MGRออนไลน์ -- รอคอยมาเป็นเวลาหลายปีวันนี้ใกล้ความจริงเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง สุดสัปดาห์นี้เว็บไซต์ข่าวกลาโหมบางแห่ง ได้เผยแพร่ภาพเรือดำน้ำของอินโดนีเซียในสภาพเสร็จสมบูรณ์ ให้เห็นเป็นครั้งแรก ที่อู่ต่อเรือของบริษัทแดวู (Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering) ทางตอนใต้ของเกาหลี ซึ่งจะมีพิธีปล่อยลงน้ำในเร็วนี้ และ มีกำหนดส่งมอบปีนี้
เรือลำนี้ติดหมายเลข 403 ตั้งชื่อรอเอาไว้แล้วคือ เรือ KRI Nagabanda (นาคาบันดา) และ นี่คือเรือชั้นชังโบโก (Chang Bogo-Class) หนึ่งในสามลำที่อินโดนีเซีย สั่งต่อจาก DSME เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2554 โดยมีกำหนดส่งมอบครบทั้งหมด ในครึ่งแรกของปี 2561 คืออีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะต่อที่อู่อ็อคโป (Okpo Shipyard) ของ DMSE จำนวน 2 ลำ อีกลำหนึ่งจะต่อในอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตามในเดือน เม.ย.2556 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขแบบเรือ โดยอินโดนีเซียขอปรับเปลี่ยนขนาด ขยายให้ยาวขึ้น เพิ่มจากระวาง 1,200 ตัน เป็น 1,400 ตัน ซึ่งส่งผลให้การ่งมอบล่าช้าออกไปหนึ่งปี ขณะที่สื่อในอินโดนีเซียรายงานว่า การก่อสร้างอู่ต่อเรือที่เมืองสุราบายา (Surabaya) เพื่อเปิดสายการผลิตเรือชังโบโก Type 209/1,400 ลำที่สาม ก็อาจจะไม่แล้วเสร็จตามกำหนด
การปล่อยเรือลงน้ำหมายถึง กำลังจะมีการติดตั้งอุปกรณ์และระบบควบคุมต่างๆ รวมทั้งระบบโซนาร์และเรดาร์ตรวจใต้น้ำหลายชุด และ ระบบอาวุธบนเรือ ก่อนเข้าสู่กระบวนการทดสอบจริงในทะเล ซึ่งจะใช้เวลาอีกหลายเดือนข้างหน้า
ตัวอย่างเรือชั้นคิโลที่เวียดนามซื้อจากรัสเซีย แต่ละลำได้ผ่านการทดสอบถึง 5 ขั้นตอน รวม 5 ครั้ง และ ถ้าหากมีการปรับปรุงแก้ไขก็ระหว่างนั้น ก็อาจจะต้องใช้เวลา 7-8 เดือน ก่อนจะเสร็จสมบูรณ์และนำไปส่งมอบให้ลูกค้า
เพราะฉะนั้นกว่า DSME จะส่งมอบเรือ KRI Nagabanda ได้ก็จะเป็นช่วงปลายปีอย่างแน่นอน ตรงตามกำหนดการที่เลื่อนมาจากกำหนดเดิมปี 2558
เรือชังโบโก (จังโบโก) Type 209/1200 พัฒนาขึ้นจากโครงเดิมของเรือ Type 209/1200 โดยบริษัทโฮวาลด์สเวิร์ค-ดอยช์ เวิร์ฟต์ (Howaldtswerke-Deutsche Werft) แห่งเยอรมนี ที่ผลิตออกมาหลายขนาด คือ 209/1100, 209/1200, 209/1300, 209/1400 และ 209/1500 เพื่อส่งออกโดยเฉพาะ
แม้จะไม่เคยมีเรือเหล่านี้ประจำการในกองทัพเรือเยอรมนีก็ตาม แต่ก็สามารถจำหน่ายให้แก่ลูกค้าได้กว่า 10 ประเทศ รวมจำนวนกว่า 60 ลำ และ ยังคงมีการผลิตออกมาเป็นระยะๆ ตามการสั่งซื้อ กลุ่มอุตสาหกรรมแดวูแห่งเกาหลีซื้อสิทธิบัตร Type 209/1200 ไปปรับปรุงใหม่ในหลายด้าน และ ต่อออกมาเป็นขนาด 1200 ตันเช่นเดิม ราชนาวีไทยเองก็เคยมีข่าวว่า ให้ความสนใจเรือดำน้ำรุ่นนี้
กองทัพเรือเกาหลี เริมนำเรือชังโบโก Type 209/1200 เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 9 ลำ จากโครงการต่อทั้งหมด 13 ลำ และ ในปี 2555 ได้เริ่มต่อชังโบโก Type 209/1400 ยาว 61 เมตรให้กองทัพเรืออินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อบรรทุกเต็มที่ก็จะมีระวางกว่า 1,500 ตัน
Type 209/1200 เป็นเรือดำน้ำโจมตีเร็ว ติดเครื่องยนต์ดีเซล/มอเตอร์ไฟฟ้าที่ผลิตในเยอรมนี เรือยาว 56 ใช้พลปฏิบัติการ 33 คน ความเร็วบนผิวน้ำ 11 นอต (20 กม./ชม.) และ ความเร็วใต้น้ำ 21.5 นอต (39.8 กม./ชม.) ผ่านการทดสอบดำน้ำได้ลึกสุด 500 เมตร ปฏิบัติการใต้น้ำได้เป็นระยะเวลา 50 วัน (หรือจนกว่าเสบียงจะหมด) มีระยะทำการไกลสุด 20,000 กม.ต่อเที่ยว
.
2
3
เรือติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 530 มม.จำนวน 8 ท่อ บรรทุกได้ทั้งหมด 21 ลูก กับ SUT ตอร์ปิโด อีก 24 ลูก ดัดแปลงติดจรวดนำวิถีฮาร์ พูน (Hapoon) ได้ เช่นเดียวกับ Type 209-1400
กองทัพเรืออินโดนีเซียมีกำหนดจะปลดระวางเรือดำน้ำ Type 209 รุ่นเก่าทั้ง 2 ลำในปี 2563 หลังใช้งานมาตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งก็คือเรือชั้นจักรา (Cakra-Class) นั่นเอง
เมื่อปีที่แล้วทางการอินโดนีเซียประกาศแผนการจัดหาเรือดำน้ำอย่างน้อย 12 ลำในระยะ 5 ปี และได้มีการพิจาณาทั้งเรือชังโบโก เรือชั้นอามูร์ (Amur-Class) จากรัสเซีย เรือ Type 214 จากเยอรมนี กับเรือชั้นคิโล (Kilo-Class) จากรัสเซียอีกรุ่นหนึ่ง
เรือดำน้ำมีความจำเป็นล้นพ้น สำหรับภารกิจในการรักษาน่านน้ำที่กว้างใหญ่ กับหมู่เกาะที่อยู่หางไกลจากเมืองหลวงออกไปหลายพันกิโลเมตร มีความสลับซับซ้อนทั้งทางด้านการเมือง และด้านภูมิรัฐศาสตร์
เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว อินโดนีเซียประกาศ การตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำชั้นคิโล แบบเดียวกันของกองทัพเรือเวียดนามในชั้นแรกจำนวน 2 ลำ มีข่าวหนาหูว่า สองฝ่ายมีกำหนดเซ็นสัญญาซื้อขายในเดือน เม.ย.นี้ พร้อมกับการเซ็นสัญญาซื้่อเครื่องบินรบ Su-35 ของรัสเซียอีก 8 ลำ
ถึงแม้อาจจะมีเรือดำใหม่หลายลำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 ที่กองทัพเรืออินโดนีเซีย เคยเป็นมหาอำนาจใต้ผิวน้ำในย่านนี้อย่างแท้จริง เคยมีเรือชั้นวิสกี (Whiskey-Class) ที่ซื้อจากสหภาพโซเวียตถึง 12 ลำ แต่ได้ทยอยปลดระวางประจำการ จนกระทั่งลำสุดท้ายเมื่อปี 2529
เมื่อปลดระวางเรือชั้นจักราทั้ง 2 ลำในอีก 3-4 ปีข้างหน้า อินโดนีเซียก็อาจมีเรือดำน้ำรุ่นใหม่ ประจำการรวม 5-7 ลำ ทั้งเรือชังโบโกกับเรือคิโล ถึงกระนั้นก็ยังห่างไกลจากความต้องการมาก และ มีรายงานอีกเช่นกันว่าอินโดนีเซีย อาจจะต้องทำสัญญาเพิ่มเติมกับกลุ่มแดวู เพื่อต่อเรือชังโบโก 1,400 ตันอีกจำนวนหนึ่งที่อู่สุราบายา
ปัญหาทางเศรษฐกิจ กับปัญหาทางการเมืองภายใน ทำให้กองทัพอินโดนีเซียละความสนใจจากแผนพัฒนากองเรือดำน้ำไปเป็นเวลาหลายปี รัฐบาลประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ที่ประกาศวิสัยทัศน์ "กลับคืนสู่รากเหง้า" ที่ประเทศนี้ เคยเป็นมหาอำนาจทางทะเลมาก่อน และ ได้ทุ่มเทให้แก่การพัฒนากองกำลังป้องกันทางน้ำอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับการพัฒนาเรือบรรทุกสินค้า.