รอยเตอร์ - แฮกเกอร์ชาวพม่าเผยว่าเป็นผู้โจมตีเว็บไซต์รัฐบาลไทย ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. รวมทั้งขโมยข้อมูลจากเว็บไซต์ ส่วนหนึ่งของการดำเนินการที่มีมายาวนานต่อบรรดาผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่า
กลุ่ม Blink Hacker Group ระบุบนหน้าเพจเฟซบุ๊ก และให้สัมภาษณ์ทางอีเมลว่า การโจมตีของกลุ่มเป็นการตอบโต้ต่อคำตัดสินประหารชีวิตชาวพม่า 2 คน ในคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเมื่อปลายปีก่อน
กลุ่มระบุว่า ได้โพสต์ข้อมูลที่ได้มาจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมของไทย โดยระบุว่า ฐานข้อมูลจากเว็บไซต์ของรัฐบาลเว็บใดก็ตามที่กลุ่มเจาะได้ควรเผยแพร่สู่สาธารณชน
ตำรวจไทยระบุว่า พวกเขายังไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตี แต่ปฏิเสธว่าผู้ก่อเหตุมาจากพม่า
พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การโจมตีส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นเพียงแค่การก่อกวน และเว็บไซต์สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยไม่มีปัญหาอะไร
นักวิจัยระบุว่า นับตั้งแต่พม่าเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ และสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลทหารในปี 2554 การโจมตีคอมพิวเตอร์ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่การโจมตีเว็บไซต์ประเทศอื่นๆ ด้วยแนวคิดชาตินิยมไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกลุ่มผู้โจมตีที่มีฐานอยู่ในพม่าเคยโจมตีสื่อในประเทศที่ถูกมองว่าวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล หรือสนับสนุนชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา รวมทั้งเว็บไซต์สื่ออิสระอย่าง อิรวดี (Irrawaddy) และดีวีบี (Democratic Voice of Burma - DVB) เพราะเชื่อว่าสื่อไม่ควรถูกใช้เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ และโฆษกของทั้งสองเว็บไซต์ได้ยืนยันว่าพวกเขาเคยถูกแฮก
ทอร์ด ลุนด์สเตริม นักวิจัยชาวสวีเดนที่ทำงานกับบริษัทที่ให้บริการเว็บไซต์สื่ออิสระ ที่รวมทั้ง เว็บไซต์อิรวดี กล่าวว่า ข้อมูลโดเมนโฮสติ้งเชื่อมโยงกลุ่ม Blink Hacker Group และกลุ่มอื่นๆ เข้ากับบริษัทที่ให้บริการออกแบบเว็บไซต์ และบริการด้านความปลอดภัยที่มีสำนักงานในนครย่างกุ้ง และกิจกรรมบนเฟซบุ๊กของกลุ่มแฮกเกอร์ชี้ว่ามีความเชื่อมโยงอย่างไม่เป็นทางการต่อบุคคลที่มีภูมิหลังเกี่ยวข้องต่อทหาร
ก่อนหน้านี้ กลุ่ม Blink Hacker Group ระบุว่า พร้อมที่จะทำงานร่วมกับกองทัพพม่า เพื่อพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตให้ดียิ่งขึ้น แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากกองทัพแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน กลุ่มยืนยันว่า สมาชิก 20 คน ของกลุ่มไม่มีความเกี่ยวข้องต่อกองทัพ
ยาน นาย มี้น ผู้ก่อตั้งบริษัท Cyber Wings Asia ระบุว่า บริษัทของเขาเป็นผู้จัดหาเว็บโฮสติ้งให้แก่กลุ่ม Blink Hacker Group แต่ทั้งตัวเขา และธุรกิจของเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรม หรือการแฮกของกลุ่ม Blink Hacker Group แต่อย่างใด
เย ตุ๊ต โฆษกรัฐบาลพม่าหัวเราะต่อคำกล่าวอ้างที่ว่า กองทัพมีหน่วยโจมตีไซเบอร์ โดยระบุว่า บางครั้งประชาชนก็ประเมินความสามารถของกองทัพสูงเกินไป.