xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์มองทะเลจีนใต้ตึงเครียดสูง หลังจีนส่งเครื่องบินลงจอดเกาะเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>รันเวย์บนเกาะปะการังเฟียรี่ครอส หนึ่งใน 3 รันเวย์ที่จีนกำลังก่อสร้างบนเกาะเทียมจากแนวปะการังและเกาะปะการัง 7 แห่ง ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ปรากฎให้เห็นจากการศึกษาวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยไอเอชเอส เจนส์ (IHS Jane’s) กลุ่มกิจการข้อมูลข่าวกรองและสื่อด้านกลาโหมชื่อดังระดับโลก ที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2559. -- Reuters/CNES 2015. Distribution Airbus DS/IHS: 1640203.</font></b>

รอยเตอร์ - การลงจอดครั้งแรกของเครื่องบินจีนบนหนึ่งในรันเวย์ของเกาะใหม่ของประเทศในทะเลจีนใต้ แสดงให้เห็นว่าสิ่งอำนวยความสะดวกของปักกิ่งในพื้นที่พิพาทได้สำเร็จเสร็จสิ้นตามกำหนด และเที่ยวบินทหารจะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต่างชาติและนักวิเคราะห์ กล่าว

การแสดงตัวทางทหารที่เพิ่มขึ้นของจีนในทะเลพิพาทอาจนำไปสู่การประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศที่ควบคุมโดยจีน ที่จะเพิ่มความตึงเครียดต่อประเทศที่อ้างสิทธิอธิปไตยอื่นๆ และสหรัฐฯ ในพื้นที่ที่อ่อนไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศของจีนยืนยันเมื่อวันเสาร์ (2) ว่า เที่ยวบินทดสอบโดยเครื่องบินพลเรือนได้ลงจอดบนเกาะเทียมที่สร้างขึ้นในหมู่เกาะสแปรตลีย์ นับเป็นครั้งแรกที่ปักกิ่งใช้รันเวย์ดังกล่าว

เวียดนาม ได้ดำเนินการประท้วงทางการทูตอย่างเป็นทางการ ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า มะนิลากำลังวางแผนที่จะดำเนินการแบบเดียวกัน ซึ่งทั้งสองประเทศนั้นต่างอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่ที่ทับซ้อนกับจีน

“นั่นคือความกลัวที่ว่าจีนจะควบคุมทะเลจีนใต้ และจะกระทบต่อเสรีภาพในการเดินเรือ และเสรีภาพในการบิน” ชาร์ลส โฮเซ่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ กล่าว

ในวอชิงตัน จอห์น เคอร์บี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การลงจอดเครื่องบินของจีนเพิ่มความตึงเครียด และคุกคามความมั่นคงในระดับภูมิภาค

จอห์น แมคเคน ประธานคณะกรรมการกิจการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถึงความล่าช้าในการลาดตระเวนทางเรือในระยะรัศมี 12 ไมล์ทะเลจากเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้น

จีน สร้างรันเวย์บนเกาะเทียมมาเป็นเวลากว่า 1 ปี และการลงจอดเครื่องบินบนเกาะจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ

รันเวย์บนแนวปะการังเฟียรี่ครอส มีความยาว 3,000 เมตร และเป็นหนึ่งใน 3 รันเวย์ ที่จีนกำลังสร้างบนเกาะเทียมที่ถมขึ้นจากแนวปะการัง และเกาะปะการัง 7 แห่ง ในหมู่เกาะสแปรตลีย์

รันเวย์มีความยาวมากพอที่จะรองรับเครื่องบินขนส่ง และเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล รวมทั้งเครื่องบินรบที่ดีที่สุดของจีน ที่เปิดโอกาสให้จีนสามารถแสดงตัวได้ลึกเข้าไปในใจกลางน่านน้ำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เจ้าหน้าที่จีนได้เน้นย้ำว่า เกาะใหม่เหล่านี้จะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านพลเรือนเป็นส่วนใหญ่ เช่น กิจกรรมรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง และการวิจัยการประมง

หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวเมื่อสุดสัปดาห์ว่า เที่ยวบินทดสอบมีความตั้งใจที่จะตรวจสอบว่ารันเวย์ได้มาตรฐานการบินพลเรือนหรือไม่ และกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นภายในเขตอธิปไตยของจีน

เลสเซค บุซซินสกี้ จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการป้องกันของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า การลงจอดทางทหารบนเกาะเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเขตป้องกันภัยทางอากาศมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อจีนเสริมแสนยานุภาพทางอากาศของตัวเอง

“ขั้นตอนต่อไปที่จะเกิดขึ้นหลังจากพวกเขาทดสอบเที่ยวบินหลายครั้งคือ พวกเขาจะนำเครื่องบินรบ SU-27 และ SU-33 มาที่นี่ และประจำการเครื่องบินเหล่านั้นถาวร นั่นคือสิ่งที่พวกเขาน่าจะทำ” เลสเซค บุซซินสกี้ กล่าว

เอียน สตอเรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลจีนใต้จากสถาบัน ISEAS Yusof Ishak ในสิงคโปร์ ระบุว่า ความตึงเครียดจะเลวร้ายลงเมื่อจีนใช้สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ในการขยายอำนาจลึกเข้าไปในทะเลจีนใต้ แม้ว่าจีนไม่ได้ประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) อย่างเป็นทางการ แต่ปักกิ่งจำเป็นที่จะต้องปกป้องทางขึ้นลงของเครื่องบิน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่สร้างขึ้น

เฟียรี่ครอส ยังคาดว่าจะเป็นที่ตั้งของเรดาร์เตือนภัยล่วงหน้า และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารทางทหาร

“เมื่อสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้เริ่มดำเนินการ การเตือนของจีนต่อทั้งเครื่องบินทหาร และพลเรือนจะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประจำ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นตัวชี้นำถึงเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ ที่แม้จะไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ และคาดว่าความตึงเครียดจะเพิ่มสูงขึ้น” สตอเรย์ กล่าว

สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ประณามจีนในปลายปี 2556 เมื่อจีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเหนือทะเลจีนตะวันออกครอบคลุมหมู่เกาะพิพาทกับโตเกียว

หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวในวันจันทร์ (4) ว่า ยังไม่มีแผนสำหรับเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนใต้

“การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับการตัดสินต่อสถานการณ์ และความจำเป็นของเรา” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าว และว่า ปักกิ่งเคารพสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือ และการบินระหว่างประเทศของชาติต่างๆ

จีนอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ ที่มีมูลค่าการค้าจากการขนส่งทางเรือกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ต่างอ้างสิทธิทับซ้อนเหนือพื้นที่นี้เช่นกัน

แม้สหรัฐฯ จะไม่ได้อ้างสิทธิอธิปไตยในทะเลจีนใต้ แต่ได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อการรุกคืบของจีน และระบุว่า สหรัฐฯ จะปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือ.
กำลังโหลดความคิดเห็น