MGRออนไลน์ -- ทางการลาวได้จัดประชุมเจ้าหน้าที่ กับพนักงานของรัฐจำนวนนับร้อยๆ คนในสัปดาห์นี้ ไขทุกข้อข้องใจเกี่ยวกับโครงการรถไฟลาว-จีน รวมทั้งแผนงานทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตัวเลขการลงทุน กับ รายละเอียดการใช้ที่ดินตลอดแนวเส้นทางรถไฟ สิทธิในการใช้ที่ดิน ไปจนถึงนโยบายด้านภาษีอากร กับสถานะของแรงงานจากจีน และ ประเทศเพื่อนบ้าน ที่คาดว่าจะต้องใช้จำนวนนับหมื่นๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลไม่น้อยให้แก่ประชาชนชาวลาวโดยทั่วไป ทั้งในแง่การมีงานทำ และ ในแง่ที่อาจเป็นปัญหาเชิงอธิปไตย
คณะกรรมการโฆษณาและอบรมศูนย์กลางพรรค ร่วมกันกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง จัดการประชุมใหญ่เพื่อแจกแจงรายละเอียด และ ตอบคำถาม-ข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับโครงการมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,956 ล้านดอลลาร์ (สองแสนแปดพันล้านบาทเศษ) โดยมีระยะคุ้มทุนยาวนานถึง 35 ปี ใหญ่โตเกินตัวที่ประเทศเล็กๆ พลเมือง 6 ล้านคนเศษ จะสามารถกระทำได้ และ เป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุมชี้แจงเช่นนี้อย่างเป็นทางการ โดยหน่วยงานของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว กับรัฐบาล
ภายใต้แผนการนี้ ฝ่ายลาวจะเข้าถือหุ้น 35% อีก 65% จะเป็นหุ้นส่วนของฝ่ายจีน ซึ่งในเบื้องต้นสองฝ่ายจะต้องออกทุนของตนเอง ฝ่ายละ 40% ของมูลค่าก่อสร้างทั้งหมด อีก 60% ที่เหลือ บริษัทร่วมทุนที่จะจัดตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารโครงการรถไฟ จะกู้ยืมเงินทุนจากธนาคารจีน ในการก่อสร้างเริ่มแรกนั้น ฝ่ายลาวจะต้องใช้เงินร่วมลงทุนประมาณ 730 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจีนได้ตกลงให้รัฐบาลลาว ออกเงินสมทบทุนปีละ 50 ล้านดอลลาร์ เป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 250 ล้านดอลลาร์ ที่เหลืออีกประมาณ 480 ล้านดอลลาร์นั้น ลาวได้เสนอให้รัฐบาลจีน พิจารณาจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยนโยบาย (โดยปรกติทั่วไป 1.75% ต่อปี -- บก.) สนับสนุน ซึ่งหมายความว่าฝ่ายลาว ใช้เงินเพียง 50 ล้านดอลลาร์ ก็สามารถเริ่มการก่อสร้างโครงการใหญ่นี้ได้
สำหรับรายละเอียดทางเทคนิค รองรัฐมนตรี (รมช.) กระทรวงโยธาธิการและขนส่งลาวที่เข้าร่วมการประชุม กล่าวว่าทางรถไฟลาว-จีนนั้น ออกแบบเป็นชนิดรางเดี่ยว รางมาตรฐานกว้าง 1.435 เมตร และ ออกแบบเป็น 2 ระยะ โดยอิงสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก คือ ช่วงด่านบ่อแตน (ชายแดนลาว-จีน) จนถึงเมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน กับ ระยะวังเวียง-นครเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบ
การกำหนดความเร็วในการเดินรถทั้งสองระยะดังกล่าว จึงคำนึงถึงประโยชน์ทั้งในการขนส่งผู้โดยสาร และ การขนส่งสินค้า ที่จะใช้รางร่วมกันโดยศึกษาจากบทเรียนของหลายประเทศ เพื่อรับประกันความปลอดภัยสูงสุด
เพราะฉะนั้นจึงมีการกำหนดความเร็วในการเดินรถ ขนส่งผู้โดยสารในเขตพื้นที่สูงเอาไว้สูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ ในเขตพื้นที่ราบเป็น 200 กม./ชม. ในอนาคต ซึ่งในเรื่องความเร็วนั้น การออกแบบให้รถแล่นด้วยความเร็วสูงมากขึ้นเท่าไร ก็จะต้องลงทุนมากขึ้นตามกัน ส่วนการขนส่งสินค้าจำกัดความเร็วเอาไว้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ตลอดเส้นทาง ซึ่งการศึกษาได้พบว่า ความเร็วในระดับนี้ให้ประสิทธิผลสูงที่สุด สื่อของทางการรายงาน
รถไฟลาว-จีน ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า สามารถรับน้ำหนักได้ 3,000 ตันในระยะเริ่มแรก และ เพิ่มขึ้นเป็น 4,000 ตันในระยะยาว รัฐมนตรีคนเดียวกันกล่าวต่อที่ประชุมพนักงาน รัฐกร สมาชิกพรรค และ ประชาชนทั่วไปหลายร้อยคน หนังสือพิมพฺลาวพัดทะนา ของสมาคมนักข่าวแห่งชาติรายงาน
.
2
ทางรถไฟสายยาวกว่า 427 กม. ประกอบด้วยทางยกระดับ ทีมีระยะทางกัน 175.59 กม. คิดเป็น 41.10% ของระยะทางทั้งหมด มีสะพานรวม 170 แห่ง ยาวรวมกัน 69.2 กม. คิดเป็น 15.80% รวมทั้งสะพานข้ามแม่น้ำโขงจำนวน 2 แห่งในแขวงหลวงพระบาง นอกนั้นยังประกอบด้วยอุโมงค์ 72 แห่ง ยาวรวมกัน 183 กม. (ยาวกว่าช่วงทางยกระดับ) หรือ 43.07% ในนั้นเป็นอุโมงค์ที่มีความยาวเกิน 7 กม.จำนวน 7 แห่ง มีหนึ่งแห่งยาวที่สุดคือ 9.68 กม.
นอกจากงานก่อสร้างรางกับ "ถนน" แล้ว ยังมีงานก่อสร้างท่อระบายน้ำต่างๆ อีก 567 แห่ง รวมความยาว 21.60 กม.
ทั้งระบบประกอบด้วยสถานีจอดรวม 33 แห่ง ในนั้น 21 แห่งจะเปิดใช้ได้ในระยะต้น อีก 12 แห่งที่เหลือ จะเปิดในระยะต่อไป
รถไฟลาว-จีน ต้องใช้ที่ดิน รวมพื้นที่กว่า 3,000 เฮกตาร์ (18,750 ไร่) ประกอบด้วยที่ดินสองข้างทางตลอดเส้นทาง ข้างละ 50 เมตร ช่วงเข้าออกอุโมงค์แต่ละแห่ง ข้างละ 50 เมตร และ ยาว 100 เมตร สถานีจอดขนาดใหญ่ 3 จุด คือ เมืองหลวงพระบาง เมืองวังเวียง กับ ในนครเวียงจันทน์ ต้องใช้ที่ดินขนาด 3,000x500 เมตร สถานีขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง คือ ที่บ่อแตน นาเตย นาหม้อ เมืองงา กับเมืองกาสี จะใช้ที่ดินขนาด 2,000x500 เมตร
รัฐบาลลาวได้ออกนโยบายพิเศษ 6 ข้อ ครอบคลุมตั้งแต่เรื่อง การจ่ายเงินชดเชยแห่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ "อย่างเหมาะสมที่สุด" จนถึงสิทธิ์ในการใช้ที่ดิน (ซึ่งจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทร่วมทุน -- บก.) การเก็บค่าอากร (ขาเข้า-ขาออก) ค่าธรรมเนียมทรัพยากร ภาษีนำเข้า และ การเก็บค่าธรรมเนียมในการอยู่อาศัยและทำงานของแรงงานต่างประเทศ (จากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน -- บก.) กับมาตรการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนโครงการก่อสร้าง
การสำรวจเส้นทางในดินแดนลาว เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 2550 สองฝ่ายเซ็นความตกลงก่อสร้าง ในเดือน ธ.ค.2558 และ การก่อสร้าง "อุโมงค์มิตรภาพ" ข้ามชายแดนสองประเทศ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ปีนี้ เป็นอุโมงค์ ที่มีความยาว กว่า 9 กม. ในนั้นอยู่ในดินแดนจีน 7.17 กม. และ ในดินแดนลาวอีก 2.51 กม. จะใช้เวลาก่อสร้าง 56 เดือน
ตามรายงานของสื่อทางการจีน ฝ่ายจีนเองยังจะต้องก่อสร้างทางรถไฟอีกสายหนึ่ง ความยาวหลายร้อย กม. จากนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ไปยังชายแดนบ่แตนของลาว