รอยเตอร์ - อองซานซูจี จะพบหารือกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา วันนี้ (14) ในการเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกนับตั้งแต่พรรคการเมืองของซูจีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปีก่อน
สหรัฐฯ กำลังชั่งน้ำหนักที่จะคลายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อพม่า ด้วยโอบามา ต้องการที่ปรับความสัมพันธ์สู่ระดับปกติกับประเทศที่วอชิงตันเคยหลีกเลี่ยงเมื่อครั้งที่พม่าถูกปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการทหาร
คาดว่าการเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ ซูจี จะได้พบหารือกับโจ ไบเดน รองประธานาธิบดี จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และสมาชิกอาวุโสสภาคองเกรส
“ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ให้กำลังใจ และสนับสนุนซูจี ที่อยู่ในบทบาทของผู้ที่กำลังผลักดันให้เกิดระบอบประชาธิปไตยในประเทศ แต่เวลานี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กำลังจะพบหารือในฐานะของผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐบาล” ผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ ของสหรัฐฯ ระบุ
ทำเนียบขาว ระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ อาจจะปรึกษาซูจี ถึงการคลายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือด้านการลงทุน และเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยในพม่า
เมื่อต้นปี สหรัฐฯ ได้คลายมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนต่อพม่า เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปทางการเมือง แต่ยังคงข้อจำกัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไว้ ซึ่งเป็นการลงโทษต่อผู้ที่ถูกมองว่าขัดขวางรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
กองทัพก้าวออกจากการควบคุมประเทศโดยตรงในปี 2554 หลังอยู่ในอำนาจมานาน 49 ปี แต่ยังคงบทบาททางการเมืองด้วยการครองที่นั่ง 25% ในรัฐสภา และกระทรวงสำคัญอีก 3 กระทรวง
แม้ซูจี จะถูกห้ามจากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยทหาร แต่ซูจี มีหน้าที่เป็นดั่งผู้นำในทางพฤตินัย ด้วยการครองตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาแห่งรัฐ
นอกจากเจ้าของรางวัลโนเบลผู้นี้จะกำลังเผชิญต่อความท้าทายในการกำกับทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับสหรัฐฯ และจีน ที่เป็นเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีอุปสรรคซึ่งยากที่จะจัดการภายในประเทศ คือ ปัญหาชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่ซูจี ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวที่จะจัดการแก้ไขปัญหาของชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้.