MGRออนไลน์ -- เป็นเวลากว่า 7 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่มีการนำเอารถจี๊ป (Jeep) เข้าใช้งานในกองทัพบกสหรัฐเป็นครั้งแรก พาหนะที่ดูเรียบๆ ง่ายๆ ได้กลายเป็นขวัญใจทหารมาทุกยุคทุกสมัย จี๊ปถูกใช้อย่างหนัก ทั้งในแนวหลังและแนวหน้า และ กลายเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งคู่กับกองทัพ ถึงแม้จะผ่านมายาวนาน ข้ามมาชั่วอายุคน แต่จนถึงวันนี้ก็ยังมีจี๊ปนับหมื่นๆ คันแล่นกัน บนท้องถนนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเก่าแสนเก่าสักเพียงใดก็ตามที
จี๊ปยังอยู่ ..
ในงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ยุโรป Eurosatory 2016 ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จี๊ป J8 คันหนึ่งถูกนำออกโชว์ตัวในงาน ในท่ามกลางยานหุ้มเกราะ ยานโจมตี และ อะไรต่อมิอะไรอีกหลายต่อหลายรุ่น ที่มีรูปร่างหน้าตาทันสมัย แต่ก็มีเพียงรุ่นเดียวที่ยังคงเป็นจี๊ปอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เวอร์ชั่นที่ใหม่กว่าสำหรับกองทัพบกสหรัฐ ที่ผลิตออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก
ตามรายละเอียดในงานแสดงอาวุธฯ ดังกล่าว J8 คันที่นำออกโชว์ เป็นจี๊ปที่ไครสเลอร์ผลิตในประเทศอียิปต์ ซึ่งได้ออกแนะนำตัวครั้งแรก ในงานแสดงระบบและอุปกรณ์ยุทโธปกรณ์นานาชาติ ในกรุงลอนดอนปี 2550 หรือ 9 ปีก่อนหน้านี้ เป็นรถขนาด 1.5 ตัน ติดเครื่องยนต์ดีเซลติดเทอร์โบชาร์เจอร์ 2.8 ลิตร 4 สูบ 194 แรงม้า มีวางจำหน่ายทั่วไป ใครๆ ก็สามารถซื้อหาได้ แต่ถึงกระนั้นไม่กี่ปีมานี้ ก็ยังมีหลายประเทศนำไปใช้ทางการทหาร.. ไม่ต่างกับจี๊ปบรรพบุรุษ
ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ในยามที่ต้องบุกป่า ขึ้นเขา ลงห้วย ลุยเข้าไปในดินแดนสุดแห้งแล้ง หรือ เขตโคลนหล่ม ทุกคนก็ยังคงคิดถึงจี๊ป ไม่ต่างกับในสหรัฐ ซึ่งในขณะนี้กองทัพบก กำลังมองหาพาหนะน้ำหนักเบารุ่นใหม่ ที่ไม่หุ้มเกราะ และ สามารถเข้าสู่ทุกพื้นที่ที่มีการรบ รถที่ต้องการนี้อาจจะยังไม่มีในตลาดพลเรือนปัจจุบัน ซึ่งได้ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า มีความเป็นได้อย่างมากที่จะนำเอารถจี๊ปเจเนอเรชั่นใหม่ ออกมาใช้งาน ในปีงบประมาณข้างหน้านี้
นั่นคือ 75 ปีเศษ นับตั้งแต่จี๊ปออกโลดแล่นในสนามรบ ตั้งแต่ฝรั่งเศส เยอรมนี สงครามเวียดนาม ตะวันออกกลางยุคแรก จนถึงสงครามในปานามา ซึ่งจี๊ปถูกแทนที่โดยพาหนะรุ่นใหม่ ภายใต้โครงการจัดหา พาหนะล้อยางเคลื่อนที่เร็วอเนกประสงค์ หรือ High Mobility Multipurpose Wheeled Vehicle (HMMWV) หรือ ฮัมวี....... ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980
.
.
กองทัพบกสหรัฐเริ่มดำเนินการมาเงียบๆ ตั้งแต่ปี 2557 ภายใต้โครงการ Ground Mobility Vehicle หรือ โครงการจัดหายานพาหนะเพื่อใช้งานภาคพื้นดิน ในปีงบประมาณ 2560 ขณะนี้ ซึ่งฟังดูทั่วไปราวกับว่า กำลังหมายถึงรถสักรุ่นหนึ่ง ที่ใช้งานได้ดีเยี่ยมเหมือนกับจี๊ป มันให้บรรยากาศเช่นเดียวกันกับ เมื่อตอนพูด "จี๊ป" ครั้งแรกในปี 2480
ทุกคนกำลังพูดถึงบรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อครั้งบรรพบุรุษของจี๊ปจำนวนหนึ่ง ถูกนำไปใช้ในดินแดนฝรั่งเศส เป็นรถบรรทุกขับเคลื่อน 4 ล้อ ผลิตโดยบริษัทโทมัส บี เจฟเฟอรีย์ (Thomas B Jeffery Co) ซึ่งเป็น "รถขับสี่" รุ่นแรกๆ ของกองทัพ แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะปะทุขึ้นมา กองทัพบกก็ได้เห็นความจำเป็น ที่จะต้องมีพาหนะน้ำหนักเบากว่านั้น สำหรับภารกิจลาดตระเวน ซึ่งสามารถไปไหนมาไหนได้รวดเร็วกว่า
การพัฒนาพาหนะน้ำหนักเบาและคล่องตัวรุ่นหนึ่ง ที่ได้กลายมาเป็นจึ๊ป เริ่มขึ้นในบัดนั้น
.
2
ปี 2483 กองทัพสหรัฐป่าวประกาศไปยัง บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ 135 แห่งทั่วประเทศ และ ลงเอยด้วย 2 บริษัท คือ อเมริกันแบนตัมคาร์ (American Bantam Car) กับ วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ มอเตอร์ส (Willys-Overland Motors) ในขณะที่ฟอร์ดมอเตอร์ส (Ford Motors) ยักษ์ใหญ่ เข้าร่วมวงในภายหลัง
การประกวดราคาลงเอยด้วยชัยชนะของอเมริกันแบนตัมคาร์ ซึ่งได้ผลิตรถต้นแบบให้กองทัพบกพิจารณา เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ "บลิตซ์ บักกี้" (Blitz Buggy) เป็นชิ้นงานที่เข้าตาคณะกรรมการ และ ผ่านการทดสอบอย่างหนัก แต่แล้วกลุ่มนี้รู้ตัวดีว่า มีกำลังผลิตไม่พอสนองความต้องการอันเร่งด่วนของทบวงการสงคราม (Department of War) ในครั้งกระโน้น ซึ่งทำให้กลุ่มวิลลีส์กับฟอร์ดมีโอกาสเข้าเสียบ ส่งพิมพ์เขียวของพาหนะในฝันเข้าประกวด
ในที่สุดวิลลีส์เป็นผู้ชนะ แต่ก็มีข้อตกลงที่จะต้อง นำเอาข้อดีจากรถต้นแบบของอเมริกันแบนตัม กับพิมพ์เขียวของฟอร์ดไปใช้ ในการผลิตด้วย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วิลลีส์ฯ ผลิต "จี๊ป" ออกมาราว 363,000 คัน ซึ่งไม่เคยพอกับความต้องการของกองทัพ ทำให้ฟอร์ดได้เข้าร่วมวงด้วย เจ้าใหญ่นี้ผลิตออกมาอีกราว 280,000 ซึ่งตัวเลขจากสองแหล่งผลิตนี้ แสดงให้เห็นว่า มีจิ๊ปเกิดขึ้นมาโลกกว่า 640,000 คัน และ ในอีกหลายปีต่อมา ได้ทำให้มีชื่อเรียกเป็น "จี๊ป วิลลีส์" กับ "จี๊ป ฟอร์ด" ตามแหล่งผลิต ถึงแม้ว่าทั้งสองรุ่น จะมีรูปร่างหน้าตา แทบจะเป็นฝาแฝดกันก็ตามที
ประวัติของจี๊ปนั้นมีความยาวมากมายหลายหน้ากระดาษ สามารถตัดซอยออกเป็นหลายเรื่อง หลายตอน บอกเล่ากันได้ทั้งวัน แม้แต่ชื่อก็ยังเป็นปัญหา นำมาสู่การถกเถียงกันข้ามทศวรรษ ทุกคนเรียก "จี๊ป" ติดต่อกันมา 75 ปี แต่ก็ยังไม่มีใคร ชี้ชัดได้ว่าชื่อนี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มาจากไหน และ มันคืออะไรกันแน่
ทฤษฎีหนึ่งบอกว่า "จี๊ป" เป็นชื่อที่ช่างเทคนิคของกองทัพบกสหรัฐทั่วไป นิยมเรียกพาหนะที่พวกเขาทดสอบ แต่อีกซีกหนึ่งบอกว่า เป็นชื่อเรียกตามชื่อตัวการ์ตูนยูจีน หรือ Eugene the Jeep ในชุดป็อปอาย (Popeye) ยุคแรกๆ และ ในที่สุดก็มีทฤษฎีใหม่ โผล่ออกมาอธิบายว่า "จี๊ป" เพี้ยนมาจาก GP หรือ General Purposes ซึ่งหมายถึง พาหนะอเนกประสงค์ สามารถใช้งานได้ทั่วไป..
ชื่อนี้ยังเคยเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นโรงขึ้นศาล โดยฟอร์ดยื่นฟ้องวิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ เมื่อฝ่ายหลังผลิตจี๊ปเวอร์ชั่นพลเรือนออกสู่ตลาดในปี 2488 ภายใต้ชื่อ CJ (Civilian Jeep) ต่อมาในปี 2493 หลังฟอร์ดเป็นฝ่ายแพ้คดี รถจึงใช้ชื่อ JEEP ได้อย่างเต็มภาคภูมิ กลายเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อรุ่นแรก ที่มีการผลิตอย่างกว้างขวาง และ ได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดสหรัฐ .. และ ทำให้มีจี๊ปขายกันต่อมา จนถึงวันนี้
.
3
4
หลายฝ่ายลงความเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ชื่อจี๊ป ทั้งขลังทั้งคงกระพัน ก็เนื่องจากการผ่านสนามรบสงครามโลกครั้งที่ 2 มาอย่างโชกโชน เป็นเวลา 4 ปีเต็ม ทั้งในยุโรป แอฟริกาและเอเชีย โดยไม่มีพาหนะอื่นใดในระดับเดียวกัน สามารถเทียบเทียมได้ จี๊บยังคงวิ่งกระเตงไปไหนมาไหน มาจนถึงสงครามคาบสมุทรเกาหลี และ สงครามเวียดนาม ผ่านการอัปเกรดมาครั้งแล้วครั้งเล่า และ เมื่อเข้าสู่สงครามยุคใหม่ ในตะวันออกกลาง จี๊ปก็ได้รับฉายาใหม่เป็น "สิงห์ทะเลทราย"
อย่างไรก็ตามทุกอย่างมีจุดสิ้นจุด เมื่อกองทัพก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ มีความต้องการยานพาหนะล้อยาง ตรวจการณ์และขนส่ง ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ใช้งานแทนจี๊ปได้ทุกอย่าง และ มีขีดความสามารถอีกหลายด้าน นอกจากนั้นก็ยังใช้ "ชินุก" หรือ "แบล็กฮอว์ก" ยกไปยังที่ไหนๆ ก็ได้ในโลกนี้ เช่นเดียวกันกับจี๊ป ซึ่งได้นำมาสู่การก่อเกิดของฮัมวี โดยบริษัทเอเอ็มเจเนอรัล (AM General)
ฮัมวีเกิดมาเพื่อแทนที่จี๊ป กับรถขนส่ง-รถตรวจการณ์อีกหลายรุ่น ที่ใช้งานมาในช่วงสงครามเวียดนาม เป็นพาหนะที่รวมเอาความต้องการหลายๆ อย่างไว้ในคันเดียวกัน ก็จึงเกิดมามีรูปร่างใหญ่โตมากหากเทียบกับจี๊ป และ ฮัมวีก็ไม่ใช่จี๊ป หากทำภารกิจหลากหลายจนเกินตัว บางภารกิจไม่ได้อยู่ในจุดประสงค์ที่ออกแบบมา
หลังจากใช้งานหนักมา 25 ปี มันก็ได้พิสูจน์ว่า กองทัพบกไม่สามารถจะใช้ฮัมวี่ ทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ในโลก และ ได้เริ่มมองหาพาหนะอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อใช้งานอเนกประสงค์แทนฮัมวี เป็นรถหุ้มเกราะป้องกันตนเองได้ ในขณะที่ฮัมวีไม่ใช่
โครงการจัดหายานพาหนะที่เรียกว่า Joint Light Tactical Vehicle (JLTV) หรือ ยานพาหนะขนาดเบาทางยุทธวิธี เริ่มเมื่อสองปีที่แล้ว และ ได้บริษัทออชคอช บริษัทผลิตรถบรรทุกเก่าแก่ และมีชื่อเสียงของสหรัฐเป็นคู่สัญญา
แต่แท้จริงแล้วในช่วงต่อระหว่างฮัมวีกับ JLTV อันเป็นช่วงปีที่สหรัฐกำลังพันตูกับสงครามกลางเมือง ทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน ที่เต็มไปด้วยกับระเบิด และ การใช้ระเบิดแสวงเครื่องของฝ่ายตรงข้าม ทำให้สูญเสียฮัมวีไปหลายพันคันนั้น ได้มีพาหนะอีกชนิดหนึ่ง ถูกนำเข้าใช้การแบบขัดตาทัพมาก่อน นั่นคือรถที่เรียกว่า MRAP หรือ Mine-Resistant Ambush Protected ซึ่งมีความหมายตรงตามตัวอักษรคือ ยานพาหนะที่ต้านกับระเบิดและปกป้องตัวเองเมื่อถูกโจมตี เป็นรถหุ้มเกราะหนารอบคัน หนักอึ้ง ไปไหนมาไหนได้ช้า และ สุดลำบาก
ตามตัวเลขของกองทัพบก ในช่วงปี 2550-2555 มีการผลิตรถ MRAP ออกมาไม่น้อยกว่า 12,000 คัน แต่ถึงกระนั้น MRAP ก็ไม่ได้เข้าแทนที่ฮัมวี และ ก็มีท่าทีว่า JLTV ก็ยังไม่ใช่อีกเช่นกัน มันจึงได้พิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า กองทัพบกสหรัฐ ไม่สามารถจะใช้ยานยนต์เพื่อการทหาร รุ่นใดรุ่นหนึ่ง แทนที่รุ่นอื่นๆ ที่เคยใช้งานมาได้ครบทั้งหมด ก็จึงเป็นที่มาของ Ground Mobility Vehicle Program ที่ต้องการรถทันสมัย น้ำหนักเบาและคล่องตัวกว่าฮัมวีอีกด้วย
.
ในงานโชว์ระบบและอุปกรณ์ยุทโธปกรณ์ระหว่างประเทศ Eurosatory 2016 เดือน มิ.ย.ปีนี้ ค่ายต่างๆ ได้นำรถตรวจการณ์ขนาดเล็ก ออกแสดงมากมายหลายรุ่น ทั้งเก่าและใหม่ ทั้งหุ้มเกราะและไม่หุ้มเกราะ ติดอาวุธและไม่ติด หน้าตาแปลกใหม่เนื่องจากเป็นพาหนะทางทหารยุคใหม่ มีเพียงจี๊ปเท่านั้น ที่ยังคงเอกลักษณ์รูปร่างหน้าตาความเป็น Jeep อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา "คอมมานโด" ก็เช่นกัน นี่คือจี๊ปเวอร์ชั่นที่ใหม่กว่า ซึ่งบริษัทเฮ็นดริก ไดนามิกส์ ผลิตให้กองทัพบกสหรัฐ นับเป็นการฟื้นชีพรถตรวจการณ์ดีที่สุดรุ่นหนึ่งในประวัติศาสตร์การทำสงคราม ให้กลับมารับใช้ชาติอีกครั้ง ผู้ผลิตทำจี๊ปคอมมานโดออกมาหลายเวอร์ชั่น ในหลากหลายคอนฟิกูเรชั่น เพื่อใช้การใช้งานหลายด้าน แต่กองทัพบกก็ยังคงเน้นไปที่ งานตรวจการณ์เป็นหลัก ไม่ต่างกับเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเกาหลี จนถึงสงครามเวียดนาม. -- Hendrick Dynamics. |
5
6
7
8
ตามรายงานของสื่อกลาโหมในสหรัฐ กองทัพบกได้สั่งให้บริษัทออชคอช ผลิต JLTV ที่มีรูปลักษณ์ "กึ่งรถบรรทุก/กึ่งจี๊ป" ออกมาล็อตหนึ่ง เพื่อนำไปทดสอบ มีการส่งมอบกันไปเมื่อเดือน มี.ค. การผลิต/ทดสอบจะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2562 แต่ในระหว่างนี้ JLTV ก็ไม่ใช่รถเพียงรุ่นเดียว ที่กองทัพบกกำลังติดพันอยู่ หากกำลังมองหาพาหนะรุ่นอื่นๆ จากผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นนำอีกหลายแห่ง ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งรวมทั้งล็อกฮีดมาร์ติน และ โบอิ้งเอ็มเอสไอ (Boeing-MSI Defense) โพลาริส (Polaris) และ เจเนอรัล ไดนามิกส์ ฯลฯ
อีกชื่อหนึ่งที่กำลังเป็นที่โจษจันกันไปทั่วก็คือ บริษัทเฮ็นดริก ไดนามิกซ์ (Hendrick Dynamics) ซึ่งข่ายโทรทัศน์ฟ็อกซ์ รายงานสัปดาห์กลางเดือน ก.ค.นี้ว่า เพิ่งเข้าเจรจากับกองทัพบกสหรัฐมาเมื่อไม่นาน บริษัทนี้ผลิตรถยนต์ออฟโร้ดออกมารุ่นหนึ่ง 2-3 ปีมาแล้ว บนพื้นฐานของจี๊ปแรงเลอร์ (Wrangler) โดยติดเครื่องยนต์ทั้งดีเซลเทอร์โบ และเบนซิน ออกมาหลายขนาด หลายคอนฟิกูเรชั่น มีชื่อเรียกว่า "คอมมานโด" (Commando Jeep) เป็นรถขนาดเล็กกว่า เบากว่า JLTV และ คอมมานโดรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ จะไม่นำออกวางตลาด
หลังจากทดสอบรถของเฮ็นดริก ไดนามิกส์ มาหลายรุ่น ทั้งในสนามซ้อมในเมืองและสนามรบจริงในตะวันออกกลาง คอมมานโดรุ่นล่าสุดสำหรับกองทัพ ถูกนำเข้าโครงการ Ground Mobility Vehicle เรียบร้อยแล้ว และ กำลังทดสอบ เพื่อใช้สำหรับหน่วยรบเคลื่อนที่เร็ว รถ GMV จะนำกำลังพลไปไหนมาไหนได้ทั่วสนามรบ ในเวลารวดเร็วยิ่งขึ้น นั่นก็คือ ใช้เป็นพาหนะสำหรับ "ขนคน" อย่างแท้จริง โดยไม่หวังพึ่ง JLTV
สาเหตุที่ทำให้ GMV โดดเด่นขึ้นมาสายตาของนักวิเคราะห์ก็คือ บริษัทเฮ็นดริก ไดนามิกส์ ผู้ผลิต ซื้อสิทธิบัตรจี๊ปจากบริษัทไครส์เลอร์ (Chrysler) ซึ่งเป็นการนำเอาจี๊ปกลับคืนกองทัพ ไปโดยปริยาย บริษัทนี้กำลังแปลงรถสำหรับพลเรือน เพื่อนำไปใช้ทางการทหารอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกลับกันกับเมื่อครั้งที่นำจี๊ปทหารออกดัดแปลง เพื่อจำหน่ายให้บุคคลทั่วไป สามารถแล่นบนท้องถนนในเมืองต่างๆ ได้
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมการขนส่ง ลำเลียงพลของกองทัพครั้งสำคัญ ไม่ต่างกับการปลดระวางจี๊ปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
ในขณะนี้ทุกคนได้เห็นรูปร่างหน้าตาของ JLTV แล้ว อย่างน้อยที่สุดก็รถต้นแบบอันบึกบึนของออชคอช และนักการทหารจำนวนมาก กำลังรอการกลับมาอย่างเป็นทางการของ "เหลนจี๊ป" รุ่นใหม่ ราวกับรอชมภาพยนตร์ชุด Back to the Future ตอนใหม่ อย่างใจจดใจจ่อ.