MGRออนไลน์ -- ปีนี้การค้นหาทหารเวียดนามที่เสียชีวิตในดินแดนลาวแต่ครั้งสงคราม นับว่าประสบความสำเร็จมากกว่าทุกๆ ปีในช่วงหลายปีมานี้ เมื่อรวบรวมตัวเลขย้อนหลัง ในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็จะพบว่า จำนวนอัฐิทหารที่ส่งคืนกลับประเทศนั้น มีมากกว่า 110 ชุด ถึงกระนั้นก็ยังมีทหารเวียดนามอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้กลับจากดินแดนลาว หลังสงครามมยุติลงกว่า 40 ปี
11 พ.ค.2559 ทางการแขวงสะหวันนะเขต กับ คณะทำงานกองบัญชาการทหารเขต 4 จ.กว๋างจิ (Quang Tri) ร่วมกันจัดพิธีส่งมอบอัฐิ "ทหารอาสาสมัคร" กับ "ผู้เชี่ยวชาญ" ชาวเวียดนาม จำนวน 37 ชุด กลับสู่ดินแดนมาตุภูมิ ซึ่งเป็นผลงานจากการค้นหาต่อเนื่อง ระหว่างปี 2557-2559 ในเขต 6 เมือง (อำเภอ) ของแขวง (จังหวัด) นี้
การส่งกลับบ้านเกิดจัดขึ้นอย่างสมเกียรติอีกครั้งหนึ่ง ที่บริเวณด่านชายแดนสะหวัน-ลาวบ๋าว ทางฝั่งลาวในวันถัดมา สื่อของกองทัพรายงาน
การร่วมมือในความพยายามค้นหาศพผู้เสียชีวิต ดำเนินมาเป็นเวลา 20 ปีเศษ มีทั้งในระดับประเทศ ระดับแขวง และ ระดับกองบัญชาการทหาร ทั้งนี้เนื่องจากทหารเวียดนามฃา ที่ถูกส่งเข้าสู่สงครามในดินแดนลาวเมื่อก่อนนั้น ส่งไปจากจังหวัดต่างๆ ของเวียดนาม หรือ ส่งไปจากหน่วยรบต่างๆ ของกองทัพประชาชน และ ถูกส่งเข้าไปปฏิบัติหน้า ตามท้องถิ่นต่างๆ ที่แน่ชัด ในดินแดนลาว
ต่อมาวันที่ 13 พ.ค. คณะผู้แทนจากแขวงสาละวัน และ แขวงเซกอง ได้ไปเข้าร่วมพิธีบรรจุอัฐิทหารเวียดนามจำนวน 15 ชุด เพื่อเก็บที่สุสานครอบครัวของแต่ละคน ใน จ.เถือะเทียนเหว (Thua Thien Hue) ทั้งหมดได้จากการร่วมขุดค้นหา ในช่วงฤดูแล้ง 2558-2559 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ 2 แขวงภาคกลางกับภาคใต้ของลาวที่เขตแดนติดกัน
พิธีบรรจุอัฐิในเวียดนามครั้งนี้ มีรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน สวัสดิการสังคมและทหารผ่านศึก ของเวียดนามเดินทางไปร่วมด้วย เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ทหาร ตำรวจ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา ใน จ.เถือะเทียนเหว อีกจำนวนมาก หนังสือพิมพ์รายวันของกองทัพประชาชนลาวรายงาน
วกขึ้นไปทางตอนเหนือของลาว ก่อนหน้านั้นในวันที่ 6 พ.ค. ทางการแขวงหัวพัน ได้จัดพิธีส่งอัฐิทหารอาสาสมัครกับผู้เชี่ยวชาญ ที่เสียชีวิตในดินแดนลาวเมื่อครั้งสงคราม กลับบ้านเกิดอีก 19 ชุด เป็นผลงานการขุดค้นในช่วงฤดูแล้ง 2558 จนถึงต้นปี 2559 นี้่ มีคณะผู้แทนฝ่ายทหารจาก จ.แทงฮว้า (Thanh Hoa) เวียดนามไป ร่วมพิธีด้วยเป็นจำนวนมาก "กองทัพประชาชน" ระบุ
แขวงหัวพัน กับ จ.แทงฮว้า เวียดนาม มีชายแดนติดกัน
.
2
ผู้แทนฝ่ายเวียดนามได้ "ขอบคุณด้วยน้ำใจ ต่อการนำของพรรค-รัฐ และ ประชาชนบรรดาเผ่าแขวงหัวพัน ที่ให้การร่วมมือในการส่งหน่วยข่าว เพื่อค้นหา รวบรวมข้อมูลข่าวสาร และ อำนวยความสะดวกให้คณะปฏิบัติงานพิเศษ 2 แขวง หัวพัน-แทงฮว้า ได้เคลื่อนไหวขุดค้นหาอัฐิในครั้งนี้ด้วยความสำเร็จ.. " หนังสือพิมพ์รายวัน เสียงของกองทัพกับกระทรวงกลาโหมกล่าว
และจังหวัดลาว-เวียดนาม ยังได้เซ็นความตกลงควมร่วมมืออีกฉบับหนึ่ง เพื่อร่วมค้นหาทหารที่เสียชีวิตต่อไป ในฤดร้อน 2559-2560 นี้ โดยครอบคลุม 10 เมือง (อำเภอ) ของแขวง
การสำรวจและการออกหาข้อมูลข่าวสารมักจะเริ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. ของทุกปี ส่วนการค้นหาและขุดค้น จะเริ่มในเดือน ต.ค. ไปยุติลงในปลายเดือน เม.ย.ปีถัดไป
ทั้งเวียดนามและลาวต่างวิตกว่า เวลาเนิ่นนานออกไป การค้นหาและโอกาสที่จะพบก็ยิ่งน้อยลง ทั้งนี้เนื่องพยานผู้พบ หรือ ผู้ที่ร่วมการฝังศพทหารที่เสียชีวิตโดยตรง ในท้องถิ่นต่างๆ เมื่อครั้งสงคราม ได้ค่อยๆ เลือนหายตายจากไป และ สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ก็เปลี่ยนไป
ก่อนหน้าสัปดาห์ต้นเดือน พ.ค. ทางการนครเวียงจันทน์ ได้ทำพิธีส่งมอบอัฐิทหารเวียดนามอีก 3 ชุด ที่ขุดได้ในเขตเมืองหลวง และ ส่างกลับไปยัง จ.ห่าตี๋ง (Ha Tinh) บ้านเกิด
ก่อนเทศกาลสงกรานต์เพียงไม่กี่วัน ก็ได้มีพิธีส่งมอบอัฐิทหารเวียดนามอีก 38 ชุด ที่ ขุดค้นพบใน 6 แขวงภาคเหนือ ซึ่งได้แก่ หลวงน้ำทา บ่อแก้ว อุดมไซ ผ่งสาลี หลวงพระบาง และแขวงเชียงขวาง โดยไม่นับรวมแขวงหัวพัน
ยังมีทหารเวียดนามอีกนับพันๆ คนที่ยังไม่ได้กลับจากสมรภูมิในดินแดนลาว.