xs
xsm
sm
md
lg

ดูการเมืองพม่าแล้วย้อนมองบ้านเรา…

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

การเมืองน้ำเน่าบ้านเรายังไม่ไปไหน เถียงกันเรื่องรูปแบบหน้าตารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แนวทางการเลือกตั้ง และกฎต่างๆ เพื่อไม่ให้หัวเชื้อการเมืองสามานย์ได้หวนคืนกลับ กว่าจะตกผลึกได้เรื่อง ก็ยังมีปัญหาว่าจะผ่านประชามติได้หรือไม่ เมื่อมีเงื่อนไข เรื่องเยอะจัด

รู้ทั้งรู้ว่าการร่างฯ ครั้งนี้ก็คงทำเพื่อไม่ให้ผ่านประชามติ แต่ต้องเดินหน้าต่อ เพราะเป็นพิธีกรรมประกอบการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งซื้อเสียงได้ง่ายแบบไทยๆ

หาบันไดไต่ขึ้นสวรรค์อาจหาได้ง่ายกว่าการหานักการเมืองรักชาติ มือสะอาด ที่นั่งรอเฝ้าคอยรัฐธรรมนูญใหม่ก็เพื่อหาลู่ทางว่าจะหลีกเร้นกฎเข้มเข้ากุมอำนาจรัฐได้อย่างไร แต่ละคนล้วนเป็นพวกหน้าด้านหลังลายโกหกพกลมตาไม่กะพริบ เป็นขี้ข้านายทาสทั้งนั้น

เพื่อนบ้านของเรา พม่า หรือเมียนมาร์ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งไปแล้วโดยไม่มีเหตุร้ายใดๆ ผลการนับคะแนนเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าคนพม่าไปใช้สิทธิมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นความหิวกระหายในการใช้สิทธิและตัดสินอนาคตเลือกผู้แทนของตัวเอง

ไม่มีข่าวซื้อสิทธิขายเสียง ขายจิตวิญญาณ ยอมให้อาชญากรการเมืองถือสิทธิเข้าไปปล้นบ้านเมืองโดยการซื้ออำนาจรัฐเหมือนบ้านเรา ชาวพม่าไม่พูดคำว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น” ไม่มีสื่อไทยและสื่อเทศรายงานว่ามีนักการเมืองใช้เงินทุ่มซื้อเสียงและคนพม่ายอม

ห่างเหินจากการเลือกตั้งมายาวนาน 25 ปี ครั้งนี้รัฐบาลทหารยอมให้ประชาชนใช้สิทธิเต็มที่ พร้อมประกาศว่าจะเคารพผลของการเลือกตั้ง ถ้าพรรคของอองซาน ซูจี ชนะจริง จะได้บริหารบ้านเมืองเต็มที่ และกองทัพพม่ายอมรับการนำของพลเรือนแท้จริงหรือไม่

อาจเป็นเพราะแรงบีบจากประชาคมโลกหรือรัฐบาลฝรั่งมังค่าหรือไม่ หรือเป็นเพราะผู้นำรัฐบาลทหารพม่าตระหนักว่าถึงเวลาที่ต้องยอมเปิดทางประชาธิปไตย ยังดีกว่าเกิดความไม่สงบในบ้านเมืองซ้ำซากเพราะเกิดจากการเรียกร้องหาการเมืองเลือกตั้ง

กระแสความนิยมของอองซาน ซูจีมาแรงจริงๆ ชาวพม่าแสดงท่าทีว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ยอมให้รัฐบาลทหารโกงเหมือนครั้งเลือกตั้งปี 2533 ดังนั้น จึงลงคะแนนเสียงให้เห็นชัยชนะอย่างชัดเจน ต้องทิ้งห่างคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น ปิดทางโกงหรือหักดิบเอาซึ่งหน้า

แม้แนวโน้มเห็นว่าเธอจะชนะ โอกาสที่อองซาน ซูจี ผู้นำหญิงวัย 70 ปี จะได้กุมอำนาจรัฐ เป็นผู้นำอย่างเป็นทางการยังเป็นไปไม่ได้ เธออาจอยู่ในสภาพ “เหนือผู้นำ” กลายเป็นแม่ย่านางทางการเมือง โดยผู้นำรัฐยอมให้เธอมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางประเทศ

แต่ทหารยังกุมอำนาจ 25 เปอร์เซ็นต์ในสภาสูงและสภาผู้แทน การจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้เสียงมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น คงเป็นการยากที่จะทำอะไรให้กองทัพพม่ายอมผ่อนปรน ยังเป็นกำลังสำคัญในการรักษาความมั่นคงไม่ให้รัฐแตกแยก

การไม่เคยบริหารบ้านเมืองมายาวนาน เพราะนาฬิกาตายกว่า 50 ปี ตั้งแต่ยุคนายพล เนวิน กุมอำนาจหลายสิบปี ฝ่ายค้านไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยผ่านการทดสอบความหิวโหยอำนาจประชาธิปไตย อาจนำไปสู่การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างแกนนำกลุ่ม

กลุ่มนายพลเต็งเส่ง ถ้าต้องพ่ายแพ้ยอมมอบอำนาจรัฐให้กลุ่มอองซาน ซูจี คงเฝ้ามองว่ารัฐบาลใหม่จะมีความสามัคคี มีน้ำยาในการบริหารบ้านเมืองได้หรือไม่ เพราะผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจนำไปสู่ข้อเรียกร้องต่างๆ โดยชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งกุมพื้นที่รอบนอก

รัฐพม่าไม่ต่างจากประเทศยูโกสลาเวียก่อนแตกแยกเป็นมากกว่า 6 ประเทศเมื่อระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายในยุโรปตะวันออก ต่อจากสหภาพโซเวียต เกิดสงครามกลางเมือง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โหดร้ายในระดับที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีขึ้นในภูมิภาคที่เจริญแล้ว

รัฐพม่ามีคะฉิ่น รัฐฉาน กะเหรี่ยง มอญ ว้า เป็นหลักนอกเหนือจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ก่อนการเลือกตั้งรัฐบาลนายพลเต็งเส่งพยายามตะล่อมให้กลุ่มเชื้อชาติต่างลงนามในสัญญาสันติภาพ หยุดการสู้รบเพื่ออิสรภาพ เพื่อการคงอยู่ร่วมกันแทนการแตกเป็นเสี่ยงๆ

ชาวพม่าอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม มีปัญหาสารพัดล้วนเกี่ยวโยงกับความมั่นคง การคงอยู่ร่วมกันของชนกลุ่มน้อย ซึ่งถ้ารวมตัวกันได้แล้วจะมีพลังน่าเกรงขามจนรัฐบาลกลางเอาไม่อยู่ ที่ผ่านมาความแตกแยกเป็นตัวช่วยได้ดี

ใครจะรู้ ถ้าพรรคของอองซาน ซูจี ได้เป็นใหญ่ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้อาจเรียกร้องขอประกาศตัวเป็นรัฐอิสระ นั่นจะทำให้ชนชาวพม่าเหลือพื้นที่ส่วนกลางไว้ ที่เหลือตกเป็นของกลุ่มอื่นๆ ถ้าการเรียกร้องขอเป็นรัฐอิสระ มีเสียงหนุนจากประเทศตะวันตกเป็นผลสำเร็จ

เราได้เห็นตัวอย่างในหลายประเทศ ผู้นำจากฝ่ายค้านยาวนานไม่ได้ลิ้มรสอำนาจ และต้องตามใจกับเสียงเรียกร้องกลุ่มผู้โหยหาสิทธิและเรื่องอื่นๆ ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตย อาจขาดความเด็ดขาด ประสบการณ์ และไม่สามารถคุมกองทัพได้แท้จริง

ถ้าเกิดปัญหาความมั่นคง มีความวุ่นวาย ไม่เป็นการยากที่กองทัพจะเข้ามารักษาความสงบและความมั่นคง และจะมีเหตุผลสนับสนุนจนอาจทำให้ชาวพม่าส่วนหนึ่งเข็ดขยาดกับความอ่อนแอของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเพราะลงทุนทำมาค้าขายยาก

นักธุรกิจ นักลงทุนต่างประเทศใส่ใจเรื่องความมั่นคงทางการเมือง ความต่อเนื่องของการกุมอำนาจรัฐ ไม่ชอบการรวมกลุ่มเรียกร้องต่างๆ ทำให้เกิดปัจจัยแปรผัน ความไม่แน่นอน ซึ่งรัฐพม่าหลังการเปลี่ยนผ่านอาจตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงลองผิดลองถูกยาวนาน

ต้องดูว่าการหิวโหยโอกาสของการเป็นประชาธิปไตยด้วยการกำหนดชะตากรรมบ้านเมืองด้วยตัวเองจะทำให้ชาวพม่ามีความเพียรพยายามประคองการเปลี่ยนแปลงให้เป็นความมั่นคงทำให้ระบอบประชาธิปไตยหยั่งรากลงลึก ถ้ากลุ่มทหารยอมรับผลเลือกตั้ง

ดูเขา ดูเรา หลายคนคงเศร้าใจ การเมืองน้ำเน่าแบบไทยๆ ไม่มีใครลอกเลียนได้!
กำลังโหลดความคิดเห็น