MGRออนไลน์ -- กองทัพเรือสหรัฐกำลังดำเนินการอย่างรีบเร่ง กระบวนการเปลี่ยนชุดปฏิบัติงาน ของทหารทั้งเหล่า กำลังพลนับแสนๆ จะต้องถอดชุดพรางสีน้ำเงิน-เทา ที่เรียกกันจนติดปากว่า "ชุดบลูเบอร์รี่" ที่ไม่เข้าท่าทิ้งไป และ สวมใส่ชุดพรางใหม่ AOR2 ลายวู้ดแลนด์ ดูทันสมัย สบายตาขึ้น มีคุณสมบัติต่างๆ ดีเยี่ยมยิ่งกว่า และ ที่สำคัญที่สุดก็คือ.. มีความปลอดภัยมากกว่า
มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น? .. ไม่ได้เกี่ยวกับว่า ชุดพรางในปัจจุบัน ทำให้ฝ่ายตรงข้ามมองเห็นได้โดยง่ายดาย หรือ ไม่อย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากชุดโทนสีน้ำเงินเข้มๆ มองเห็นแต่ไกลอยู่แล้ว จะอยู่แห่งหนตำบลใดก็ดูโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นลายพรางหรือไม่พรางก็ตาม แต่เนื่องจากว่าไม่กี่ปีมานี้ กองทัพได้ร้องเรียนจากลูกเรือจำนวนมาก เกี่ยวกับชุดทำงานปัจจุบัน ที่ติดไฟง่าย และ เมื่อติดไฟก็จะลุกไหม้แนบเนื้อ ทำให้สูญเสียอวัยวะสำคัญไปด้วย
นี่คือเหตุผลด้านความปลอดภัย
รัฐมนตรีว่าการทบวงกองทัพเรือ นายเรย์ มาบัส ประกาศการเปลี่ยนแปลงชุดปฏิบัติการของทหารอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่สัปดาห์ต้นเดือน ส.ค. ถึงตอนนี้ก็เหลือเวลาอีกไม่ถึง 30 วันสำหรับการ "ดีเดย์" ชุดทำงานใหม่ และ ถ้าหากจะว่ากันจริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากมีการเตรียมการกันมา ตั้งแต่ช่วงปี 2553-2554 หลายหน่วยทดลองใช้มาตั้งแต่นั้น รอกันแต่เพียงว่า จะเริ่มกันทั้งกองทัพเมื่อไรเท่านั้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเปลี่ยนชุดปฏิบัติงาน ไม่ได้เกี่ยวกับชุดเครื่องแบบสีกากี ชุดขาวพิธีการของเหล่าทัพ และ ชุดทำงานของกลาสี หรือ เจ้าหน้าที่ในส่วนอื่นๆ ของเหล่า ที่ไม่ใช่ทหาร
ตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป ทหารเรือส่วนใหญ่ จะต้องสลัดชุด NWU Type I ในปัจจุบันทิ้งไป เปลี่ยนไปใช้ชุดปฏิบัติงาน ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า NWU Type III หรือ "ชุดปฏิบัติงานของกองทัพเรือแบบที่ 3" (Navy Working Uniform Type III) เป็นลายพรางวู้ดแลนด์ (Woodland Camouflage Utility Uniform) อีกแบบหนึ่ง ซึ่งรู้จักกันแพร่หลายกว่า ในอีกชื่อหนึ่งคือ AOR2 หรือ Area of Responsibility 2
เพื่อสืบสาวความเป็นมาของชุดทหารเรือพวกนี้ ก็จะต้องย้อนหลังกลับไปอีกเกือบ 10 ปี เมื่อกองทัพเรือคิดค้นหาชุดปฏิบัติการรบ (Combat Uniform) สำหรับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (Special Operations) ที่มีชื่อเสียงของเหล่า ซึ่งก็คือหน่วยซีลส์ (SEALS) ที่ย่อมาจาก SEa, Air and Land Teams หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า Navy SEALS และ เมื่อออกเสียง "ซีลส์" ก็จะไปมีความหมายพ้องกับ "แมวน้ำ" ก็จึงเรียกกันง่ายๆ ว่า "หน่วยแมวน้ำ"
แต่เดิมหน่วยปฏิบัติการพิเศษ จะใช้ชุดปฏิบัติงานแบบพรางทะเลทราย 3 สี เช่นเดียวกับทหารเรือหน่วยอื่น ที่ขึ้นปฏิบัติการบนบก รวมทั้งหน่วยสนับสนุนของซีลส์เองด้วย แต่กองทัพเรือได้เห็นความจำเป็น ที่ "แมวน้ำ" จะต้องมีชุดปฏิบัติการทางยุทธวิธีโดยเฉพาะ ในที่สุดก็จึงออกมาเป็นชุดใหม่ 2 แบบ ตามลักษณะภูมิประเทศ และ เขตปฏิบัติงาน ที่เรียกกันว่า Area of Responsibility (AOR) นั่นคือ AOR1 ลายพรางทะเลทราย สำหรับเขตแห้งแล้ง กับ AOR2 ลายพรางวู้ดแลนด์ สำหรับปฏิบัติการบนบก ในภูมิประเทศที่มีสภาพปรกติทั่วๆ ไป
แม้กระทั่งอยู่บนเรือ หน่วยซีลส์ก็สามารถสวมชุด AOR ได้ เพื่อให้แตกต่างไปจากหน่วยอื่นๆ ในเหล่า
.
2
3
4
5
6
ชุด AOR2 หรือ NWU Type III เป็นลายพราง 4 สี เช่นเดียวกับพราง "มาร์แพ็ต" (MARPAT) ของนาวิกโยธิน ดูคล้ายกัน แต่ต่างกันด้วยโทนสี และ AOR2 วางลายพรางในแนวดิ่ง ส่วน MARPAT วางในแนวขวาง ทั้งสองแบบ ตัดเย็บด้วยผ้าที่ทำจากฝ้าย 50% กับไนล่อนชนิดพิเศษ 50% เหมือนกัน เป็นผ้าลายตารางแบบ "ริปสต็อป" (Rip-Stop) ที่ช่วยหยุดยั้งการฉีกขาดเป็นรอยกว้าง เช่นเดียวกับชุดคอมแบ็ตในยุคใหม่ ของเหล่าอื่นๆ ซึ่งเสื้อหรือกางเกงขาดเป็นรู ที่จุดใดจุดหนึ่ง รอยขาดจะไม่แผ่ลามออกไปยังส่วนอื่นๆ จะหยุดอยู่ภายใน "ตาราง" เล็กๆ นั้น
สำคัญยิ่งกว่าคุณสมบัติอื่นๆ ใด อันเป็นความเรียกร้องต้องการเร่งด่วนของที่ทหารเรือ ก็คือ AOR2 เป็นผ้าทนไฟ เช่นเดียวกับชุดของนาวิกโยธิน ทนความร้อนได้ดีกว่าชุด NWU Type I หรือ เมื่อติดไฟก็จะไม่มีการไหม้ละลายแนบเนื้อ เหมือนชุด "บลูเบอร์รี่"
หน่วย "แมวน้ำ" ใช้ชุดพราง NWU Type III เป็นหน่วยแรก ไม่ช้าไม่นานต่อมา หน่วยทหารก่อสร้างกองทัพเรือ (US Navy Construction Battalion) ก็สลัดทิ้งชุดวู้ดแลนด์คาโมยอดนิยม หันมาใส่พราง AOR2 อีกหน่วย นี่คือหน่วยงานที่รู้จักกันดี และ ได้รับการตอนรับจากประชาชนในท้องถิ่นอย่างดีเสมอมา ทุกครั้งที่มีการฝึกคอบร้าโกลด์
ทหารกอ่สร้างกองทัพเรือไม่ใช่หน่วยรบ แต่เป็นหน่วยพัฒนา บำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ บูรณะซ่อมแทรมบ้านเรือนให้แก่ชาวไทย ที่ประสบภัยธรรมชาติมาก็มาก ก่อสร้างและบูรณะอาคารของโรงเรียน โรงพยาบาล มาแล้วหลายแห่ง และ เป็นที่รู้จักกันดีกว่า ในชื่อสั้นๆ น่ารักๆ ว่า หน่วย "ผึ้งทะเล" หรือ "ซี-บี" (Sea Bees) โดยนำอักษรตัวแรก จาก 2 คำสุดท้ายของชื่อหน่วย คือ C กับ B มาออกเสียงรวมกัน
.
7
8
9
แรกเริ่มเดิมที กองทัพเรือ ทั้งผู้บังคับบัญชาและทหารเรือ ต่างเป็นปลื้มกับชุด NWU Type I โดยเชื่อเหมือนๆ กันว่า ทหารเรือที่อยู่กับทะเล และ มหาสมุทรเกือบตลอดเวลานั้น โทนสีน้ำเงินย่อมเป็นสัญลักษณ์ได้ดีกว่า โทนสีอื่นๆ แม้ในยามขึ้นไปปฏิบัติงานบนบก ก็ยังสวมชุดพรางสีนี้ได้ไม่ขัดเขิน เพราะยังไงๆ ก็ยังเป็นทหารเรือวันยังค่ำ
แต่ไม่กี่ปีมานี้ เริ่มมีเสียงบ่นกันว่า Type I เป็นชุดทำงานที่ใส่แล้วอึดอัด (สีเข้มมาก ดูนานๆ ก็ปวดหัววิงเวียน) และ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังมากขึ้นทุกทีๆ ผ่านเว็บไซต์ข่าวกลาโหมแห่งต่างๆ ที่เปิดกว้างให้ หลายคนเรียกอย่างประชดประชันว่า "บลูเบอร์รี่" ขณะที่อีกหลายคน ที่ไม่ชอบใจที่ถึงขั้นจงเกลียดจงชัง เอามากๆ เรียกเสียๆ หายๆ ยิ่งกว่านั้น
หลายคนบอกว่า ในขณะที่หน่วยปฏิบัติการหน่วยต่างๆ ในเหล่าทัพอื่นๆ ดูจะลงตัวในเรื่องชุดปฏิบัติงาน แต่ของกองทัพเรือยังมีปัญหา มีชุดใช้งานอยู่เพียง 2 แบบ คือ Type I กับ ชุดพรางทะเลทราย 3 สี เก่าแก่ตั้งแต่ยุคสงครามอ่าว ซึ่งใช้กันในไม่กี่หน่วยที่ขึ้นบกออกรบ ส่วน Type II กับ Type III สงวนไว้ให้แมวน้ำเป็นการเฉพาะ ทำให้ทหารส่วนใหญ่จมอยู่กับชุด "บลูเบอร์รี" หรือไม่ก็ชุดพรางทะเลทราย 3 สีเก่าๆ
และ ไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยพื้นฐานเท่านั้น ที่ทำให้ทุกคนอยากจะเปลี่ยนชุด ..
เมื่อมาร่วมฝึกคอบร้าโกลด์ หรือ ทุกครั้งที่ร่วมฝึก CARAT สหรัฐได้พบว่าชุดปฏิบัติการของทหารเรือ มีความคล้ายกันมาก กับชุดของทหารเรือมาเลเซียบางหน่วย .. ไกลออกไปยิ่งกว่านั้น ในช่วงหลังสงครามอิรัก เมื่อทหารเรือสวมชุด "บลูเบอร์รี" ขึ้นบกเข้าเมือง ก็แทบจะแยกไม่ออก ใครเป็นทหาร US Navy ใครเป็นตำรวจอิรัก เนื่องจากสวมชุดคล้ายกันมาก
.
10
11
ต่างไปจากนาวิกโยธิน ซึ่งอยู่ใกล้กันมากที่สุด และ ถูกนำไปเปรียบเทียบมากที่สุด เหล่ารบ "ครึ่งน้ำครึ่งบก" นั้น ดูจะลงตัวในเรื่องชุดปฏิบัติงาน
นาวิกโยธินพึงพอใจกับชุดดิจิตอล MARPAT (Marine Pattern) หรือ "แพ็ตเทิร์นสำหรับนาวิกโยธิน" ที่นิยมเรียกกันส้้นๆ ว่า "มาร์แพ็ต" ใช้มาตั้งแต่ ม.ค.2545 จนถึงปัจจุบัน พร้อมๆ กันกับ AOR2 นาวิกฯ ยังมีมาร์แพ็ต "พรางทะเลทราย" ที่ใช้มาพร้อมๆ กับ AOR1 ของหน่วยซีลส์.. ทั้งสองแบบคล้ายกันมาก ยกเว้นเพียงโทนสี และ ต่างกันมากก็คือ MARPAT นั้นนาวิกโยธินใช้กันทั้งเหล่า ขณะที่ทหารเรือส่วนใหญ่ ไม่มีสิทธิใช้ทั้ง AOR1 และ AOR2
"มารีน แพ็ตเทิร์น" ผลิต และ จดสิทธิบัตร เพื่อใช้เฉพาะกับทหารของเหล่านี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ดูแตกต่าง จากชุดคอมแบ็ตของศัตรู และ ของหน่วยอื่นๆ ในเหล่าอื่นทั่วกองทัพอย่างชัดเจน เป็นโครงการในแผนการจัดหา ชุดปฏิบัติงานในการรบของเหล่านาวิกฯ ที่เรียกว่า Marine Corps Combat Utility Uniform หรือ MCCUU เพื่อให้ใช้แทน "วู้ดแลนด์แพ็ตเทิร์น" ยอดนิยม ที่ใช้กันแพร่หลาย ในหลายหน่วย ที่กระจายอยู่ในเหล่าทัพต่างๆ
หมายความว่า นาวิกโยธินถอดทิ้งชุดลายพรางวู้ดแลนด์ไปนานแล้ว และ ไม่มีชุดปฏิบัติงาน กับชุดคอมแบ็ต แบบอื่นใดปะปนอีก อาจจะตลอดหลายปีข้างหน้า
.
12
13
14
15
16
ส่วนกองทัพบกลงตัวกับพรางดิจิตอลสีเทามิลเลนเนียมมากว่า 10 ปีแล้ว นี่คือแพ็ตเทิร์นใหม่ของ MCU (Army Combat Uniform) ชื่อที่บ่งบอกว่า เป็นชุดเพื่อใส่ออกรบ ซึ่งเป็นชุดในโครงการจัดหาชุดพรางทั่วไป (Universal Camouflage Pattern) หรือ UCP สำหรับทั้งเหล่า เพื่อใช้แทนชุดพรางทะเลทรายแบบเก่า ที่ได้เห็นกันมาแต่ครั้งสงครามอิรัก ปี 2546
ถึงกระนั้นกองทัพบกก็กำลังพัฒนาไปอีกขั้น หน่วย "เสือพราน" หรือ "เรนเยอร์" (Ranger) กับหน่วยราบอากาศ (Air-Borne) ได้สวมชุด MCU อีกแบบหนึ่ง ที่เรียกกันว่า ลายพรางดิจิตอลมัลติแคม (MultiCam) มาตั้งแต่สงครามอัฟกานิสถาน แต่กองทัพบกเพิ่งประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2553 กลายเป็น MCU แพ็ตเทิร์นใหม่ ภายใต้ความคิดในการจัดหา ชุดพรางสำหรับปฏิบัติการทั่วไป (Operational Camouflage Pattern) หรือ OCP
ชื่อเรียกต่างๆ เหล่านี้ สร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้ได้เสมอๆ แต่ทหารเหล่าต่างๆ จะเรียกกันให้ง่ายขึ้น นี่คือ "ชุดมัลติแคม" ซึ่งอีกไม่นานต่อมา วงการก็ได้เห็นมิลติแคมอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ของกองทัพบกสหราชอาณาจักร ลายคล้ายกัน แต่ออกแบบการตัดเย็บ ต่างไปจากของกองทัพบกสหรัฐ และ ต่อมากองทัพออสเตรเลีย ได้เป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่ซื้อลิขสิทธิ์ลายพรางมัลติแคม ไปใช้ผสมผสานกับชุดปฏิบัติการลายพรางดั้งเดิมของตัวเอง
.
17
18
19
ในส่วนกองทัพอากาศสหรัฐนั้น ลงตัวกับชุด ABU (Airman Battle Uniform) แบบไทเกอร์สไตรป์ (Tiger Stripe) ที่ใช้มานานเกือบ 10 ปี ในขณะเดียวกันหน่วยอากาศโยธิน ที่ต้องออกรบ หรือ ปฏิบัติงานบนบก ร่วมกับหน่วยรบเหล่าอื่นๆ บ่อยครั้งที่สุด ก็เริ่มใช้ชุดพราง All-Terrain Tiger หรือ "ชุดปฏิบัติการสำหรับทุกสภาพพื้นที่" ที่ใหม่กว่า
"ออลเทอร์เรน" ไม่ใช่ชุดรบอเนกประสงค์แบบไทเกอร์สไตรป์ แต่ออกแบบมาดีกว่า เพื่อใช้ในทางยุทธวิธี (Tactical Response Uniform) หรือ TRU โดยเฉพาะ ออกแบบมา ให้ส่วนก้นกางเกงเป็นรูปคล้ายใบโพธิ์เหมือนกัน ป้องกันการฉีกขาด ในส่วนที่เคลื่อนไหวมากที่สุด และ เป็นมุมกว้างที่สุด ตัดเย็บแน่นหนาถาวร สวมใส่สบาย ไม่อบอ้าว ทำจากวัสดุต่อต้านความร้อน ทนไฟได้ดีกว่า เช่นเดียวกับชุดพรางยุคใหม่รุ่นอื่นๆ
ตามรายงานในเว็บไซต์ของบริษัทผู้ผลิตชุด All-Terrain Tiger กองทัพสหรัฐอนุมัติให้ ทุกหน่วยรบ ของเหล่าต่างๆ สามารถใช้ชุดใหม่นี้ เป็นทางเลือกได้ ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันหลายหน่วยเริ่มขยับตาม
ส่วนกองทัพเรือนั้น ทหารครวญเพลง "เนวี บลู" มานานเกือบ 10 ปีเช่นกัน ...
เคยมีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลการสำรวจความเห็น ของทหารเรือมาหลายครั้ง รวมทั้งครั้งหนึ่งที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกองทัพเมื่อไม่นาน ซึ่งได้พบว่าทหารต่างพึงพอใจ ลวดลาย สีสัน กับคุณสมบัติของ Type III มากกว่า Type I "บลูเบอร์รี" ซึ่งได้กลายเป็นว่า ชุดพรางสีน้ำเงินตัวเก่า เป็นสิ่งที่บรรดาทหารหาญ ไม่พึงประสงค์มากที่สุด
.
20
21
22
การเปลี่ยนชุดปฏิบัติงานสำหรับกองกำลังหนึ่ง หรือ หน่วยใดหน่วยหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทุกฝ่ายกำลังพูดถึง การเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งกองทัพเรือ ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลก มีกำลังพลเกี่ยวข้องนับแสนๆ กว่าจะเปลี่ยนได้ครบถ้วนทั้งหมด ก็อาจจะต้องใช้เวลาถึง 3 ปีทีเดียว ซึ่งหมายความในระหว่างนี้ ทั้งกองทัพยังสามารถใช้ชุดปฏิบัติการ Type I ได้ต่อไปเช่นเดิม หรือ จะเปลี่ยนมาสวม Type III เลยก็ได้ในทันที
อย่างไรก็ตาม US Navy ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า ด่านแรกคือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ หรือ อีกราว 3 สัปดาห์ข้างหน้า จะเริ่มการใช้ชุด AOR2 อย่างเป็นทางการ และ เริ่มแจกจ่ายให้แก่ทหารใหม่ ตั้งแต่ 1 ต.ค.ปีนี้เช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งการติดเครื่องหมายยศชั้น กับเครื่องหมายอื่นๆ
กองทัพเรือกล่าวว่า การเปลี่ยนชุดทำงานครั้งนี้ เป็นการลดจำนวนลง ให้เหลือน้อยลง แต่ใช้แบบเดียวกันเป็นมาตรฐานแพร่หลายทั่วทั้งเหล่า ง่ายทั้งการผลิต ทำให้ประหยัดงบประมาณได้มากมายมหาศาลในแต่ละปี
เหล่าทัพนี้จัดสรรเงินอุดหนุนแบบเหมาจ่าย ให้แก่ทหารใหม่ทุกคน คนละ 400 ดอลลาร์ต่อปีสำหรับเป็นค่าชุดกับเครื่องแบบ ซึ่งทหารใหม่ รวมทั้งทหารเกณฑ์จำนวนมากบอกว่า เงินจำนวนเท่านั้นไม่พอค่าชุด ที่ควรจะมี 3-4 ชุด ไหนจะค่าเครื่องแบบปรกติ และ อื่นๆ อีก แต่หากต้องการมากกว่านี้ ก็จะต้องแก้กฎหมาย ในขณะที่นายทหารทุกชั้นยศ รวมทั้งทหารเก่า ต้องซื้อเองทุกอย่าง ตามกฎหมายกำหนดเช่นกัน กองทัพจำหน่ายชุดทำงานในราคา ชุดละไม่ถึง 100 ดอลลาร์
ประกาศของกองทัพเรือที่ออก ในเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2559 มีประโยคหนึ่งที่แสดงให้เห็นความเชื่อว่า แรงผลักดันทางจิตวิทยา จะทำให้การเปลี่ยนชุดปฏิบัติงานของทั้งเหล่า เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนแล้วเสร็จในเวลาอีกไม่นาน ไม่ต้องรอถึง 1 ต.ค.2563 โดยเชื่อว่าทุกคนอยากหล่อ อยากสวย และ อยากจะปลอดภัย
คำประกาศข้อแรกเลยระบุว่า ตั้งแต่ 1 ต.ค.2559 เป็นต้นไป "บรรดาทหารเรือต่างถูกคาดหวังว่า จะสวมใส่ NWU Type III เป็นชุดปฏิบัติงานหลัก ทั้งในเรือ บนฝั่ง รวมทั้งในอ่าวต่างๆ" -- ก็เป็นอันเชื่อได้ว่า ฝึกคอบร้าโกลด์ เดือน ก.พ.ปีหน้า จะได้เห็นทหารเรือสหรัฐมาเต็ม ในชุดคอมแบ็ตใหม่.
.
ดูกันใกล้ๆ - ภาพทั้งหมดถ่ายจากกางเกง (และหมวก) ชุดปฏิบัติงานแบบต่างๆ ของเหล่า หรือ หน่วยรบ กองทัพสหรัฐ สีผิดเพี้ยนไปบ้าง ไม่สดใสเท่าของจริง เริ่มจาก AOR2 กองทัพเรือ - ดิจิตอล MARPAT นาวิกโยธิน - ดิจิตอล ACU กับ ACU มัลติแคม กองทัพบก - ดิจิตอล ABU ไทเกอร์สไตรป์ กองทัพอากาศ - BDU วู้ดแลนด์คาโม ยอดนิยมตลอดกาล เน้นแสดงให้เห็นด้านหน้า ด้านหลัง กับ บริเวณก้นกางเกง ที่เป็นรูปทรงใบโพธิ์เหมือนกันทุกรุ่น ซึ่งช่วยยืดหยุ่นได้อย่างดี ในขณะเคลื่อนไหวช่วงขา-ต้นขาอย่างรวดเร็ว. |
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40