รอยเตอร์ - รัฐบาลพม่าเผยแพร่นโยบายเศรษฐกิจที่เฝ้ารอมานานเมื่อวันศุกร์ (29) แต่เอกสารนโยบายกลับลงรายละเอียดเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น และมีแนวโน้มที่จะไม่คลายความวิตกกังวลของธุรกิจต่างๆ ที่รู้สึกผิดหวังต่อแผนการที่ยังขาดรายละเอียดนี้
นโยบายที่มีเพียงแค่ 3 หน้ากระดาษ นำออกเผยแพร่โดยกระทรวงวางแผนและการคลัง ในกรุงเนปีดอ หลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 8 เดือน
เอกสารประกอบด้วย นโยบาย 12 หัวข้อ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การให้ความสำคัญในกิจการที่ใช้แรงงาน เข้มข้นไปจนถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ยังคงขาดรายละเอียด หรือแผนที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น
หม่อง หม่อง วิน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการวางแผนและการคลัง กล่าวว่า เอกสารนโยบายที่ออกเผยแพร่ครั้งนี้ เป็นเพียง “ภาพรวม” ส่วนแผนการที่ลงรายละเอียดในแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจมากกว่านี้ จะนำออกเผยแพร่ในอนาคต แต่ยังไม่ทราบว่าเมื่อใด
“ผมไม่สามาระระบุวันที่แน่ชัดได้ แต่มันจะมี” หม่อง หม่อง วิน กล่าว
นอกจากสมาชิกพรรค NLD ยังมีเจ้าหน้าที่กระทรวง นักการทูต และตัวแทนกลุ่มช่วยเหลือระหว่างประเทศเข้าร่วมการเปิดตัวนโยบาย
ฮัน ตา มี้น สมาชิกอาวุโสของพรรค NLD กล่าวว่า ผู้ที่เข้าร่วมงานต่างมีความหวังที่จะได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งขึ้นถึงวิธีการที่รัฐบาลวางแผนไว้ในการส่งเสริมธุรกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่มีประชากร 51 ล้านคน
“พวกเขาขอรายละเอียด แต่มันคลุมเครือมาก ยังไม่มีอะไรเฉพาะเจาะจง” ฮัน ตา มี้น กล่าว
ดร.ซิด หน่าย ผู้อำนวยการกลุ่มดูแลสุขภาพระหว่างประเทศ Marie Stopes ประจำพม่า ที่เข้าร่วมงานกล่าวว่า หลายคนผิดหวังเกี่ยวกับการขาดรายละเอียดในนโยบาย
ภาคเอกชนตั้งคำถามมากขึ้นถึงความมุ่งมั่นของพรรค NLD ต่อภาคธุรกิจ เมื่อผู้นำประเทศมุ่งเป้าไปที่ความพยายามในกระบวนการสร้างสันติภาพที่ซับซ้อน
นับตั้งแต่เดือน เม.ย. รัฐบาลได้อนุมัติโครงการการลงทุนของคนท้องถิ่น และจากต่างชาติเพียงแค่ 19 โครงการ หลังล่าช้าไป 2 เดือน ในการดำเนินการปฏิรูปคณะกรรมการการลงทุน ที่ทำให้โครงการรอการอนุมัติค้างสะสมมากกว่า 100 โครงการ
เมื่อวันศุกร์ (29) ซูจี ได้พบหารือกับสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ 2 กลุ่ม ที่รวมทั้งสมาชิกของกองทัพสหรัฐว้า ที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ทรงอิทธิพลที่สุด และกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศ ครอบครองพื้นที่ใหญ่ตามแนวชายแดนพม่า-จีน และยังไม่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพที่เริ่มขึ้นโดยอดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง.