เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เดินทางเยือนพม่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งสำคัญเมื่อปีก่อน เรียกร้องให้ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด ก่อนรัฐบาลของอองซานซูจี จะรับไม้ต่อในเดือนหน้า
รัฐบาลกึ่งพลเรือนของพม่าได้ดำเนินการปฏิรูปที่ส่งผลให้เกิดการเลือกตั้งเดือน พ.ย. ที่ทำให้ได้เห็นพรรคของนางอองซานซูจี กวาดชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย
การปฏิรูปเหล่านั้นยังรวมถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน หลายคนถูกจำคุกตั้งแต่การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศด้วยความเข้มงวด และโหดเหี้ยมเป็นเวลา 5 ทศวรรษ
ในการหารือที่กรุงเนปีดอ เมื่อวันจันทร์ (18) แอนโธนี เจ บลิงเคน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้พบกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง ซูจี และผู้นำระดับสูงของกองทัพ โดยได้แสดงความยินดีต่อการจัดการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ
แต่บลิงเคน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของเต็งเส่งปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่เหลืออยู่ทั้งหมด รวมทั้งผู้ที่ถูกดำเนินคดีในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ในความเคลื่อนไหวทางกฎหมายที่ก่อให้เกิดความวิตกว่ารูปแบบการปราบปรามเช่นในอดีตหวนกลับมาอีกครั้ง
“หนึ่งในเครื่องหมายของกระบวนการการปฏิรูป คือ นักโทษการเมือง 1,300 คน หรือมากกว่านั้นได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ ที่จะเป็นมรดกการปฏิรูปที่สมบูรณ์หากนักโทษการเมืองถูกปล่อยตัวทั้งหมด เพื่อให้ช่วงเวลาของการถ่ายโอนอำนาจเป็นไปอย่างสมบูรณ์ และรัฐบาลใหม่ที่เข้ารับหน้าที่จะไม่มีใครถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำจากมุมมองทางการเมืองของตัวเอง” บลิงเคน กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหลังการพบหารือ
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มีนักโทษการเมืองจำนวนมากที่ยังอยู่ในเรือนจำตั้งแต่ยุครัฐบาลเผด็จการทหาร
เต็งเส่ง มักปล่อยตัวนักโทษในช่วงเวลาสำคัญต่างๆ ในกระบวนการปฏิรูป รวมทั้งก่อนการเยือนของบุคคลที่มีตำแหน่งสูง รวมทั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามา
แต่ในเดือน มี.ค.ปีก่อน ทางการพม่าได้ดำเนินการปราบปรามรุนแรงต่อการชุมนุมประท้วงนำโดยนักศึกษาในเมืองเลตปาด้าน ห่างจากนครย่างกุ้งไปทางเหนือราว 2 ชั่วโมง ที่นักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวประมาณ 60 คน ยังคงถูกขังอยู่ในเรือนจำ
โอบามา ได้อัดฉีดต้นทุนทางการเมืองจำนวนมากเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของพม่าจากระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการเสนอความช่วยเหลือทางการเงิน และการสนับสนุนทางการทูต
แต่สหรัฐฯ ได้แสดงอย่างชัดเจนถึงความไม่สบายใจต่อประเด็นความรุนแรงที่ยังดำเนินอยู่ระหว่างกองทัพพม่า และกบฏชาติพันธุ์ รวมทั้งความรุนแรงทางศาสนา และนโยบายเลือกปฏิบัติ ที่มุ่งเป้าไปยังชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา ในภาคตะวันตกของประเทศ
บลิงเคน เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้าทำหน้าที่ยุติการเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงในกลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ที่รวมทั้งประชากรชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่
“ทางแก้ไขปัญหาคือ กฎหมายถูกนำไปใช้อย่างเท่าเทียมต่อทุกคน” บลิงเคน กล่าว
การประชุมนัดสุดท้ายของสภาชุดปัจจุบันมีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 29 ม.ค. แต่รัฐบาลชุดใหม่จะยังไม่ตั้งขึ้นจนกว่าเดือน มี.ค.