MGRออนไลน์ -- นางเหวียนถิกิมเงินได้สาบานตนต่อหน้าผู้แทนราษฎรจากทั่วประเทศจำนวนกว่า 500 คน ในวันพฤหัสบดี 31 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานรัฐสภาเวียดนามคนใหม่ ซึ่งทำให้กลายเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นสตรีคนแรกของประเทศ และ กลายเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในเวียดนามโดยปริยาย
"ข้าพเจ้าขอขอบคุณรัฐสภาที่เลือกข้าพเจ้า ขึ้นทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานรัฐสภา ต่อหน้าธงชาติแห่งดินแดนปิตุภูมิอันศักดิ์สิทธิ์ ต่อหน้ารัฐสภา ข้าพเจ้าของสาบานจะซื่อสัตย์ต่อปิตุภูมิ ต่อประชาชนและต่อรัฐธรรมนูญอย่างครัด ข้าพเจ้าขอปวารณาตัวเอง ปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อสนอง ความเรียกร้องต้องการของพรรค รัฐ และ ประชาชนเวียดนาม" นางกิมเงินกล่าว (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ) ขณะยืนบนแท่นปราศรัย ด้านหน้าของห้องประชุมใหญ่ และ ฝ่ามือซ้ายแตะบนหนังสือรัฐธรรมนูญ
พิธีจัดขึ้นอย่างเคร่งขรึม วงค์ดุริยางค์ทหารบรรเลงเพลงสดุดี สตรีผู้นี้กลายเป็นผู้นำระดับรัฐคนแรก ที่ทำพิธีสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง อันเป็นกระบวนการปฏิบัติใหม่ที่ริเริ่มโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ต่างไปจากที่ผ่านมาหลายสิบปี ที่ไม่เคยมีการปฏิบัติเป็นประเพณีมาก่อน สื่อของทางการรายงาน
ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะมีกำหนดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้าก็ตาม แต่เวียดนามได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนตัวผู้นำทางการเมืองของประเทศ ซึงจะอยู่ในอำนาจต่อไป ตลอดสมัย 5 ปีข้างหน้า โดยไม่ต้องรอการเลือกตั้ง ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์ ระหว่างการประชุมใหญ่ครั้งที่ 12 ของพรรคในเดือน ม.ค.ปีนี้่
ประธานรัฐสภาสตรีแห่งเวียดนาม เกิดวันที่ 4 ธ.ค.2497 เป็นชาว จ.เบ๊นแจ (Ben Tre) ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง ปฏิบัติงานในขบวนใต้ดินมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และ ได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางพรรคมาตั้งแต่ การประชุมใหญ่สมัยที่ 9, 10, 11 และ 12 และ เป็นสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรอำนาจสูงสุดของพรรค มาตั้งแต่การประชุมใหญ่ครั้งที่ 11 เมื่อปี 2554 และ เข้าดำรงตำแหน่งรองประธานคนที่ 1 ของรัฐสภาชุดปัจจุบัน
นางเหวียนถิกิมเงิน เป็นดาวรุ่งทางการเมืองคนหนึ่งของประเทศ เป็นสตรีที่ยืนอยู่บนแถวหน้าอย่างโดดเด่นตลอดมา เรียนสำเร็จปริญญาตรีสาขาการเงินและงบประมาณ ปริญญามหาบัณฑิตทางเศรษฐศาสตร์ เข้าทำงานในภาครัฐ ในจังหวัดบ้านเกิด ผ่านมาหลายตำแหน่งหน้าที จนกระทั่งได้ขึ้นเป็นหัวหน้าสำนักงานภาษีจังหวัด และ ได้รับเลือกเป็นประธานสภาประชาชน (สภาระดับจังหวัด) ในปี 2534 และ อยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี
ปี 2538 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเงิน เดินทางเข้ากรุงฮานอย และ ได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการ ในคณะกรรมการเศรษฐกิจศูนย์กลาง คณะเลขาธิการ ภายใต้คณะกรรมการกลางพรรค ทำหน้าที่นี้ต่อมาจนถึงปี 2549 และ ได้รับแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยการการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เป็นระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างเดือน พ.ค.2549-ม.ค.2550
.
.
ต่อมาในเดือน ก.ย.ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในสมัยแรกของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเหวียนเติ๋นยวุ๋ง ที่จัดตั้งขึ้น หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2549 และ อยู่ในตำแหน่งนี้มาจนกระทั่ง ปี 2554
ชีวิตหักเหครั้งสำคัญ เมื่อได้รับเลือกเป็นกรรมการกรมการเมือง ในองค์กรอำนาจสูงสุดของพรรค และ ต่อมาได้รับเลือกขึ้นเป็นรองประธานรัฐสภาคนที่ 1 (รัฐสภามัยที่ 12 คือ สมัยปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งปี 2554) จนกระทั่งมาสู่พิธีสาบานตนอันสำคัญในวันพฤหัสบดี
นางกิมเงินได้ชื่อเป็นนักต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่จริงจัง มีผลงานโดดเด่นมาแต่ครั้งเป็นผู้นำสำนักงานภาษีอากรในท้องถิ่น และ ระหว่างเป็นผู้นำองค์กรนิติบัญญัติในจังหวัดเบ๊นแจบ้านเกิด นอกจากนั้นยังเป็นผู้บริหารที่ใกล้ชิดกับประชาชน ติดตามเอาใจใส่ต่อความคิดเห็น กับความเรียกร้องต้องการของประชาชนตลอดมา
หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ฉบับวันศุกร์ 1 เม.ย.นี้ ได้ตีพิมพ์เรื่องราวในอดีต เดือน ก.ย. 9 ปีที่แล้ว ซึ่งเกิดเหตุการณ์สะพานใหญ่แห่งหนึ่งในจ.หวีงลอง (Vinh Long) พังลงมาระหว่างก่อสร้าง มีคนงานบาดเจ็บและเสียชีวิตไปหลายคน นางกิมเงิน ที่เพิ่งจะเข้ารับตำแหน่ง รมว.แรงงานและสวัสดิการสังคม ใหม่ๆ ซึ่งขณะนั้นกำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ ได้ประกาศยกเลิกกำหนดการ และ เดินทางไปยังนครใหญ่เขตที่ราบปากแม่น้ำโขงในทันที
เวลานั้นเส้นทางเข้าสู่จุดเกิดเหตุ ในเขต อ.นีงเกี่ยว ยังเป็นถนนลูกรังขุขระยากลำบาก หัวหน้าตำรวจในท้องถิ่นได้แนะนำให้เดินทางโดยรถยนต์ ไปต่อเรือ และ ต่อรถยนต์อีกครั้งหนึ่ง แต่รัฐมนตรีเลือกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งจะพาเข้าถึงพื้นที่ได้เร็วกว่า
"แต่งกายธรรมดาๆ นั่งมอเตอร์ไซค์ไปคนเดียว ไม่มีใครรู้ว่าเป็นรัฐมนตรีจากเมืองหลวง ใครๆ ก็เข้าใจว่า เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ พี่ป้าน้าอาคนหนึ่งไปเยี่ยมคนเจ็บ" เตื่อยแจ๋รายงานการเดินทางของนางกิมเงิน ซึ่งเข้าพื้นที่ ไปเยี่ยมเยือน ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่คนงานบาดเจ็บหลายครอบครัว ในหมู่บ้านห่างไกลในครั้งนั้น ซึ่งหลายคนยังอยู่ในโรงพยาบาลประจำอำเภอ.
.
2
3
4
ปลายเดือน ก.ย.2550 นางเหวียนถิกิมเงิน ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฯ ใหม่ๆ เดินทางไปยังที่เกิดเหตุสะพานถล่มใน จ.หวีงลอง ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง มีคนงานเสียชีวิตกว่า 20 บาดเจ็บอีกนับร้อย เป็นโศกนาฏกรรมระดับชาติ ไม่มีใครรู้นี่คือรัฐมนตรีที่เดินทางมาไกล 2,000 กิโลเมตรจากกรุงฮานอย เข้าพื้นที่ด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เยี่ยมคนเจ็บ ช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวเบื้องต้น. -- TuoitreOnline. |
5
6
7
8