เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาตอกกลับข้อกล่าวอ้างว่ารัฐบาลของเขายอมก้มหัวให้กับแรงกดดันของจีนเพื่อช่วยล้มคำแถลงร่วมของอาเซียนเกี่ยวกับทะเลจีนใต้
ในคำกล่าวของฮุนเซนที่เต็มไปด้วยความไม่พอใจ ยังกล่าวหาว่าศาลระหว่างประเทศมีอคติทางการเมือง ในขณะที่ศาลเตรียมที่จะตัดสินข้อพิพาทระหว่างฟิลิปปินส์และจีนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งเป็นที่คาดกันอย่างกว้างขวางว่าศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ในกรุงเฮก จะมีคำตัดสินคัดค้านปักกิ่ง
ในการประชุมหารือของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจากจีนและ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เมืองคุนหมิง เมื่อสัปดาห์ก่อน สิ้นสุดลงพร้อมกับความโกลาหลและข้อกล่าวหาว่าปักกิ่งข่มขู่อาเซียน
ความขัดแย้งทางการทูตปะทุขึ้นเมื่อมาเลเซียออกคำแถลงร่วมจากสมาชิกอาเซียนที่แสดงความวิตกกังวลอย่างจริงจังต่อการถมทะเลและกิจกรรมอื่นๆ แม้คำแถลงที่ใช้คำรุนแรงจะไม่ได้เอ่ยชื่อจีน แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าอ้างถึงการสร้างเกาะเทียมของจีน
แต่คำแถลงดังกล่าวกลับถูกถอนออกอย่างกะทันหันด้วยเหตุผลที่ยังไม่ได้รับการอธิบายอย่างชัดเจน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการไร้ความสามารถของอาเซียนที่จะแสดงความสามัคคีในการเผชิญหน้ากับจีน ในขณะที่จีนเพิ่มการปรากฎตัวในน่านน้ำพิพาท
ข่าวหลายชิ้นได้อ้างคำกล่าวของแหล่งข่าวนักการทูตอาเซียนที่ระบุว่า ลาว กัมพูชา และพม่า พันธมิตรระดับภูมิภาคที่แน่นแฟ้นที่สุดของจีน เป็นเครื่องมือในการล้มคำแถลงอันเป็นฉันทามติ
ฮุนเซนกล่าวถึงข้อกล่าวอ้างเหล่านั้นว่า "ไม่สามารถยอมรับได้"
"มันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อกัมพูชา พวกเขาใช้เราและกล่าวโทษเรา" ฮุนเซน กล่าว
ฮุนเซนยังกล่าวตำหนิศาลอนุญาโตตุลาการด้วยว่า "สิ่งนี้ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย แต่เป็นเรื่องการเมือง ผมจะไม่สนับสนุนการตัดสินใดๆ ของศาล และคดีนี้เป็นการสมรู้ร่วมคิดทางการเมืองระหว่างบางประเทศและศาล"
จีนอ้างสิทธิอธิปไตยเกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ แม้จะมีชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน รวมทั้งไต้หวัน อ้างสิทธิทับซ้อนเหนือน่านน้ำดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ในปี 2555 รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนล้มเหลวที่จะออกคำแถลงร่วมเป็นครั้งแรกในวันสุดท้ายของการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยฟิลิปปินส์กล่าวโทษเจ้าภาพกัมพูชาว่าขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์จีน.