เอเอฟพี - โฆษกสหประชาชาติเผยว่า เหตุเรือโดยสารล่มนอกชายฝั่งรัฐระไค (ยะไข่) ของพม่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่าง น้อย 21 คน รวมเด็ก 9 คน โดยเรือลำเกิดเหตุมีผู้โดยสารประมาณ 60 คน ขณะเดินทางจากค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศไปยังตลาดท้องถิ่น เมื่อวันอังคาร (19)
"ผู้โดยสารส่วนใหญ่บนเรือเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจากค่ายซินเต๊ตมอ ในเมืองป๊อกตอ" โฆษกสำนักงานเพื่อการประสายงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ในพม่า กล่าว
โฆษกสำนักงานของสหประชาชาติให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนกลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังเมืองสิตตเวเพื่อจับจ่ายที่ตลาด ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตคาดว่าจะเพิ่มสูงกว่านี้เนื่องจากยังไม่พบร่างผู้โดยสารอีกหลายคน
เมืองป๊อกตอล้อมรอบด้วยแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลและผู้คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นสามารถเดินทางไปตลาดที่อยู่ในเมืองสิตตเว ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐระไค ห่างออกไปไม่กี่สิบกิโลเมตร ได้เพียงทางเรือเท่านั้น
เจ้าหน้าที่จากกระทรวงกิจกรรมชายแดนและความมั่นคงของรัฐยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ให้ยอดผู้เสียชีวิตที่ 14 ราย
"เรือจมลงเพราะกระแสคลื่นรุนแรงในทะเล" เจ้าหน้าที่ กล่าว
เจ้าหน้าที่ระบุว่าผู้โดยสารเป็นชาวเบงกาลี ซึ่งเป็นชื่อที่เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่ใช้อ้างถึงชาวโรฮิงญา
ชาวโรฮิงญาถูกบังคับให้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่ถูกแบ่งแยกนับตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในรัฐระไค เมื่อปี 2555 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ความเคลื่อนไหวและการเข้าถึงบริการต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยเจ้าหน้าที่ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ที่หลายคนยืนยันว่าชาวโรฮิงญาเป็นชาวต่างชาติลักลอบเข้าเมืองจากบังกลาเทศ
.
รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่นำโดยนางอองซานซูจีให้คำมั่นว่าจะผลักดันการปกครองตนเองของชนกลุ่ม
น้อยชาติพันธุ์ของพม่าในความเคลื่อนไหวที่จะบรรเทาการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศ แต่อองซานซูจีต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศ ในข้อกล่าวหาว่าไม่แสดงจุดยืนมากพอต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญา และล้มเหลวที่จะส่งชื่อผู้สมัครชาวมุสลิมลงเลือกตั้งในเดือนพ.ย.
การขยายตัวของกระแสชาตินิยมชาวพุทธในทั่วประเทศมีขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่ยิ่งเพิ่มความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา ที่ส่วนใหญ่ถูกทำให้เป็นผู้ไร้รัฐจากกฎหมายพลเมืองของประเทศ แม้คนเหล่านี้จะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศมานานหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม
ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนหลบหนีการกดขี่ข่มเหงและความยากจนด้วยเรือที่ไม่แข็งแรงมุ่งหน้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ในปี 2558 การปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์ของไทย ทำให้บรรดาแก๊งค้ามนุษย์ทิ้งชาวโรฮิงญาไว้ทั้งบนบกและในทะเล ก่อให้เกิดวิกฤตในภูมิภาค
เมื่อสัปดาห์ก่อน คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพด้านการนับถือศาสนาของสหรัฐฯ เรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของซูจีปรับเปลี่ยนนโยบายและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมในรัฐยะไข่.