xs
xsm
sm
md
lg

ทีมวิจัย ม.ดังสหรัฐฯ ร้องสหประชาชาติสอบสวนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาในพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2556 โดยฮิวแมนไรท์วอช เผยให้เห็นชาวยะไข่ถืออาวุธเดินออกมาจากหมู่บ้านที่ถูกเพลิงเผาไหม้ขณะที่ทหารนายหนึ่งยืนดูเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ รายงานของทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐฯ ระบุว่ามีหลักฐานที่ชี้ว่าพม่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาและเรียกร้องให้สหประชาชาติสืบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว.--Agence France-Presse/Human Right Watch.</font></b>

รอยเตอร์ - รายงานของโรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยเยล ระบุพบว่า มีหลักฐานสำคัญที่พม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา และเรียกร้องให้คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของสหประชาชาติดึงความสนใจของผู้นำโลกไปที่การละเมิดในรัฐยะไข่

โรฮิงญา เป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมไร้รัฐที่อาศัยในอยู่ในสภาพเหมือนถูกแบ่งแยกในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ต้องเผชิญต่อการกดขี่ข่มเหง และความรุนแรงที่เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้ชาวโรฮิงญาไร้ที่อยู่กว่า 140,000 คน และอพยพออกจากประเทศทางเรืออีกเป็นจำนวนมาก

Fortify Rights องค์กรรณรงค์สิทธิมนุษยชนที่มุ่งเน้นชาวโรฮิงญา ระบุว่า มีชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประมาณ 1 ล้านคน และชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 160,000 คน ได้หลบหนีไปตั้งแต่ปี 2555

คลินิกกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอัลลาร์ด เค โลเวนสไตน์ ของมหาวิทยาลัยเยล ได้วิเคราะห์งานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดย Fortify Rights และ Al Jazeera เพื่อดูว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้เกิดขึ้นตามคำจำกัดความของอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ ปี 2491 หรือไม่

“เราคิดว่ามีหลักฐานที่จะสนับสนุนข้อสรุปว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้เกิดขึ้น” แคเธอรีน มันยาน หนึ่งใน 4 นักศึกษาที่ดำเนินการวิเคราะห์นาน 8 เดือน ภายใต้การดูแลของเจมส์ ซิลค์ ผู้อำนวยการคลินิกโลเวนสไตน์ และศาสตราจารย์ทางกฎหมาย

ทัสนิม โมตาลา หนึ่งในสมาชิกของทีมที่นำเสนอข้อค้นพบกับมันยาน ระบุว่า ทีมได้พิจารณาว่าขั้นตอนต่อไปจะให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกประชุมคณะกรรมการไต่สวนตรวจสอบการกระทำที่โหดร้ายในรัฐยะไข่

ทีมพบหลักฐานว่าการกระทำ 4 รูปแบบตามที่บัญญัติในอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 2491 ได้เกิดขึ้น

- การสังหารสมาชิกของกลุ่ม : ชาวโรฮิงญาถูกฆ่าโดยกองกำลังความปลอดภัย หรือโดยชาวยะไข่ท้องถิ่น ในขณะที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยยืนดูโดยไม่เข้าขัดขวาง

- การทำร้ายจิตใจหรือร่างกายอย่างสาหัสต่อสมาชิกของกลุ่ม : พวกเขาตกเป็นเป้าของการข่มขืน ทรมาน กักขัง และอาชญากรรมอื่นๆ

- สภาพเงื่อนไขที่ส่งผลให้กลุ่มถูกทำลาย : ชาวโรฮิงญาถูกจำกัดขอบเขตในค่าย และเมืองด้วยข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวและกีดกันอาหาร การดูแลทางการแพทย์ และความจำเป็นในชีวิตขั้นพื้นฐาน

- การป้องกันการกำเนิดภายในกลุ่ม : ข้อจำกัดของการแต่งงานและการกำเนิดถูกกำหนดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ที่บางครั้งอาจเรียกว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางชีวภาพ”

คลินิกกฎหมายระบุว่า กองทัพพม่า กองกำลังตำรวจ และหน่วยงานรักษาความปลอดภัยตามชายแดนของรัฐบาลพม่า ที่เรียกว่า Nasaka ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว เป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และยังเปิดเผยความเชื่อมโยงระหว่างผู้กระทำผิดและรัฐบาลกลาง

โมตาลา กล่าวว่า คณะกรรมการไต่สวนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติควรดำเนินการสืบสวนอย่างครอบคลุม และกว้างขวางต่อการกระทำโหดร้ายทางสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่

รัฐบาลพม่า ยังไม่แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ แต่ เย ตุ้ต รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารพม่ากล่าวต่อเว็บไซต์ข่าวท้องถิ่น Mizzima ว่า รัฐบาลปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างสิ้นเชิง

พม่าตอบกลับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปฏิบัติของรัฐบาลต่อชาวโรฮิงญาโดยระบุว่า เป็นกิจการภายใน

“คำแถลงที่ว่าเป็นเรื่องภายในนั้นเป็นคำกล่าวคลาสสิกของบรรดาผู้นำประเทศที่มีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ซึ่งมีหลักฐานอีกมากที่ประเทศเหล่านั้นได้แสดงถึงความไม่สนใจในสิทธิมนุษยชนของพลเมือง และบางครั้งก็ไม่สนใจว่าส่วนอื่นๆ ในโลกจะพูดว่าอย่างไร” ซิลค์ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น