MGRออนไลน์ -- พม่ายังมีแปลงสำรวจก๊าซและน้ำมันดิบ นอกชายฝั่งอีกจำนวน 13 แปลง ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีเต็งเส่ง จะอนุมัติให้นำออกประกวดราคาเพื่อทำการสำรวจได้แล้วก็ตาม แต่กระทรวงพลังงานเก็บเอาไว้ เพื่อดำเนินการเอง ยังไม่มีแผนการจะเปิดให้ให้บริษัทพลังงานต่างชาติเข้ามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการผลิตพลังงานในประเทศที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้
"ในขณะนี้เรามีแปลงสำรวจเหลืออยู่ 13 แปลง แต่เราไม่มีแผนการใดๆ ที่จะเชื้อเชิญการเข้าร่วมประกวดราคา (เพื่อสำรวจ) แปลงเหล่านี้" สำนักข่าวมี๊ตมะคา (Myitmakha) ซึ่งเป็นของเอกชน รายงานอ้างนายตานถุน (Than Htun) ที่ปรึกษาแห่งกระทรวงพลังงาน
ทั้ง 13 แปลง รวมอยู่ในแปลงนอกชายฝั่งทั้งหมด 38 แปลง ที่รัฐบาลอนุมัติให้ทำการประกวดราคาดึงดูดนักลงทุนได้ ซึ่งในจำนวนนี้มี 16 แปลง ถ้าหากสำรวจพบก๊าซหรือน้ำมันดิบก็จะผลิต เพื่อใช้ภายในประเทศ นอกจากนั้นยังมีแปลงบนบกอีก 53 แปลง ที่ได้รับไฟเขียวเพื่อจุดประสงค์อันเดียวกัน
ในจำนวนแปลงสำรวจที่ยังไม่มีนโยบายนำออกประกวดราคา มี 3 แปลงอยู่นอกชายฝั่งในบริเวณน้ำลึก อีก 10 แปลง อยู่ในเขตน้ำตื้น ส่วนที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการไปแล้วนั้น 18 แปลงอยู่ในเขตน้ำลึก และ อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ประโยชน์ ส่วนอีก 20 แปลงยังสำรวจไม่พบ
ปัจจุบันมี 17 บริษัทกำลังเจาะหาทรัพยากรพลังงานในแปลงสำรวจนอกชายฝั่ง กับอีก 19 บริษัทได้รับอนุญาตให้ขุดเจาะหา ในแปลงสำรวจบนบก และ กำลังดำเนินการ สำนักข่าวแห่งเดียวกันอ้างข้อมูลของกระทรวงพลังงาน
ในปัจจุบันบริษัทน้ำมันต่างๆ เหล่านั้น กำลังสำรวจหรือขุดเจาะอยู่แถบชายฝั่งรัฐระไค (ยะไข่/ทางตะวันตกของประเทศ) ชายฝั่งเขตตะนาวศรี รวมทั้งในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่งแหล่งหลังสุดเป็นที่ทราบกันดีว่า ได้นำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้งานราว 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยส่วนใหญ่ส่งจำหน่ายให้แก่ประเทศไทย
.
.
การเปิดเผยข้อมูลล่าสุดนี้ยังมีขึ้น ในขณะที่พม่ากำลังจะเปลี่ยนรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งพรรคฝ่ายค้านของนางอองซานซูจีมีชัยแบบถล่มทลาย
เป็นที่ทราบกันดีว่า 50 ปีในยุครัฐบาลทหาร ทางการได้มอบสัมปทานการสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาโดยตลอด และ หนักข้อยิ่งขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ยุครัฐบาลกึ่งพลเรือนในปี 2554 โดยมีบริษัทต่างชาติเป็นผู้ลงทุนหลัก ซึ่งทำให้การสำรวจปิโตรเลียม เป็นแขนงการลงทุนที่นำหน้าของพม่า
อย่างไรก็ตามในระยะหลังนี้ พม่าเริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการลงทุน จากการให้สัมปทานผูกขาด กลายเป็นการร่วมผลิต หรือ แบ่งปันผลผลิต ซึ่งทำให้ประเทศเจ้าของทรัพยากร เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีอัตราเสี่ยงด้านลงทุนที่สูงขึ้น.