รอยเตอร์ - นางอองซานซูจี ของพม่าร้องขอการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะดำเนินการดังกล่าว ในการพบกันครั้งแรกยังทำเนียบขาวนับตั้งแต่ซูจีกลายเป็นผู้นำประเทศ
“มันเป็นสิ่งถูกต้องที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนชาวพม่าเห็นผลตอบแทนจากวิธีการใหม่ของการดำเนินธุรกิจ และรัฐบาลใหม่” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวต่อซูจีภายในห้องทำงานรูปไข่
การเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ ซูจี มาในฐานะเช่นผู้นำประเทศ หลังจากพรรคของซูจีชนะการเลือกตั้งเมื่อปีก่อน และเนื่องจากซูจี ไม่ได้เป็นนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นแต่ก่อน วอชิงตันกำลังพิจารณาที่จะคลายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อพม่า ในขณะที่โอบามา ต้องการที่จะปรับความสัมพันธ์สู่ระดับปกติกับประเทศที่เคยปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารแห่งนี้
“เราคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดที่ทำร้ายเศรษฐกิจของเรา” อองซานซูจี กล่าว
นอกจากการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรแล้ว ทำเนียบขาวได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งระบุว่า จะคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้แก่พม่า ที่เป็นการงดเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศยากจน และประเทศกำลังพัฒนา
หลังจากพม่าถูกถอนชื่อออกจากกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์ GSP เมื่อปี 2532 อันเนื่องจากเหตุปราบปรามรุนแรงต่อการลุกฮือของผู้สนับสนุนเรียกร้องประชาธิปไตยโดยรัฐบาลเผด็จการทหารในช่วงปีก่อนหน้านั้น ซึ่งหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า พม่าจะกลับเข้าโครงการสิทธิพิเศษนี้อีกครั้งในวันที่ 13 พ.ย.
“การคืนสิทธิประโยชน์เหล่านี้ รวมทั้งการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร จะช่วยให้สหรัฐฯ ธุรกิจของเรา สถาบันที่ไม่แสวงหากำไรของเรา มีแรงจูงใจที่จะเข้าลงทุน และมีส่วนร่วมมากขึ้นในสิ่งที่เราหวังให้เป็นหุ้นส่วนที่เจริญรุ่งเรือง และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นสำหรับเราในภูมิภาค” โอบามา กล่าว
.
.
หลังจากเยือนทำเนียบขาวแล้ว ซูจี ยังได้พบหารือกับสมาชิกบางคนของสภาผู้แทนราษฎร ในกรุงวอชิงตัน แต่อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกบางส่วนของสภาคองเกรสแสดงความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในพม่า และรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ พวกเขาได้เสนอร่างกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ ที่จะทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติมีอิทธิพลต่อกระบวนการการคลายมาตรการคว่ำบาตร
เอ็ด รอยซ์ ประธานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้แสดงความเห็นหลังหารือกับซูจี ว่า แม้ฝ่ายบริหารชุดใหม่จะนำความหวังมาสู่พม่า แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะพยายามปกป้องชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกกดขี่
ในส่วนของโอบามา ที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรนั้น ผู้นำสหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องออกคำสั่งยุติการประกาศฉุกเฉินแห่งชาติต่อพม่าที่ออกครั้งแรกในปี 2540 ซึ่งสนับสนุนบทลงโทษต่างๆ และถอนคำสั่งมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องต่อพม่าก่อนหน้านี้
เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสรายหนึ่ง กล่าวว่า การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจะไม่นำไปใช้กับความช่วยเหลือทางทหาร ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อจำกัดบางส่วนยังคงมีผลบังคับใช้ รวมทั้งการห้ามออกวีซ่าแก่ผู้นำทางทหาร
สหรัฐฯ ได้คลายมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนกับพม่าในปีนี้ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปทางการเมือง แต่ยังคงข้อจำกัดส่วนใหญ่ด้วยมีเป้าหมายที่จะลงโทษผู้ที่ถูกมองว่าขัดขวางรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
แต่การประกาศเกี่ยวกับการยกเลิกคว่ำบาตร ก่อให้เกิดเสียงประณามจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่กล่าวว่า ทำให้สหรัฐฯ เสียอิทธิพลต่อทหารพม่า
“การยกเลิกข้อจำกัดในการทำธุรกิจกับทหารของพม่า และกิจการของทหาร รวมทั้งพรรคพวกเพื่อนพ้องที่ร่ำรวยขึ้นจากการปกครองยาวนานหลายทศวรรษ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง” จอห์น ซิฟตัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอช ในวอชิงตัน กล่าว
“ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนเหล่านี้ แค่เพียงไม่กี่คน และแน่นอนว่าไม่ใช่กับประชาชนชาวพม่าโดยทั่วไป.”
.
.
.