xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 10-16 ม.ค.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ศาลฎีกาฯ ไต่สวนคดีจำนำข้าวนัดแรก อดีต ปธ.ทีดีอาร์ไอ เบิกความมัด “ยิ่งลักษณ์” รับจำนำข้าวผิดวัตถุประสงค์ ทำรัฐเจ๊ง 5.3 แสนล้าน!
(บน) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ  จำเลยคดีโครงการรับจำนำข้าว (ล่าง) นายนิพนธ์ พัวพงศกร อดีตประธานทีดีอาร์ไอ
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก คดีโครงการรับจำนำข้าว ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ อัยการได้นำนายนพดล ทิพยวาน บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 และนายนิพนธ์ พัวพงศกร อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ขึ้นเบิกความในฐานะพยานโจทก์

โดยนายนพดลเบิกความเกี่ยวกับการนำเสนอภาพข่าวและเสียงที่เป็นบทสัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการทำบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) กับต่างประเทศ และการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)

ขณะที่นายนิพนธ์ เบิกความถึงผลการวิจัยโครงการจำนำข้าวในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่า การจำนำข้าวเปลือกได้ดำเนินการมานานถึง 30 ปี ซึ่งในอดีตจะมีหลักการรับจำนำข้าว โดยให้ราคาต่ำกว่าราคาตลาด โดยวัตถุประสงค์ของการรับจำนำข้าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจน ไม่รวมถึงผู้ประกอบการค้า และการดำเนินโครงการจะมีการจำกัดปริมาณข้าวเปลือก แต่เมื่อถึงยุครัฐบาลทักษิณ ในปี 2548-2549 ก็ได้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะมีการจำกัดปริมาณให้รัฐรับซื้อข้าวจากชาวนา แต่ได้ถูกปรับหลักการให้รับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด จึงไม่ถูกต้องตามหลักทฤษฎีจำนำข้าวในอดีต

เช่นเดียวกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่รับซื้อข้าวเปลือกในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดและไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกที่จะซื้อจากเกษตรกรต่อคน ซึ่งทีดีอาร์ไอเคยเสนอปริมาณการรับซื้อที่เหมาะสมในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ว่าควรรับซื้อ 15 ตันต่อคน แต่โครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับเขียนให้รับซื้อข้าวเปลือกทุกเมล็ด จึงเหมือนกับรับซื้อข้าวเปลือกทุกกรณี ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ที่เน้นช่วยเหลือชาวนากลุ่มย่อย และการตั้งวงเงินที่สูงกว่าก็ขัดต่อกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก นอกจากนี้ ทั้งสองรัฐบาลก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนชื่อโครงการ ทำให้เกิดความสับสน ขณะที่ในยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ดำเนินโครงการจำนำข้าว ซึ่งนายนิพนธ์ได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะว่าต้องเน้นหลักการช่วยเหลือชาวนารายย่อย ยากจน และต้องจำกัดปริมาณรับซื้อข้าวเปลือก 15 ตันต่อชาวนา 1 คน แต่เมื่อนำหลักการไปปฏิบัติในทางการเมือง ไม่สามารถดำเนินการตามทฤษฎีได้ทั้งหมด จึงได้มีการปรับเป็นโครงการประกันรายได้

นายนิพนธ์ ยังเบิกความยืนยันด้วยว่า ทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันวิจัย ไม่ได้เป็นศัตรูกับรัฐบาลใด และวัตถุประสงค์การทำวิจัยของทีดีอาร์ไอก็เพื่อพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และว่า โครงการประกันราคาข้าวในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์มีผลขาดทุน 130,000 ล้านบาท แต่บางช่วงที่ผลผลิตมีราคาเกินจากราคารับประกันที่รัฐตั้งไว้ ทางรัฐจะเป็นฝ่ายชดเชยส่วนต่างให้ โดยประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศก็ใช้วิธีนี้ และยอมรับว่าโครงการประกันราคาข้าวเป็นการแทรกแซงราคา แต่ไม่ถือว่าแทรกแซงกลไกตลาด ขณะที่ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการรับจำนำข้าวได้เพียงร้อยละ 50 ซึ่งข้อจำกัดไม่ใช่เรื่องงบประมาณ แต่เนื่องจากโรงสีที่อยู่ในโครงการมีจำนวนน้อย และเกษตรกรไม่ได้นำพื้นที่เพาะปลูกมาจดทะเบียน รวมถึงมีการสวมสิทธิ์ ทำให้ไม่สามารถเข้าโครงการรับจำนำข้าวได้ เกษตรกรบางส่วนจึงต้องขายข้าวให้กับโรงสีที่ได้สิทธิ์ ผลประโยชน์จึงไม่ได้ตกอยู่กับเกษตรกรที่มีฐานะยากจน แต่กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์คือเกษตรกรที่มีฐานะปานกลางขึ้นไป

และว่า แม้โครงการรับจำนำข้าวจะปิดบัญชีไปแล้ว แต่ในภาพรวมยังไม่มีการปิดบัญชี เพราะยังขายข้าวไม่หมด ซึ่งทำให้ไม่มีวินัยการคลัง ส่วนที่ตนทำรายงานเกี่ยวกับความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าว แล้วไม่มีหน่วยงานรับรอง เพราะตนไม่ได้ทำรายงานเสนอรัฐบาล จึงไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานใดมารับรอง และการตรวจข้อมูลตัวเลขความเสียหายในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบว่าตัวเลขความเสียหายจำนวน 5.3 แสนล้านบาทก็ตรงกับผลการตรวจสอบโครงการในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งในตัวเลขดังกล่าวยังพบว่ามีการทุจริตถึง 80,000-100,000 ล้านบาท ขอให้ศาลเรียกข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์มาตรวจสอบด้วย

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานโดยอ้างอิงจากสถิติของหน่วยงานราชการ เชื่อว่ามีการนำข้าวที่รับจำนำแล้วรอบ 3 มาสวมคืนรอบ 4 เนื่องจากตรวจสอบพบว่าข้าวรอบ 4 มีอยู่มากและเป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำ นอกจากนี้ การใช้เงินนอกงบประมาณของโครงการรับจำนำข้าวใช้มากถึง 860,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าวงเงินที่ตั้งไว้ 5 แสนกว่าล้านบาท และการขาดทุนของโครงการนี้มีผลผูกพันเปรียบเสมือนมัดมือรัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถจ่ายเงินช่วยชาวสวนยางได้ “การตั้งราคาจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 50 ทำให้เราส่งออกไม่ได้ นโยบายของรัฐในการช่วยเหลือชาวนานั้นไม่ผิด แต่ต้องไม่ทำลายระบบที่มีการแข่งขัน ซึ่งเรื่องนี้ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 88 วรรคแรก ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับ ปรส. ที่นำเงินรัฐบาลไปอุ้มสถาบันการเงิน ในช่วงวิกฤตประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศล้มละลาย จะต่างกับโครงการรับจำนำข้าวที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินอุ้ม”

หลังศาลไต่สวนพยานโจทก์ทั้งสองปากเสร็จสิ้น ศาลได้นัดไต่สวนพยานโจทก์ปากต่อไปในวันที่ 17 ก.พ. ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จากนี้ต้องเดินทางมาศาลทุกเดือนเพื่อฟังการสืบพยาน เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ขอพูดว่าห่วงหรือหนักใจกับการเบิกความของพยานโจทก์หรือไม่ โดยบอกเพียงว่า ทนายทำทุกอย่างเต็มที่

2.คกก.แก้ปัญหายาง เคาะแล้ว รับซื้อที่ กก.ละ 45 บ.จำนวน 1 แสนตัน เตรียมชง ครม. 19 ม.ค.นี้!

 (บน) นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.ปชป.และอดีตแกนนำ กปปส.ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องเร่งแก้ปัญหาราคายางพารา (ล่างซ้าย) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ (ล่างขวา) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ
ความคืบหน้าปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางระบุว่า ราคาต่ำสุดในรอบ 100 ปี พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายางพารา(น้ำยางสด) ที่กิโลกรัมละ 80 บาท โดยนัดรวมตัวแสดงพลังว่าชาวสวนยางเดือดร้อนในวันที่ 12 ม.ค. ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุว่า รัฐบาลกำลังช่วยอยู่แล้ว แต่ชาวสวนยางต้องปฏิรูปตัวเองด้วย ต้องปลูกพืชเสริมเพื่อช่วยเหลือตัวเองบ้าง

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า นายกฯ ได้ประชุมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 7 ม.ค. โดยเห็นพ้องกันว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตกลงจะซื้อยางเพื่อไม่ให้ราคาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ โดยปัจจุบันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 34 บาท รวมถึงมีมาตรการแก้ปัญหาอีก 16 มาตรการที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้มีคำสั่งให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง 8 กระทรวงรับซื้อยางพารา โดยให้รวบรวมว่าสามารถรับซื้อยางเพื่อนำไปใช้ในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงได้เท่าใด แล้วส่งให้กระทรวงเกษตรฯ โดยนายกฯ ให้แต่ละกระทรวงใช้งบประมาณของตัวเองในการรับซื้อ

ด้านนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส.ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และว่า ครึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยได้ จึงไม่สามารถแก้ปัญหา นอกจากนี้รัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบ ควรตั้งผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะมารับหน้าที่แก้ปัญหา และขอให้รัฐบาลนำเงินที่เหลือจากโครงการมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพการยางไปซื้อยางจากเกษตรกร เพื่อชี้นำราคาให้สูงขึ้น

ขณะที่การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) จำนวน 8 คนตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ โดยมี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธานกรรมการ ภายหลังมีการตั้งกรรมการเพิ่มในส่วนของภาครัฐอีก 7 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากส่วนราชการต่างๆ ทำให้บอร์ด กยท.มีครบจำนวน 15 คนแล้ว นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติในหลักการกรอบแนวทางการแก้ปัญหายางพารา โดยเห็นว่าราคาที่เหมาะสมในการรับซื้อ ไม่ควรเกินกิโลกรัมละ 60 บาท และควรรับซื้อในปริมาณ 2 แสนตัน ใช้วงเงินในการรับซื้อ 12,000 ล้านบาท

ด้าน พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า(อคส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหายางพาราเป็นการเร่งด่วน ได้ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปราคายางที่ อคส.จะซื้อจากเกษตรกรโดยตรงตามนโยบายรัฐบาล ที่ราคาไม่เกิน 60 บาท/กก. โดยการซื้อยาง 1 แสนตันต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลและจัดสรรโควต้าการรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางก่อน คาดว่าจะซื้อยางจากเกษตรกรได้ภายในปลายเดือน ม.ค. ส่วนมาตรการชดเชยไร่ละ 1,500 บาทนั้น ทาง คสช. กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย จะลงไปสำรวจและเร่งรัดจ่ายเงินชดเชยให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้

ทั้งนี้ พล.ต.ต.ไกรบุญ ได้นำข้อสรุปที่ได้จากการประชุมเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน พิจารณาอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 ม.ค. โดยที่ประชุมมีมติรับซื้อยางแผ่นดิบจากเกษตรกรโดยตรงในราคากิโลกรัมละ 45 บาท ส่วนยางชนิดอื่น เช่น น้ำยางสด ยางก้นถ้วย จะรับซื้อในราคาลดหลั่นตามที่เคยรับซื้อมา โดยตัวเลข 45 บาทนั้นทุกฝ่ายพอใจ หากมีความพร้อมก็สามารถรับซื้อได้ทันที

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การรับซื้อยางครั้งนี้ มอบหมายให้ อคส. กรมการยาง และ คสช. ทำหน้าที่รับซื้อ โดยใช้เงินของกองทุนยาง พร้อมยืนยันว่า ยางที่รับซื้อมาจะไม่นำไปเก็บไว้ แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ จะรับไปดำเนินการต่อ และว่า จะนำมติของที่ประชุมเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณางบประมาณทั้งหมดที่จะใช้ในการรับซื้อ โดยปริมาณรับซื้อที่กำหนดไว้เบื้องต้น คือ 1 แสนตัน แต่หากยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็พร้อมที่จะรับซื้ออีก

เป็นที่น่าสังเกตว่า มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หลายหน่วยงานแก้ปัญหาราคายางพารา ทั้งที่เป็นงานหลักของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว โดยยืนยันว่า ไม่จริง เพราะตนเป็นทหาร เมื่อได้รับภารกิจ ก็ต้องดูแลต่อไปให้สำเร็จ พล.อ.ฉัตรชัย ยังเผยด้วยว่า กระทรวงเกษตรฯ จะเริ่มรับซื้อยางพาราตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.นี้เป็นต้นไป สำหรับงบประมาณรับซื้อยาง จะดึงมาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา(เซส) ของ กยท. ที่สะสมอยู่ 31,000 ล้านบาท โดยจะนำมาใช้ในการรับซื้อยางวงเงิน 4,500 ล้านบาทก่อน ซึ่งตามกฎหมายสามารถทำได้

3.มส.ประชุมลับเสนอชื่อ “สมเด็จช่วง” เป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ ขณะที่ “พระพุทธะอิสระ” ยื่น 3 แสนชื่อค้าน ด้าน“วิษณุ” ยัน รบ.ไม่นำเรื่องที่มีผู้ต่อต้านขึ้นทูลเกล้าฯ แน่!

(บน) พระพุทธะอิสระ ยื่นรายชื่อประชาชน 3 แสนคน ถึงนายกฯ  ค้านตั้งสมเด็จช่วง เป็นพระสังฆราช (ล่างซ้าย) พล.ต.หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล (ล่างขวา) พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาฯ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ
ความคืบหน้าเกี่ยวกับกระแสคัดค้านการเสนอแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ หลังเครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้ยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ขอให้ชะลอการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เนื่องจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ที่คาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อ เนื่องจากอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ยังมีข้อครหาในทางคดีความและพระธรรมวินัย

ปรากฏว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่า มส.ได้ประชุมลับนัดพิเศษตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ม.ค.แล้ว และมีมติเสนอสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 ซึ่งตอนแรกยังไม่มีใครออกมายืนยันว่าเป็นเรื่องจริง โดยนายประดับ โพธิกาญจนวัตร รองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ยืนยันเพียงว่า การประชุม มส.เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ไม่ได้หารือเรื่องการเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม 2 วันต่อมา(13 ม.ค.) นายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการ พศ. ได้ออกมายอมรับว่า การประชุม มส.เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ประชุมได้ลงมติรับรองการประชุม มส.เมื่อวันที่ 5 ม.ค. เรื่องเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ เพื่อทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว แต่ขอสงวนนามไว้ก่อน

ด้านพระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน 3 แสนคน ถึงนายกรัฐมนตรี และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 พร้อมเรียกร้องให้นายกฯ ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์คัดสรรพระเถรผู้ทรงธรรม ทรงวินัย มีพระจริยวัตรงดงาม เป็นที่ยอมรับและเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทั่วไปขึ้นทูลเกล้าฯ เนื่องจากประชาชนชาวพุทธมิอาจเลื่อมใสศรัทธาบุคคลที่มีปัญหา ไม่เป็นที่ศรัทธามาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข่าวการประชุมลับของ มส.เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ว่า การประชุมลับหรือไม่ลับไม่มีความแตกต่าง ถ้าการประชุมมีมติรับรองถูกต้อง ก็จบ แต่ตามขั้นตอน หากรัฐบาลได้รับรายชื่อมา นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จะเป็นผู้รับไว้ ก่อนทำความเห็นเสนอมายังตน เพื่อทำความเห็นส่งต่อไปยังนายกฯ ส่วนที่มีการยื่นรายชื่อคัดค้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์นั้น นายวิษณุ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่เอากระแสคัดค้านมาเป็นหลัก แต่รัฐบาลก็จะไม่นำเรื่องที่ไม่ถูกต้องหรือเรื่องที่มีการต่อต้านขึ้นกราบบังคมทูล “รัฐบาลไม่ถือเอาเรื่องคัดค้านเป็นใหญ่ เพราะการคัดค้านจะมีอยู่เสมอ ถ้าค้านแล้วนำไปสู่ความไม่เข้าใจ แตกแยก ไม่สงบ รัฐบาลจะต้องจัดการทำให้เรื่องเหล่านั้นบรรเทาเบาบาง เพราะไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตาม จะไม่นำเรื่องที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เป็นเรื่องที่มีคนยังวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้าน เกิดความไม่สงบขึ้นกราบบังคมทูลฯ เป็นอันขาด...”

นายวิษณุ ยังพูดถึงประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชด้วยว่า มีทุกแบบ พร้อมยกตัวอย่างว่า ในอดีตเมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 ของไทย สิ้นพระชนม์ ได้ใช้เวลาห่างจากองค์ก่อนหน้านั้น 37 ปี และเมื่อผ่านไป 2 รัชกาล คือ รัชกาลที่ 5 และ 6 จึงได้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรนิเวศวิหาร และเมื่อท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้ 2 ปีก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้น ผ่านไปอีก 11 ปี จึงได้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ดังนั้น หากจะเอาตามประเพณีก็มีทุกแบบ จะอ้างว่าต้องเร็วหรือช้าไม่ได้ เพราะการแต่งตั้งทุกคราวต่างมีเหตุผล จึงต้องดูความเหมาะสม

ขณะที่นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติส่งมติ มส.เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ถึงมือตนแล้ว ซึ่งเป็นมติเห็นชอบร่วมกันของกรรมการ มส. โดยมีกรรมการ 3 รูปไม่ได้เข้าร่วมประชุม คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(มานิต นิตถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(วีระ ภทฺทจารี) เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวราราม

นายสุวพันธุ์ เผยด้วยว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ ตนต้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนรอบด้าน เพื่อให้นายกรัฐมนตรีมีข้อมูลครบทุกประเด็น โดยตั้งแต่สัปดาห์หน้าจะหารือกับ พศ.เพิ่มเติม รวมทั้งอาจต้องหารือกับคณะสงฆ์และนายวิษณุด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน

ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้ออกมาขู่ว่า หากรัฐบาลดองเรื่องแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์ทั่วประเทศพร้อมจะนัดรวมตัวแสดงสังฆามติให้รัฐบาลได้เห็น

ขณะที่ พล.ต.หม่อมเจ้า จุลเจิม ยุคล ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยใช้หัวข้อว่า “อย่าเอาผ้าขาวที่เปรอะเปื้อนสกปรก มีราคี มาตัดฉลองพระองค์ เพื่อทูลเกล้าฯ ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงสวมใส่เด็ดขาด” โดยชี้ว่า สมเด็จพระสังฆราช “สกลมหาสังฆปริณายก” มีอำนาจหน้าที่สูงสุดในคณะสงฆ์ ทั้งยังต้องเป็นแบบอย่างแห่งจริยวัตรของคณะสงฆ์ “แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินยังต้องทรงกราบไหว้” จึงขอความกรุณา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาตรวจสอบให้ดีก่อนนำรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับการเสนอชื่อแบบลับๆ จากมหาเถรสมาคม(มส.) ขึ้นทูลเกล้าฯ

พล.ต.หม่อมเจ้าจุลเจิม ยังตั้งคำถามด้วยว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับการเสนอชื่อแบบลับๆ จาก มส.มีความสง่างามสมกับเป็น “สกลมหาสังฆปริณายก” ประธานการปกครองสงฆ์หรือไม่....ถูกสังคมพุทธบริษัทวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้านอย่างรุนแรง มีมลทิน ยุ่งเกี่ยวกับลัทธิอลัชชี ที่ทำลายสังฆมณทลหรือไม่.... ฯลฯ รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องช่วยกันลดพระราชภาระ ต้องหาทางคลี่คลายปัญหาก่อน ไม่ใช่บ้าจี้นำเรื่องที่ มส.เสนอมาขึ้นถวาย เพื่อลงทรงพระปรมาภิไธย เพื่อปัดภาระให้พ้นๆ จากตัวเอง อย่าทำให้พระเจ้าแผ่นดินต้องมากราบไหว้สมเด็จพระสังฆราชที่เกี่ยวโยงกับลัทธิอลัชชี มีมลทิน ขอวิงวอนให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งที่มีจริยวัตรงดงาม ปราศจากมลทิน ที่สำคัญ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงกราบไหว้ด้วยความสบายพระทัย มิใช่ต้องทรงกราบไหว้ตามขนบประเพณีเท่านั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ นำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือเรื่องที่มีมูลวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้าน เกิดความขัดแย้ง ขึ้นทูลเกล้าฯ จริง จะเป็นตราบาป ที่จะติดตัว พล.อ.ประยุทธ์ และวงศ์ตระกูลไปตลอดชีวิต

4.ขบวนการฯ สุขภาพภาค ปชช. จี้ยกเลิกปลดบอร์ด สสส.-หยุดแช่แข็งงบประมาณ ขู่เคลื่อนไหวใหญ่ ด้าน “บิ๊กตู่” เตรียมใช้ ม.44 ให้บอร์ด สสส.ที่เหลือทำงานได้!

(บน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (ล่าง) ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน(ขสช.)
ความคืบหน้ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ข้าราชการและผู้นำท้องถิ่น 59 ราย พ้นจากตำแหน่ง เพื่อสะดวกต่อการสอบสวนว่ามีการทุจริตหรือไม่ โดยในจำนวนดังกล่าว มีรองประธานและกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(บอร์ด สสส.) ด้วย 7 คน ส่งผลให้ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน(ขสช.) ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ 20 เครือข่ายออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งของหัวหน้า คสช. โดยชี้ว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม เนื่องจากที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ(คตร.) ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของ สสส.และบอร์ดแล้ว ไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด โดยขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน นัดประชุมใหญ่ตัวแทนจากเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศในวันที่ 11 ม.ค. เพื่อประกาศแนวทางในการเคลื่อนไหวคัดค้านคำสั่งดังกล่าวของ คสช.นั้น

ปรากฏว่า หลังการประชุมเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ขสช.ได้ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้ยกเลิกคำสั่งปลดบอร์ด สสส.ทั้ง 7 คน หากตรวจสอบไม่พบความผิดใดๆ เพราะเป็นการปลดโดยไม่ชอบธรรมและไม่พบการทุจริต 2.การระงับการจ่ายงบประมาณดำเนินการและไม่อนุมัติโครงการที่ได้ลงนามในความตกลงร่วมปฏิบัติงานกับ สสส.แล้ว ซึ่งมีจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,953 ล้านบาท มีผู้ปฏิบัติงานในองค์กรต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 5,200 คน หากโครงการยังถูกแช่แข็ง ไม่จ่ายเงินตามงวดความตกลง ขสช.จะยื่นฟ้อง สสส.ต่อศาลปกครอง 3.กรณีผู้มีอำนาจสั่งการให้มีการไล่เบี้ยเก็บภาษีมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมงานกับ สสส. โดย ขสช.จะร่วมกันฟ้องร้องเพื่อยกเลิกประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับการเก็บภาษีดังกล่าว เพราะการปฏิบัติงานระหว่างภาคีกับ สสส.ไม่ใช่การรับจ้างทำของ แต่เป็นการดำเนินงานเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยจะติดตามผลการประชุมของบอร์ด สสส.ในวันที่ 15 ม.ค. ว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง หากไม่ทำเพื่อระบบสุขภาพ ไม่ยอมรับข้อเรียกร้อง จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การประชุมบอร์ด สสส.เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากนักกฎหมายทักท้วงบอร์ด สสส.ที่เหลือว่า อาจมีองค์ประกอบไม่ครบ เพราะขาดรองประธานบอร์ด คนที่ 2 ซึ่งถูกคำสั่ง คสช.ให้พ้นจากตำแหน่งไปด้วย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ ในฐานะประธานบอร์ด สสส.จึงให้นำรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลือ 2 คน เสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันที่ 19 ม.ค.เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นรองประธานบอร์ด สสส.คนที่ 2 หาก ครม.เห็นชอบ คาดว่าจะมีการประชุมบอร์ด สสส.ในวันที่ 22 ม.ค.

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ถึงกรณีให้บอร์ด สสส.บางส่วนยุติการทำหน้าที่ ส่งผลให้บอร์ดที่เหลือ องค์ประกอบไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถประชุมได้ว่า ในวันที่ 18 ม.ค.นี้ จะออกคำสั่งให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ ให้บอร์ดที่เหลือทำงานได้ สามารถอนุมัติได้ รวมถึงแต่งตั้งผู้บริหาร กรรมการต่างๆ ได้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ขอโทษ สสส.ด้วย พร้อมยืนยันว่า ตนไม่ได้ต้องการทำลาย แต่อยากสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และสนับสนุนให้เดินหน้า ไม่ได้ต้องการครอบครอง สสส.แต่อย่างใด

5.พี่สาว “ฮันนาห์” เหยื่อเกาะเต่าตำหนิตำรวจ-ศาลไทยพูดทำร้ายความรู้สึก พร้อมแฉถูกขู่ฆ่า-ใช้เงินปิดปาก ด้าน “จักรทิพย์” จ่อดำเนินคดี!

(บนซ้าย) นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม (บนขวา) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. (ล่าง) น.ส.ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ พี่สาวของ น.ส. ฮันนาห์ ซึ่งถูกฆาตกรรมที่เกาะเต่า โพสต์เฟซบุ๊ก
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. สื่อหลายสำนักของอังกฤษ รายงานว่า น.ส.ลอรา วิทเธอร์ริดจ์ พี่สาวของ น.ส. ฮันนาห์ วิทเธอร์ริจด์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษซึ่งเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมพร้อมกับนายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งศาลจังหวัดเกาะสมุยได้พิพากษาประหารชีวิต 2 แรงงานชาวพม่าไปเมื่อเร็วๆ นี้ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตำหนิทางการไทยว่า ไม่ใส่ใจความโศกเศร้าของครอบครัวตน เจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลใช้ถ้อยคำทำร้ายความรู้สึก ขณะที่ตัวเธอก็ถูกข่มขู่เอาชีวิต และมีผู้พยายามเสนอเงินเพื่อให้หยุดพูดหลังเกิดเหตุฆาตกรรมน้องสาว และว่า ครอบครัวไม่เห็นด้วยกับการตัดสินว่า แรงงานชาวพม่า 2 คนเป็นผู้ลงมือสังหารและข่มขืน น.ส.ฮันนาห์ โดยมีการลิงก์ไปที่วิดีโอของ "แอนโนนีมัส" ที่กล่าวหาตำรวจไทยว่าใช้แรงงานพม่า 2 คนเป็นแพะรับบาป

ทั้งนี้ น.ส.ลอรา โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 10 ม.ค. หลังทราบข่าวการเสียชีวิตของลุค มิลเลอร์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษคนล่าสุด ซึ่งเสียชีวิตในสระว่ายน้ำของโรงแรมแห่งหนึ่งที่เกาะเต่าเมื่อไม่กี่วันก่อน โดย น.ส.ลอรา ระบุว่า จำเป็นที่จะต้องบอกกล่าวให้ผู้คนรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย ประเทศที่ได้ชื่อว่า “สวยงามที่สุดในโลก” ทั้งที่จริงคนไทยบางส่วนเกลียดชาวตะวันตกและเห็นความสำคัญในชีวิตมนุษย์น้อยมาก และว่า “นับตั้งแต่ฮันนาห์เสียชีวิต ก็มีคนเสียชีวิตอย่างน่าสงสัยที่เกาะเต่าอีกหลายราย บางทีคุณอาจไม่ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพวกเขา เพราะพวกเขาไม่ใช่คนอังกฤษทั้งหมด การเสียชีวิตของคนเหล่านี้อาจถูกปกปิด ด้วยการทำให้เป็นเหตุฆ่าตัวตาย และอุบัติเหตุ สิ่งนี้อาจเกิดกับฮันนาห์ หากเธอไม่ได้ถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายทารุณเสียก่อน”

น.ส.ลอรา ระบุอีกว่า ระหว่างที่ครอบครัวพยายามติดตามคดีของน้องสาว ตนถูกขู่เอาชีวิตจากคนไทยหลายครั้ง โดยมีผู้ส่งรูปของเธอที่โดนฉีกใบหน้ามาให้ พร้อมข้อความว่า “ฆาตกรทำงานเสร็จไปแค่ครึ่งเดียว” ทั้งยังมีการส่งภาพถ่ายจากที่เกิดเหตุที่น่าสยดสยองมาให้ ซึ่งทำให้เธอหวาดกลัวและฝันร้าย เธอยังเผยด้วยว่า มีคนไทยบางกลุ่มพยายามเสนอเงินชดเชยเพื่อให้ครอบครัวของเธอเลิกติดตามคดี แต่เธอรู้สึก “สะอิดสะเอียนอย่างยิ่ง” และบอกให้พวกเขาเอาเงินไปทิ้งเสีย

น.ส.ลอรา ยังระบุด้วยว่า ตลอดเวลาของการพิจารณาคดี ทั้งผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลได้แสดงความเห็นที่ทำร้ายความรู้สึกของครอบครัววิทเธอร์ริดจ์เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งถ้อยคำที่ว่า “ยังจะต้องวุ่นวายอะไรอีก? กลับบ้านไปเสีย ไปทำลูกใหม่อีกคนก็แล้วกัน อีก 30 วันเธอก็กลับมาเกิดใหม่แล้ว ชาติหน้าเธออาจจะโชคดีกว่านี้” น.ส.ลอรา บอกด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยส่วนใหญ่ทุจริต ทั้งยังหลอกให้ครอบครัวของเธอเข้าร่วมการแถลงข่าวโดยไม่เต็มใจ ทั้งที่ตอนแรกบอกว่าเป็นการเชิญไปให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ด้านนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ออกมายืนยันว่า การพิจารณาคดีเกาะเต่าเป็นไปอย่างเปิดเผย และไม่มีเหตุผลที่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่จะกล่าวถ้อยคำดังที่ น.ส.ลอราระบุ เพราะศาลยุติธรรมให้ความคุ้มครองสิทธิของฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตเช่นเดียวกับฝ่ายจำเลยตลอดการพิจารณาเหมือนคดีทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากครอบครัวผู้เสียชีวิตมีข้อมูลเพียงพอ สามารถร้องเรียนผ่านสถานทูตอังกฤษมายังสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(กต.) ได้ ศาลยุติธรรมพร้อมจะรับฟังและสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้สิ้นสงสัยในประเด็นต่างๆ

ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ยืนยันว่า คดีเกาะเต่า ตนได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัด มีการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างแน่นหนา และใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้สั่งให้ฝ่ายกฎหมายและกองการต่างประเทศแปลและตรวจสอบข้อความของสื่อมวลชนต่างประเทศและข้อความในเฟซบุ๊กของ น.ส.ลอรา อย่างละเอียด เพื่อดูว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหรือไม่

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 12 ม.ค. เว็บไซต์สำนักงานศาลยุติธรรมได้ถูกแฮกเกอร์บุกรุกจนใช้งานไม่ได้ โดยเว็บเพจหน้าแรกกลายเป็นสีดำ และมีรูปสัญลักษณ์คล้ายหน้ากากสีขาว พร้อมข้อความภาษาอังกฤษว่า “BLINK HACKER GROUP” และ “Failed Law We Want Justice ! # Boycott Thailand” ซึ่งจากการสืบค้นพบว่า “BLINK HACKER GROUP” เชื่อมโยงกลุ่มที่ใช้ชื่อ Anonymous Myanmar Hacker
กำลังโหลดความคิดเห็น