รอยเตอร์ - อองซานซูจี จะกำกับควบคุมรัฐบาลใหม่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในฐานะหัวหน้าพรรค และไม่มีแนวโน้มที่จะมีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในรัฐบาล ตามการเปิดเผยของพรรควานนี้ (20)
รัฐสภาพม่าเมื่อสัปดาห์ก่อนได้เลือกถิ่น จอ เพื่อนสนิทใกล้ชิดที่ซูจีไว้วางใจ เป็นประธานาธิบดี ทำให้ถิ่น จอ กลายเป็นผู้นำประเทศคนแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ที่ไม่ได้มาจากทหาร
ซูจี นำพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์อย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาลเผด็จการทหารห้ามซูจี นั่งเก้าอี้ผู้นำสูงสุดของประเทศ เพราะซูจี มีทายาทเป็นชาวต่างชาติ แต่ซูจีไ ด้ให้คำมั่นว่าจะบริหารประเทศเหนือประธานาธิบดี
พรรคไม่ได้ชี้แจงถึงวิธีการดำเนินการ ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ซูจีอาจรับตำแหน่งหลังรัฐบาลเข้าทำหน้าที่ในวันที่ 1 เม.ย.
“การรับตำแหน่งในรัฐบาลไม่ได้มีความสำคัญใดๆ อย่างเช่น ในสหรัฐฯ สมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนในรัฐสภาทีอิทธิพลอย่างมาก แต่พวกเขาก็ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในคณะรัฐมนตรี” ซอ มี้น หม่อง โฆษกพรรค NLD กล่าว
“เช่นเดียวกับที่นี่ เธอจะเป็นผู้นำพรรครัฐบาล และเธอจะนำรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยพรรค” โฆษกพรรค NLD กล่าว
กองทัพพม่ายังคงครองที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภา และมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 1 ชื่อ ซึ่งผู้สมัครจากฝ่ายทหารคือ พล.อ.มี้น ส่วย นายทหารเกษียณราชการ ที่ในสัปดาห์ก่อนผลการลงคะแนนเสียงในรัฐสภา พล.อ. มี้น ส่วย ได้เป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 1
ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ และซูจีจ ะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของการแยกออกจากการปกครองของทหาร นับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในปี 2505
ในวันนี้ (21) ถิ่น จอ ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับเลือก โดยให้คำมั่นว่าจะรักษาตำแหน่งงานของข้าราชการแม้ว่ารัฐสภาได้ตัดลดจำนวนกระทรวงลงประมาณ 1 ใน 3 เหลือแค่ 21 กระทรวง
ถิ่น จอ กล่าวว่า การปฏิรูปจะช่วยพม่าประหยัดงบประมาณมากกว่า 4.1 ล้านดอลลาร์ และงบประมาณในส่วนนี้จะนำไปใช้พัฒนาด้านสาธารณสุข การศึกษา และการพัฒนาชนบท
"ไม่มีเหตุผลที่จะทำให้เกิดการว่างงาน หากพนักงานของรัฐบาลมีตำแหน่งงานถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบ" ถิ่น จอ กล่าว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม
สมาชิกรัฐสภาที่เป็นนายทหารส่วนใหญ่ยังลงมติเห็นชอบกับการเปลี่ยนแปลงนี้
"ผมคิดว่าทหารเข้าใจว่าบางกระทรวงนั้นไม่มีความจำเป็น การให้ความร่วมมือของทหารคือสิ่งที่พัฒนาขึ้นในสภา" อ่อง หล่าย วิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค NLD กล่าว
แม้จะมีข้อความสนับสนุนและการให้ความร่วมมือ แต่เบื้องหลังสถานการณ์ยังคงตึงเครียดระหว่างทัพและ NLD ก่อนถึงการมอบอำนาจ
กองทัพได้ตั้งคำถามถึงตัวเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของ NLD และเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยต่อสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับโครงการเหมืองทองแดงเมื่อเดือนก่อน
ส่วนกองทัพที่มองว่าตัวเองเป็นดังผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ จะมีท่าทีตอบโต้ต่อความต้องการของซูจีที่จะบริหารประเทศอยู่เหนือประธานาธิบดีนั้นยังคงถูกจับตามอง ด้วยรัฐธรรมนูญระบุว่าประธานาธิบดีอยู่เหนือคนทั้งหมดในพม่า
ตามวาระการประชุมของรัฐสภาระบุว่า ประธานสภาจะเปิดตัวคณะรัฐมนตรีในวันอังคาร (22) และรัฐบาล NLD จะเริ่มต้นการทำงานในวันที่ 1 เม.ย.