องบินทั้งลำ สร้างขึ้นมาใช้ในยุคสงครามเย็น ด้วยจุดประสงค์จะให้เป็นอากาศยานหลัก ในการยิงทำลายรถถังหรือบังเกอร์ ของฝ่ายโซเวียตโดยเฉพาะ โดยไม่ต้องพูดถึงน้ำหนักอันมากมายมหาศาล

ส่วน 9-A1-4071K รุ่นใหม่ ยังหนักเพียง 50 กิโลกรัมเท่ารุ่นดั้งเดิม ซึ่งไม่มีอะไรจะดีเลิศเท่านี้อีกแล้ว สำหรับการติดตั้งบนอากาศยาน

เมื่อเทียบกับปืนใหญ่ 25 มม. 4 ลำกล้องของ F-35A กองทัพอากาศสหรัฐ ซึ่งอานุภาพการยิงด้อยกว่า A-10 อย่างเทียบกันไม่ได้ ป.30 มม. บน "พัคฟา" รัสเซีย ก็มีอำนาจการยิงเหนือกว่า ปืน 4 ลำกล้องของ "ไล้ท์นิ่ง 2" อย่างชัดเจนเช่นกัน

ปืนใหญ่อัตโนมัติGryazev-Shipunov หรือ GSh-30-1 หรือ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า GSh-301 หรือ "ก๊าช-301" นี้ ใช้กันมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 หรือ ช่วงปี พ.ศ.2520 เศษๆ โดยมีชื่อเป็น 9-A1-4071K ในสารบบของโซเวียต/รัสเซียตลอดมา ปัจจุบันสายการผลิตตกไปสู่มือของกลุ่มคาลาชนิคอฟ (JSC Kalashnikov Concern) บริษัทผลิตอาวุธปืนเล็ก ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ทั้งอาวุธสำหรับพลเรือน และ อาวุธป้องกันประเทศ รวมทั้ง "อาก้า" อันเลื่องลือนั้นด้วย
.

.

.
ตามรายงานของ Gazetta.Ru หรือ "รัสเซียกาเซ็ต" เว็บไซต์ของนิตยสารชื่อดัง เมื่อปี 2547 หรือเพียง 2 ปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้ Instrument Design Bureau for High Precision Weapons หรือ หน่วยงานออกแบบอาวุธยุทโธปกรณ์ความแม่นยำสูง เป็นผู้อัปเกรด GSh-30-1 สำหรับ T-50 และ ยังไม่มีใครทราบสเป็กของปืนใหม่อย่างเป็นทางการในขณะนี้

การมีปืนกระบอกใหญ่กว่า ฟังดูเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อติดตั้งบนเครื่องบินรบ "ล่องหน" ที่จะต้องปกปิดทุกส่วน มิให้สะท้อนคลื่นเรดาร์ของข้าศึก ในยามที่ต้องกดปุ่มลั่นไกออกไป รวมทั้งพื้นที่ติดตั้งที่มีจำกัดจำเขี่ย ทำอย่างไรระบบปืนใหญ่ จะไม่กีดขวางการทำงานของระบบอาวุธอื่นๆ และ ไม่บั่นทอนประสิทธิภาพในการ "ล่องหน" โดยรวม นั่นคือโจทก์ใหญ่มาก

ค่ายสหรัฐพัฒนาแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ได้สำเร็จแล้ว บน F-35A หรืออย่างน้อยสำหรัฐก็อาจจะได้ข้อสรุปแล้วว่า นั่นคือ ระบบอาวุธปืนใหญ่อากาศ อันเหมาะเจาะที่สุด สำหรับเครื่องบินรบยุคที่ 5 รุ่นใหม่ล่าสุดของโลกในขณะนี้ ส่วน T-50 รัสเซีย ยังต้องพัฒนาไปอีกยาวไกล

ตามสเป็กของโรงงานนั้น 9-A1-4071K รุ่นเก่า สามารถยิงเป้าหมายภาคพื้นดิน จากอากาศได้ไกลถึง 1,800 เมตร หรือ เกือบ 2 กม. และ 1,200 ม. สำหรับเป้าหมายในอากาศ ยิงกระสุนชนิดเจาะเกราะได้ ออกแบบมาสำหรับยิงทำลายยานยนต์หุ้มเกราะ เป้าหมายทางทะเล และ เป้าหมายทางอากาศทุกชนิด ช่วยประหยัด โดยใช้แทนอาวุธปล่อยนำวิถีที่ราคาแพงลิบลิ่ว อย่างเทียบกันไม่ได้ ในสถานการณ์ทั่วไป

T-50 ขึ้นบินโชว์ให้โลกภายนอกได้เห็นเป็นครั้งแรกใน ในงานมอสโกแอร์โชว์ปี 2554 หรือ MAKS 2011 ที่สนามบินซูคอฟสกี ในย่านชานเมืองหลวง หลายปีมานี้ซูคอยได้สร้างเครื่องต้นแบบออกมาทั้งหมด 6 ลำ ปัจจุบันเหลืออยู่ 5 โดยหนึ่งลำเกิดไฟไหม้ที่เครื่องยนต์หนึ่งในสองเครื่อง หลังจากขึ้นบินทดสอบและลงจอด

นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา มีการขึ้นบินทดสอบมาร่วม 20 ครั้ง ผิดนัด ผิดเวลามา ก็หลายครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นปัญหาที่มีอยู่มากมาย สำหรับเครื่องบินรบยุคที่ 5 เครื่องแรกของรัสเซีย ซึ่งว่ากันว่าสามารถทำความเร็วสูงสุดได้กว่า 2 มัค ติดตั้งระบบเอวิโอนิกส์ล้ำหน้า และ ระบบเรดาร์แบบเฟสอาเรย์ที่พัฒนาในระดับสูงสุด

T-50 ก็เช่นเดียวกันกับ F-22 และ F-35 ของสหรัฐ ที่สร้างขึ้นมาให้เป็นเครื่องบินรบ สำหรับครองน่านฟ้า และ บินเข้าไปโจมตีเป้าหมาย ทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนของข้าศึก โดยอีกฝ่ายมองไม่เห็น
.
<br><FONT color=#00003>พัคฟา แสดงการรีดไอน้ำออกจากปีกกับลำตัว ระหว่างขึ้นบินแสดงในงานมอสโกแอร์โชว์ เมื่อปีที่แล้ว ( MAKS 2015) เว็บไซต์ข่าวรัสเซียอธิบายว่า นี่คือ Aerodynamic condensation มักจะเกิดขึ้นในขณะบินด้วยความเร็วสูง และ ลดความเร็วลง อุณหภูมิลดต่ำลง เกิดความกดดันสูงรอบๆ ลำตัว ฯลฯ T-50 ดูงดงามเยี่ยงผู้ครองน่านฟ้า แต่ก็ยังมีปัญหาให้ต้องแก้อีกมากมาย.   -- Rulexip/Eng.Wikipedia.Org </b>
2
ตามกำหนดการนั้น ซูคอยจะเริ่มผลิตออกมาในเชิงจำนวนมากๆ ตั้งแต่ปี 2560 นี้เป็นต้นไป กองทัพอากาศรัสเซียจองซื้ออย่างน้อย 1 ฝูงในปี 2561 จากที่เคยประกาศซื้อเข้าประจำการจำนวน 60 ลำ ทำให้ต้องลดจำนวนลง เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ นอกจากนั้นกองทัพอากาศเอง ก็ยังให้ความสำคัญเครื่องบินโจมตีทางยุทธวิธีที่ก้าวหน้าแบบ Su-35

นอกจากนั้น T-50 ก็ยังมีจุดอ่อนอีกหลายเรื่อง ที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กระทรวงกลาโหม ยังคงกดดันให้ซูคอยต้องเร่งแก้ไข หรือ พัฒนายกระดับ ก่อนจะสั่งซื้อล็อตใหญ่

เครื่องยนต์ทั้งสองเครื่องของ T-50 ดูเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในขณะนี้ โดยเครื่องต้นแบบยังเป็น "เครื่องยนต์ชั่วคราว" รุ่นเดียวกับที่้ติดตั้งใน Su-35 ซึ่งก็คือเครื่องแซ็ทเทิร์น 117 หรือ Izdeliye 117 หรือ AL-41F1 ตามชื่อในสารบบอย่างเป็นทางการ โดยพัฒนาขึ้นมาอีกหลายขั้นจากเครื่องรุ่น AL-31 ที่ใช้เป็นขุมพลังของเครื่องบินรบตระกูล Su-27/Su-30 ตลอดมา

ผู้ที่สนใจในระบบเครื่องยนต์กลไกลของอากาศยาน แรงบิด รวมทั้งอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ฯลฯ สามารถหาข้อมูลอ่านเพื่อศึกษาได้ทั่วไป

ซูคอยกล่าวว่า ในที่สุด T-50 ก็จะต้องติดเครื่องยินต์รุ่นใหม่ ที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ เป็นเครื่องยนต์เทคโนโลยีล้ำหน้า ใหม่อย่างสิ้นเชิง ภายใต้รหัส Izdeliye 30 แต่เรื่องนี้จะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าจะถึงปี 2563 (หรือกว่านั้น)

เนื่องจากสหรัฐไม่ขายให้ผู้ใด ทั้ง F-22 "แร็พเตอร์" (Raptor) และ F-35 "ไล้ท์นิ่ง 2" (Lightning II) นอกจากประเทศพันธมิตรใกล้ชิด ที่เข้าร่วมออกทุนในการพัฒนา ที่มีอยู่เพียงไม่กี่ประเทศคือ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย กับ เนเธอร์แลนด์ ด้วยแหนหวงเทคโนโลยี ที่ผ่านมาก็จึงมีหลายประเทศสนใจ เครื่องบินรบล่องหนพันธุ์รัสเซีย รวมทั้งยังมีโครงการร่วมพัฒนาอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง กับอินเดียด้วย

แต่ T-50 รุ่นส่งออก จะเป็นไปได้อย่างเร็วที่สุดในปี 2563 หลังจากซูคอยผลิต T-50 ล็อตใหม่ออกมา พร้อมกับการพัฒนาไปอีกก้าวใหญ่ รวมทั้งติดเครื่องยนต์รุ่นใหม่ Izdeliye 30.
กำลังโหลดความคิดเห็น