ASTVจัดการออนไลน์ - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเงินของลาว กล่าวในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กระทรวงฯ จะเข้มงวดกวดขันการปฏิบัติหน้าที่ของบรรดาเจ้าหน้าที่ในแขนงงานของตนให้มากยิ่งขึ้น หลังจากกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก ท่ามกลางเสียงร้องเรียนอย่างหนาหูว่า เจ้าหน้าที่รัฐในแขนงการเงินมีความร่ำรวยอย่างผิดปกติ โดยไม่ทราบแหล่งที่มาของรายได้
ก่อนหน้านั้น รมช.คนเดียวกันเคยบ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำตอบคำถามของสมาชิกสภาแห่งชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา โดยระบุแต่เพียงว่า กระทรวงวงมีขั้นตอนตรวจตรากำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ส่วนนี้อยู่แล้ว
นายสีลา พอนแก้ว ให้สัมภาษณ์ที่สภาแห่งชาติ วันอาทิตย์ 27 ก.ย. รับปากจะเพิ่มการเข้มงวดกวดขันเรื่องนี้ หลังจากมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ที่กลาวหาว่าพนักงานจำนวนหนึ่งร่ำรวยผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแขนงจัดเก็บภาษีอากร และแขนงอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สื่อของทางการรายงาน
สังคมออนไลน์ระบุว่า เจ้าหน้าที่สรรพากรจำนวนหนึ่งที่ด่านสะพานมิตรภาพลาว-ไทย จ.หนองคาย กับด่านท่านาแล้ง มีความร่ำรวยขึ้นผิดปกติมาก “มีรถยนต์ราคาแพงขับ มีที่ดินมาก ทั้งๆ ที่เป็นพนักงานรัฐกร ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวอาจจะได้มาจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง ใช้ตำแหน่งหน้าที่แบบไม่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย”
รัฐมนตรีลาว กล่าวว่า ปัญหาร่ำรวยผิดปกติของพนักงานรัฐ “เป็นปัญหาโดยรวมของกระทรวงการเงิน” และที่ผ่านมา คณะกรรมการกระทรวงฯ ได้ลงตรวจสอบพนักงานเป็นปกติ หากพบเห็นการกระทำผิดก็ได้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายอย่างเข้มงวด พนักงานแขนงภาษีอากรก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน หนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา รายงาน
นายสีลา กล่าวด้วยว่า ข้อมูลต่างๆ จากโลกออนไลน์มีส่วนสำคัญ กรมภาษีอากรได้นำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการตรวจสอบนักงาน หรือกลุมเป้าหมายต่างๆ ตามระเบียบ และกระทรวงได้ร่วมกับแขนงที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และดำเนินการทางวินัยอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม ประชาคมออนไลน์ในลาวจำนวนหนึ่งที่ได้อ่าวข่าวชิ้นนี้เขียนแสดงความเห็นว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการรกระทรวงการเงิน ไม่ได้ให้ความหวังอะไรใหม่ ไม่ต่างกับที่เคยคำถามในสภาแห่งชาติ เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งไม่ได้แสดงหลักฐาน หรือรูปธรรมใดๆ ที่แสดงให้เห็นการเคร่งครัด แต่ความร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่ด่านภาษีสะพานมิตรภาพลาว-ไทย จ.หนองคายนั้นเห็นได้ชัดเจน
นายเลียน ถิแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน เปิดเผยในที่ประชุมสภาแห่งชาติ ในเดือน ก.ค.ปีที่แล้วว่า การจัดเก็บภาษีอากรยังรั่วไหลมากมายคิดเป็นเงินมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเก็บจากบริษัทธุรกิจต่างๆ ทั้งในในนครเวียงจันทน์ สะหวันนะเขต และจำปาสัก
ไม่นานก่อนหน้านั้น ทางการได้ติดตั้งระบบการจัดเก็บภาษีอัตโนมัติตามด่านตรวจคนเข้าเมืองหลายแห่ง ช่วยให้ผู้เสียภาษีคิดคำนวณอัตราภาษี และจ่ายภาษีด้วยสมาร์ทการ์ด ไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐเป็นเงินสด รวมทั้งที่ด่านท่านาแล้ง ด่านบ่อแตน แขวงหลวงน้ำทา ด่านสะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 4 แขวงบ่อแก้ว และที่ด่านวังเตา แขวงจำปาสัก ในอนาคตจะติดตั้งระบบนี้่ที่ทุกด่านชายแดน
.
2
แต่กระทรวงการเงินยอมรับ ในเดือน ก.ค.ปีนี้ว่า การจัดเก็บภาษีอากรยังมีปัญหาที่สลับซับซ้อนเรื้อรังมานาน มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบเข้มงวดเฉพาะในส่วนกลาง แต่ในระดับท้องถิ่นนั้น “องค์การปกครองท้องถิ่นยังไม่ได้ประสานสมทบ และให้การร่วมมือดีเท่าที่ควร ยังไม่ได้นำรายรับทรัพย์สิน ค่าทรัพยากรธรรมชาติ และรายรับวิชาการจำนวนหนึ่งรวมศูนย์เข้างบประมาณแห่งรัฐ”
ดร.เลียน ระบุดังกล่าว ระหว่างปราศรัยรายงานสถานการณ์ด้านการเงินการคลังของประเทศต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติในวันที่ 1 ก.ค.2558 ซึ่งเป็นวันแรกของประชุมสมัยที่ 7
“สาเหตุหนึ่งที่สำคัญก็เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นไม่สามารถปฏิบัติได้ตามแผนการ การเผยแพร่การโฆษณาระเบียบกฎหมาย ให้สังคมได้เข้าใจ ยังทำไม่ได้ดี ทำให้การบริหารจัดการจัดเก็บ (ภาษี) ประสบความยุ่งยาก” และ “บรรดาบริษัท และกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากยังหลบเลี่ยงการเสียพันธะอากรให้รัฐ”
นอกจากนั้น การเก็บภาษีอากรจากแขนงทรัพยากรแร่ธาตุลดลงอย่างมาก เนื่องจากราคาแร่ในตลาดโลกตกต่ำ บริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัท รวมทั้งภูเบี้ยมายนิ่ง เจ้าของสัมปทานเหมืองทอง-เหมืองเงินใภาคเหนือของลาว ได้รายงานผลประกอบการขาดทุน รัฐจึงไม่สามารถจัดเก็บภาษีกำไรได้ ธนาคารต่างๆ ล้วนไม่สามารถมอบอากรกำไรให้รัฐ และส่งเงินปันผลให้รัฐลดลง รัฐวิสาหกิจล้วนมีสภาพขาดทุน รวมทั้งการบินลาว บริษัทโทรคมนาคมลาว (ETL) ด้วย
นายเลียน ซึ่งอดีตเป็นเจ้าแขวงไซยะบูลี ระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า ไกลออกไปจากศูนย์กลาง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ยังมีการยกเว้นภาษีอากรนอกกฎหมายกำหนด ยังมีการนำเข้ารถยนต์ และพาหนะต่างๆ อย่างไม่ถูกต้อง และอย่างแพร่หลาย ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาการ “เบี้ยวภาษี” ที่คงค้างอย่างรัดกุม และการติดตามจัดเก็บรายรับจากวิสาหกิจการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างเช่นในแขนงเหมืองแร่ของภาครัฐเองก็ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน.