เอเอฟพี - กรมการบินพลเรือนเวียดนามกล่าวหาปักกิ่งคุกคามความปลอดภัยทางอากาศในภูมิภาค ด้วยการดำเนินการเที่ยวบินที่ไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าผ่านน่านฟ้าของเวียดนามไปยังแนวปะการังที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ สื่อท้องถิ่นเผย
กรมการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) เตือนว่า เที่ยวบินที่ไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยของทุกเที่ยวบินในภูมิภาค ตามการรายงานในหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋
ในคำกล่าวอ้างที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ภาษาเวียดนาม Zing.vn เมื่อช่วงค่ำวันศุกร์ (8) ลาย ซวน แถ่ง ผู้อำนวยการกรมการบินพลเรือนเวียดนาม ระบุว่า หนังสือประท้วงเกี่ยวกับเที่ยวบินต่างๆ ได้ส่งไปยังปักกิ่ง รวมทั้งการร้องเรียนถึงองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
“เครื่องบินจีนได้ละเลยกฎระเบียบ และมาตรฐานทุกข้อของ ICAO ด้วยการไม่แจ้งแผนการบินใดๆ หรือรักษาการติดต่อทางวิทยุกับศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศของเวียดนาม“” ลาย ซวน แถ่ง กล่าว
ในช่วง 7 วัน จนถึงวันที่ 8 ม.ค. เวียดนามสามารถบันทึกเหตุการณ์การบินของเครื่องบินจีนโดยไม่มีการแจ้งเตือนให้ทราบได้ถึง 46 ครั้ง ผ่านน่านฟ้าที่ตรวจสอบโดยศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศในนครโฮจิมินห์ ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่การบินพลเรือนที่ระบุอยู่ในรายงานของหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋
สื่อทางการของจีนระบุเมื่อวันพุธ (6) ว่า เครื่องบินพลเรือน 2 ลำ ได้ลงจอดบนเกาะในแนวปะการังเฟียรี่ครอส ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่เป็นศูนย์กลางของข้อขัดแย้งระหว่างเวียดนาม และเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่รายนี้
เที่ยวบินทดสอบทั้ง 2 เที่ยวบินในวันพุธ เกิดขึ้นหลังจากเครื่องบินลำแรกลงจอดในวันเสาร์ (2) ที่ทำให้เกิดการร้องเรียนทางการทูตอย่างเป็นทางการครั้งแรกจากฮานอย
เวียดนามอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ แต่จีนเข้าควบคุมอยู่ และยังเพิ่มกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าวด้วยการสร้างเกาะเทียมขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทางขึ้นลงเครื่องบินที่ระบุว่าสามารถรองรับเครื่องบินขับไล่ของทหารได้
เที่ยวบินจีนที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนนี้ถูกเวียดนามประณามว่าเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่ออธิปไตยของประเทศ และก่อให้เกิดความวิตกกังวลจากนานาประเทศ ที่สหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนเมื่อวันพฤหัสบดี (7) ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดในน่านน้ำพิพาทแห่งนี้ ขณะที่ฟิลิปปินส์ระบุว่า จะยื่นหนังสือประท้วงต่อประเด็นนี้เช่นกัน
จีนอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ ขณะที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคของจีนทั้ง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ต่างอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้เช่นกัน
หลายชาติในกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งเวียดนาม ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นบนเกาะที่พวกเขาควบคุมอยู่ แต่คืบหน้าช้ากว่า และมีขนาดเล็กกว่าของจีน
เหตุจลาจลปะทุขึ้นในเวียดนามหลังปักกิ่งเคลื่อนแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปในน่านน้ำพิพาทในปี 2557 และมีชาวจีนอย่างน้อย 3 คน เสียชีวิตจากเหตุจลาจลที่เกิดขึ้น
นับตั้งแต่นั้นทั้งสองฝ่ายได้พยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เดินทางเยือนกรุงฮานอยในเดือน พ.ย. แต่การเยือนครั้งดังกล่าวมีการประท้วงต่อต้านจีนเกิดขึ้นด้วย
ด้านเจ้าหน้าที่เวียดนามกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า พวกเขาได้ร้องขอให้ปักกิ่งสืบสวนเหตุปะทะ และจมเรือประมงลำหนึ่งของเวียดนามโดยเรือจีนต้องสงสัย.